วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

งามเลิศในปฐพี โดย 'นรา'


ภาพนั้นในหน้าหนังสือหลายเล่ม คงเคยผ่านตาผมมาบ้างแล้วหลายวาระโอกาส แต่ผมไม่ได้ใส่ใจสังเกต และปล่อยปละละเลยข้ามไป

จนเมื่อรสนิยมขยับเคลื่อนเข้าหาการดูจิตรกรรมฝาผนัง ผมก็ได้เห็นภาพนี้อีกครั้ง จากหนังสือในห้องสมุด

บวกปนกับการมีโอกาสได้ผ่านตาภาพเรื่องเดียวกันในวัดหลายแห่ง เป็นการเทียบเคียง

ความรู้สึกล่าสุดเมื่อได้เห็นภาพนี้ในเวลาต่อ ๆ มา จึงค่อย ๆ ผิดแผกแตกต่างกว่าก่อน ๆ ทีละน้อย ค่อย ๆ เห็นว่า เปี่ยมเสน่ห์ สวยจับจิตจับใจ และมีแรงดึงดูดตราตรึงล้นเหลือ ทำให้ผมตระหนักว่า ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในตัว แทบว่าจะกลายเป็นการมองโลกด้วยสายตาคู่ใหม่

ติดซึ้งตรึงใจถึงขั้นเก็บนำไปฝันยามหลับ ผมฝันว่า ได้มีโอกาสเดินทางไปดูภาพนั้น-ภาพที่เป็นของจริง

ความปรารถนาจะดูภาพดังกล่าวให้เป็นที่แล้วใจ ก่อตัวหนาแน่นขึ้นตามลำดับ จนผมเริ่มกระวนกระวายไม่สงบ

เช้าวันหนึ่ง แรงเร้าเรียกร้องของภาพนี้ก็ทวีขึ้นสู่ขีดสุด เกินกว่าจะทนนิ่งเพิกเฉยอีกต่อไป ผมตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่วัดชมภูเวก

วัดชมภูเวกอยู่ใกล้ ๆ สนามบินน้ำ เดิมทีด้านหน้าอุโบสถกับวิหารอยู่ติดคลองท่าทราย ซึ่งเป็นคลองใหญ่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันตื้นเขินกลายเป็นลำคูเล็ก ๆ

สันนิษฐานว่า วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2300 ครั้งนั้นชาวมอญถูกพม่ารุกราน ได้อพยพหลบหนีเข้ามายังแถบจังหวัดนนทบุรี บริเวณที่เป็นตัววัดในปัจจุบัน

จนถึงช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมา วัวควายได้เหยียบย่ำเนินดิน ทำให้เห็นเนินอิฐโผล่ขึ้นมา ท่านหัวหน้าชาวมอญผู้อพยพเชื่อว่า ฐานเนินอิฐแห่งนี้ คงจะต้องเคยเป็นซากโบราณสถานมาก่อน และถือว่าเป็นพื้นที่อันนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล จึงได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ทรงมอญ หรือที่เรียกกันว่าพระมุเตา ขึ้น ณ เนินแห่งนี้ (ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 มีพระสงฆ์จากมอญเดินทางมาบูรณะ เพิ่มความสูงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และทำมงกุฏสวมที่ยอดพระมุเตา พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นที่มุมฐานทั้ง 4 ทิศ) รวมทั้งใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเมืองมอญ เพื่อให้เป็นสถานที่สักการะบูชา และค่อย ๆ มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม จนกลายเป็นวัดชื่อ ‘ชมภูวิเวก’ มีความหมายว่า ขอสรรเสริญบริเวณที่เป็นเนินสูง และมีความสงบวิเวก

ภายหลังคำเรียกชื่อวัดจึงค่อย ๆ กร่อนหายกลายเป็น ‘ชมภูเวก’ แต่บรรยากาศอันเงียบสงบและวิเวก ก็ยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

คำแปลชื่อวัดนั้นตรงตามตัวอักษร ‘ชม’ ก็คือ ชื่นชมสรรเสริญ ‘ภู’ นั้นเป็นภูเดียวกับภูเขาหรือเนินที่สูง ‘เวก’ รวบรัดมาจากสงบวิเวก

โบสถ์เก่าวัดชมภูเวกซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น ตำราหลายแห่งระบุว่า เป็นโบสถ์แบบมหาอุด คือมีประตูทางเข้าแค่เพียงหนึ่งเดียว ด้านหลังเป็นผนังทึบตัน

อันนี้ค่อนข้างต่างจากที่ผมเคยรู้มา (จากข้อมูลคนละแหล่ง) ว่า โบสถ์มหาอุด มีประตูทางเข้าด้านเดียว (จะกี่บานก็ได้) ส่วนผนังด้านข้างทึบตันไม่มีหน้าต่าง และด้านหลังทึบตันไม่มีประตู

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลบอกว่าเป็นมหาอุด ผมก็เชื่อตามประสาคนว่าง่ายนะครับ

ผนังแบบมหาอุด (ซึ่งเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตามวัดวาอารามที่หาดูได้ยาก) ถือและเชื่อกันว่า เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง แล้วจะมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง

นอกจากลักษณะแบบมหาอุดแล้ว โบสถ์วัดชมภูเวก ยังมีความโดดเด่นอีกประการ เป็นรูปทรงที่เรียกกันว่า แบบวิลันดา (คือรับอิทธิพลจากฮอลแลนด์) คือ ตัวอาคารจะไม่ตรงตั้งฉากกับพื้นดินเสียทีเดียว แต่จะเอียงสอบเข้าหากันเล็กน้อย

ที่น่าสนใจและควรแวะไปดูชมอย่างยิ่งอีกประการก็คือ บริเวณหน้าบัน ซึ่งประดับด้วยเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ เป็นลวดลายซึ่งรับอิทธิพลแบบศิลปะโรโคโคของยุโรป มาปรับประยุกต์เป็นลายไทย

จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก จัดอยู่ในสกุลช่างนนทบุรี ซึ่งโดดเด่นเคียงคู่กับภาพเขียนที่วัดปราสาทและวัดโพธิ์บางโอ

เรื่องสกุลช่างนนทบุรีนี้ ยังเกินปัญญาและความเข้าใจของผม ในการแยกแยะหาจุดเด่นลักษณะร่วมหรือเอกลักษณ์เฉพาะในทางศิลปะ ส่วนหนึ่งเพราะตัวอย่างเหลือให้เปรียบเทียบค่อนข้างน้อย และเท่าที่มีอยู่ก็ต่างลีลาต่างแบบแผนกันเยอะพอสมควร

ผมเดาเล่น ๆ ว่า การนับเป็นสกุลช่างเดียวกัน อาจพิจารณาจากถิ่นทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ถัดมาคือ ยุคสมัยระยะเวลาที่วาดน่าจะใกล้เคียงไม่ห่างกันมากนัก (ทว่าอายุแท้จริงของภาพจิตรกรรมแต่ละแห่งก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด) ประการสุดท้าย (ซึ่งผมเดาเอาเอง) คือ อาจวาดโดยครูช่างซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นละแวกนั้น ไม่ใช่ฝีมือช่างหลวงดังเช่นวัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ

โดยรวมแล้ว จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก ประเมินและมองผ่านสายตายังไม่แตกฉานรู้จริงอย่างผม มีเกณฑ์ความงามอยู่ในระดับดี อาจจะไม่สวยประณีตวิจิตรพิสดารเทียบเท่ากับฝีมือช่างหลวง แต่เทียบกับภาพเขียนฝีมือครูช่างท้องถิ่นพื้นบ้านด้วยกันแล้ว ถือว่าเป็นอีกแห่งที่โดดเด่นอยู่ในลำดับต้น ๆ

แต่มีภาพหนึ่งที่พิเศษล้ำลอยออกมา คือ ภาพแม่พระธรณี ซึ่งได้รับการยกย่องและลงความเห็นพ้องกันหลายปากหลายความคิดว่า เป็นแม่พระธรณีที่สวยสุดในประเทศไทย บางความเห็นถึงกับกล่าวครอบคลุมไปถึงขั้นชื่นชมว่า สวยที่สุดในโลก

ครูบาอาจารย์หลายท่าน นิยมกล่าวถึงแม่พระธรณีว่า ‘นางธรณี’ ซึ่งน่าจะเป็นคำเรียกขานที่ถูกต้องกว่า

อธิบายง่าย ๆ คือ ‘แม่พระธรณี’ ไม่ใช่เจ้า ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่สัตว์ ปราศจากสถานะแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า ท่านทำหน้าที่รักษาแผ่นดิน และเป็นเสมือนประจักษ์พยาน เวลามีผู้ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล น้ำที่เทลงบนดิน ก็จะซึมเข้าไปอยู่ในมวยผมของท่าน

พูดง่าย ๆ ว่า แม่พระธรณีเปรียบเสมือนธนาคารแห่งการทำบุญกุศล

ในวรรณคดีต่าง ๆ เมื่อกล่าวถึงแม่พระธรณี ไม่ว่าจะเป็นงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ล้วนมิได้ใช้ราชาศัพท์ และเรียกขานแต่เพียงว่า ‘นางธรณี’ เหมือนสามัญชน

กระทั่งเพลงไทยเดิมที่เราท่านคุ้นชื่ออย่าง ‘ธรณีกันแสง’ (ที่ถูกจะต้องสะกดอย่างนี้นะครับ เพราะ ‘กันแสง’ แปลว่าผ้าเช็ดหน้า ต่อมาจึงแผลงความหมายกลายเป็น ‘ร้องไห้’ ส่วน ‘กรรแสง’ นั้นไม่มีความหมาย) เดิมก็มีชื่อเพียงว่า ‘ธรณีร้องไห้’ แล้วจึงค่อยคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนมาเป็น ‘ธรณีกันแสง’ ในภายหลัง

เหตุผลสนับสนุนอีกอย่างคือ ประโยคคุ้นหูที่ว่า ‘แม่พระธรณีบีบมวยผม’ ซึ่งก็ไม่ใช้ราชาศัพท์เหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมนิยมเรียกว่า ‘แม่พระธรณี’ มากกว่า ‘นางธรณี’ ซึ่งฟังดูห้วน ๆ และดูจะเป็นการลดเกียรติของท่านมากไปหน่อย

ผมจึงใช้ ‘แม่พระธรณี’ ตามความคุ้นเคยและสะดวกใจของผมเอง ขณะเดียวกันก็จะเขียนถึงท่านโดยไม่ใช้ราชาศัพท์ ด้วยความเชื่อตามผู้หลักผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนบอกมา

ส่วนใหญ่ภาพ ‘แม่พระธรณี’ มักปรากฎอยู่ในพุทธประวัติตอน ‘มารผจญ’ ตรงกันหมด

เรื่องมารผจญเป็น ‘ท่าบังคับ’ อยู่เคียงคู่กับจิตรกรรมฝาผนังของไทย ผมได้เคยกล่าวอ้างพาดพิงไปบ้างแล้ว และคงจะมีโอกาสได้เขียนถึงอย่างถี่ถ้วนอีกหลายครั้งในอนาคตและเคี้ยวและโค้งอ้อมโลกภายภาคหน้า

ภาพมารผจญส่วนใหญ่ ออกไปทางดุดันน่ากลัว มีลีลาโลดโผนโจนทะยาน องค์ประกอบภาพเนืองแน่นวุ่นวายโกลาหล เพราะเล่าถึงเหตุการณ์ที่กองทัพมารรวมพลกันเพื่อมุ่งทำร้ายขัดขวาง มิให้พระพุทธเจ้าครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ประสบความสำเร็จในการตรัสรู้

พร้อม ๆ กันนั้น ก็เล่าถึงแม่พระธรณีปรากฎตัวขึ้นสู่ผิวพื้นดิน เพื่อบีบมวยผม จนจำนวนน้ำที่พระพุทธเจ้าหลั่งลงดินในการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ หลายชาติภพ (และสะสมไว้ในมวยผมของแม่พระธรณี)กลายเป็นคลื่นยักษ์โถมท่วมเข้าใส่ จนทัพมารแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงไม่เป็นขบวน

ภาพมารผจญที่วาดไว้ตามวัดต่าง ๆ จึงสวยแบบดุ ๆ น่าสะพรึงกลัว ใกล้เคียงหนังแอ็คชันปนสยองขวัญ

ทว่าภาพมารผจญที่วัดชมภูเวก กลับให้ความรู้สึกแตกต่างจากขนบดังกล่าวอยู่เยอะทีเดียว

กล่าวคือ ไม่สู้จะดุร้ายน่ากลัวนัก จุดเด่นของภาพก็ผิดแผกจากมารผจญส่วนใหญ่ที่พบเห็นกัน

ปกติแล้วบริเวณที่ถือกันว่าเป็นไฮไลท์ไคลแม็กซ์หรือลูกชิ้นในภาพมารผจญ ก็คือ จินตนาการอันหวือหวาของครูช่าง ที่จะเขียนภาพมวลหมู่กองทัพมารให้พิสดารพันลึกสุดจะพรรณนา ทว่าจุดเด่นสุดของภาพมารผจญที่วัดชมภูเวก กลับอยู่ตรงภาพแม่พระธรณี

เรื่องนี้มีเบื้องหลังความอร่อยอยู่สองสาเหตุนะครับ

ประการแรกก็คือ โบสถ์วัดชมภูเวกนั้น มีขนาดพื้นที่เล็กมาก ราว ๆ 12.80x5.35 เมตร มิหนำซ้ำตอนบนยังมีเพดานไม้ ลักษณะโดยรวมจึงค่อนข้างต่ำ

ครูช่างที่วาดภาพนี้ (ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านสันนิษฐานกันว่า น่าจะเขียนขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย) เลือกที่จะวาดตัวยักษ์และไพร่พลมาร ด้วยขนาดใหญ่ตามปกติเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ

เหตุที่ต้องวาดตัวใหญ่ ๆ ก็เพราะ ตำแหน่งปกติที่นิยมเขียนภาพมารผจญ คือบริเวณตอนบนเหนือประตูทางเข้าโบสถ์ ไปจนจรดเพดาน อยู่สูงและไกล จำเป็นต้องขยายขนาดเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นได้เด่นชัด

ผลก็คือ ด้วยเนื้อที่อันจำกัด กองทัพมารในโบสถ์วัดชมภูเวก จึงออกจะว่างโล่งโหรงเหรง มีเพียงฝั่งละ ประมาณสิบกว่าตัวเท่านั้น ขณะที่มารผจญส่วนใหญ่หรือบางที่บางแห่ง อาจวาดตัวละครแออัดคับคั่งราว ๆ ร้อยตัว

แม้ว่าจะไม่ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่โกลาหลอลหม่าน และขาดคุณสมบัติ ‘อลังการงานสร้าง’ ทว่าภาพมารผจญวัดชมภูเวกนั้น ฝีมือเขียนหน้ายักษ์และตัวละครต่าง ๆ อยู่ในขั้นสวยมาก โดยเฉพาะฝั่งที่วาดน้ำท่วม ครูช่างท่านเขียนรูปปลาและสารพัดสัตว์ในจินตนาการ โผล่ขึ้นมาเหนือคลื่นน้ำได้น่าเกรงขามอย่างยิ่ง

ความจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้เชื่อกันต่อไปอีกว่า เป็นเหตุให้ภาพแม่พระธรณี ต้องเขียนในท่านั่งชันเข่าบีบมวยผมแทนท่ายืน

เท็จจริงอย่างไรผมไม่ยืนยัน เท่าที่เคยผ่านตา ผมพบภาพแม่พระธรณีในฉากมารผจญ ทั้งท่านั่งและท่ายืนในอัตราส่วนค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยท่ายืนอาจมีจำนวนเหลื่อมมากกว่านิด ๆ

เหตุผลต่อมาที่ทำให้ภาพแม่พระธรณีของวัดชมภูเวก กลายเป็นจุดเด่นสุดแทนบริเวณอื่น ๆ จนผิดจากขนบส่วนใหญ่ เป็นเพราะว่า เคยมีการวาดซ่อมในสมัยรัตนโกสินทร์ (เชื่อกันว่า น่าจะราว ๆ สมัยรัชกาลที่ 3)

จิตรกรรมฝาผนังของไทย หายากมากนะครับ ที่จะวาดในยุคไหน แล้วเหลือตกทอดถึงปัจจุบันเป็นฝีมือของยุคนั้นล้วน ๆ โดยมากมักจะชำรุดเสียหาย จนต้องเขียนซ่อมขึ้นใหม่ ฝีมือจึงปนกันหลายสกุลช่าง

บางที่บางแห่งหากเสียหายมาก อาจต้อง Restart วาดทับใหม่หมด จนกระทั่งไม่เห็นเค้าในภาพดั้งเดิมเลย

ภาพเขียนในโบสถ์วัดชมภูเวก คงจะกระเทาะหลุดร่อนทรุดโทรมเพียงแค่บางส่วน และเขียนต่อเติมเฉพาะบริเวณที่ขาดหาย ผลที่ปรากฎจึงสะท้อนให้เห็นทั้งลีลาแบบอยุธยาตอนปลายผสมกับศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

ผู้เชี่ยวชาญเขาพิจารณาความแตกต่างนี้ จากลักษณะของลายเส้นง่าย ๆ และการใช้สีในโทนสว่าง ซึ่งยังเป็นสไตล์แบบอยุธยาอยู่นะครับ

ร่องรอยของการวาดซ่อมใหม่ มีวิธีสังเกตอยู่เหมือนกัน คือ สีพื้นจะค่อนข้างมืดทึบ นิยมการปิดทอง รวมทั้งเส้นและลวดลายที่วาดอย่างประณีตพิถีพิถัน ตามสไตล์สมัยรัตนโกสินทร์ ต่างจากสมัยอยุธยาที่วาดด้วยลีลาเชื่อมั่นฉับไว

เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนเขียนด้วยลายมือบรรจงกับลายมือหวัด ซึ่งสวยกันไปคนละอย่าง แบบหนึ่งนั้นสวยวิจิตร ขณะที่อีกแบบสะท้อนถึงความเฉียบขาดเชื่อมั่นและได้ความสด

ลักษณะผสมผสานระหว่างสองสกุลช่าง มีปรากฎให้เห็นในภาพวาดทั่วทั้งโบสถ์เลยนะครับ

ภาพมารผจญวัดชมภูเวก ส่วนที่ยังคงเค้าเดิมเอาไว้ คือ ภาพพระพุทธเจ้าตอนบนสุด และบรรดากองทัพมาร ส่วนบริเวณที่ต่อเติมซ่อมแซมขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณพุ่มไม้ และลูกคลื่น

พุ่มไม้นั้นเขียนด้วยวิธีใช้เปลือกไม้แทนพู่กัน กระทุ้งเป็นพุ่ม อันเป็นแบบอย่างที่เริ่มมีปรากฏให้เห็นในสมัยรัตนโกสินทร์ แทนลักษณะการเขียนตัดเส้นทีละใบแบบของเก่า

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ หรือกล่าวให้ชัดคือ

ภาพที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเยอะเลยนะครับ ที่ครูช่างได้วาดพุ่มไม้ ด้วยการตัดเส้นทีละใบอย่างละเอียดประณีต และใช้เปลือกไม้กระทุ้งเป็นพุ่มให้เหมือนรอยฝีแปรงฉับไว ปนรวมสองเทคนิคกรรมวิธีอยู่ในภาพเดียวกัน

ส่วนภาพคลื่นในจิตรกรรมไทย หากเป็นสมัยอยุธยา นิยมเขียนด้วยการตัดเส้นโค้งซ้อนกันหลายชั้น เป็นคลื่นแบบลวดลายประดิษฐ์ ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนมานิยมวาดให้สมจริง เห็นน้ำเป็นน้ำ

คลื่นในโบสถ์วัดชมภูเวก เห็นร่องรอยเดิมว่าวาดเป็นคลื่นประดิษฐ์นะครับ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นการวาดเติมในทางสมจริงอยู่ด้วยเหมือนกัน

อันนี้ก็สามารถเป็นไปได้อีกว่า ในภาพเดียวกันอาจวาดทั้งประดิษฐ์และคลื่นแบบสมจริงปนกัน

ดังนั้นการพิจารณาจากลีลาวาดพุ่มไม้หรือคลื่น ยังต้องมีเงื่อนไขปัจจัยอื่นมาดูประกอบ ส่วนที่ช่วยให้แยกแยะความต่างระหว่าง ศิลปะแบบอยุธยาและรัตนโกสินทร์ได้เด่นชัดขึ้นก็คือ การใช้สี

ภาพเขียนสมัยอยุธยาใช้สีค่อนข้างจำกัด ประมาณ 4-5 สี คือ แดง ขาว เหลืองอ่อน ดำ แล้วพลิกแพลงยักเยื้องผสมสีเท่าที่มีอยู่ลวงตาให้เกิดความหลากหลาย

ขณะที่ภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มมีการใช้สีอย่างแพรวพราว เน้นการปิดทองแวววาว และระบายพื้นฉากหลังมืดทึบ

นั้นสืบเนื่องมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ อย่างแรกคือ โดยวันเวลาเคลื่อนผ่าน เริ่มมีการนำเข้าสีจากจีน

ถัดมาคือ ลักษณะและขนาดของโบสถ์

โบสถ์สมัยอยุธยา (อาศัยตัวอย่างจากโบสถ์วัดใหญ่สุวรรณาราม และวัดเกาะแก้วสุทธาราม ที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งสอบทานมีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา) ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง

การเขียนภาพจึงต้องคำนึงถึงเรื่องแสงเงาอันจำกัด และบริเวณโบสถ์ค่อนข้างมืดครึ้ม การระบายสีพื้นจึงเน้นสีโปร่งเบาสว่างไสว เพื่อความเหมาะพอดีกับสายตาของผู้ชม

โบสถ์สมัยรัตนโกสินทร์ มีขนาดใหญ่โตขึ้น และนิยมทำช่องหน้าต่าง แหล่งแสงส่องกระทบจากภายนอกสู่ภายในโบสถ์สว่างขึ้น การระบายสีพื้นโปร่งเบาแบบสมัยอยุธยา อาจส่งผลให้ภาพจืดซีดขาวโพลนจนเกินควร ครูช่างจึงหันมานิยมการระบายสีพื้นมืดทึบ

ครั้นสีพื้นค่อนข้างไปทางหนักเข้ม ภาพตัวละครอาจจมไปกับฉากหลัง จึงแก้ปัญหากันอีกชั้น ด้วยกรรมวิธีปิดทอง เพื่อให้ภาพบุคคลลอยเด่นเห็นชัดไม่ถูกกลืนหาย

นี้เป็นหลักกว้าง ๆ ในการพิจารณาแยกแยะความแตกต่างด้านยุคสมัยของจิตรกรรมฝาผนัง ระดับลึกซึ้งมากกว่านั้น อาจต้องพิจารณาถึงลายเส้นพู่กัน ลักษณะของลวดลายประดิษฐ์ และการกำหนดแบบแผนว่าผนังใดควรจะวาดเรื่องราวหัวข้อใด

อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก บริเวณที่วาดขึ้นใหม่แบบปราศจากข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น คือ ภาพแม่พระธรณี

สังเกตได้ง่าย ๆ คือ ภาพนี้วาดแบบคัดลายมือตัวบรรจง เนี้ยบเฉียบประณีตไปหมดทุกส่วน

พูดอีกแบบคือ เห็นชัดแจ๋วเลยว่า เป็นคนละฝีมือ คนละสำนัก คนละกระบวนท่า ต่างจากบริเวณอื่น ๆ ในภาพมารผจญผนังเดียวกัน ทั้งผิดจากภาพเดิมสมัยอยุธยา และมีลายเซ็นเฉพาะตัวไม่เหมือนภาพอื่น ๆ ที่วาดซ่อมในคราวเดียวกัน

ที่น่าทึ่งคือ ครูช่างนิรนามผู้วาดภาพนี้ ฝีมือยอดเยี่ยมแหวกแนวจากท่านอื่น ๆ ที่ทำการวาดซ่อมแซมในตัวโบสถ์ทั้งหมด และเหนือชั้นมากตรงที่ ท่านวาดด้วยลีลาแบบฉบับของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความกลมกลืน ไม่ ‘โดด’ และหลุดแปลกแยกจากส่วนอื่น ๆ ที่เป็นของเดิม

สวยตั้งแต่กรอบรูปซุ้มโค้งปลายแหลม รวมทั้งการลดความแข็งกระด้าง ด้วยการวาดโขดหินยื่นล้ำเข้ามาตรงด้านล่าง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างที่ผมไม่เคยเห็นในรูปแม่พระธรณีที่ไหนเลย

ถัดมาคือ การคุมโทนสีดินแดงของฉากหลังให้เข้ากับเส้นสายของตัวภาพแม่พระธรณี และลวดลายในกรอบทั้งหมดอย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นเอกภาพ

ที่โดดเด่นสุดก็คือ ใบหน้าอันสวยประณีต สัดส่วนเรือนร่างของแม่พระธรณีที่งามมาก รวมทั้งความอ่อนช้อยไหวพลิ้วของเส้นสายต่าง ๆ ซึ่งรับส่งต่อเนื่องกันไปหมด จนเกิดลีลาลวงตาเป็นภาพเคลื่อนไหว

จุดหนึ่งซึ่งใครต่อใครยกย่องว่า งามไม่มีแห่งใดเทียม ได้แก่ บริเวณแขนขวาที่ทอดเหยียดจับมวยผม รวมทั้งปลายนิ้วมือทั้งห้า

ว่าตามหลักกายวิภาคแล้ว นี่เป็นการวาดที่ผิดสัดส่วนไม่สมจริงอย่างรุนแรง แต่จิตรกรรมไทยก็ไม่ได้ชี้วัดตัดสินกันตรงนี้ และถือเอาความงามในเชิงอุดมคติ ด้วยท่วงท่าแบบนาฎลักษณ์เป็นเกณฑ์มากกว่า

ในแง่นี้ พูดได้เต็มปากนะครับว่า ภาพแม่พระธรณีที่วัดชมภูเวก บรรลุถึงขีดขั้นความงามสูงสุด เข้าขั้นน่าอัศจรรย์

ไม่ใช่ความอัศจรรย์ในเชิงของฝีมือเพียงอย่างเดียวหรอกนะครับ แต่ยังอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ในการประดิษฐ์คิดค้นให้ได้ท่วงท่าสวยงามลงตัวดังเช่นที่เห็น

ใช้สำนวนร่วมสมัยก็ต้องรำพึงรำพันว่า “คิดได้ยังไง?”

ภาพแม่พระธรณีวัดชมภูเวก ไม่ใช่แห่งแรกที่วาดในท่วงทีลีลานี้ แต่เป็นการสืบทอดจากแบบแผนโบราณ และพัฒนาจนกระทั่งสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ

กระทั่งงานยุคหลังต่อมาอีกหลายภาพหลายแห่ง ก็ต้องยึดถือภาพนี้เป็น ‘ภาพครู’ และยังไม่มีภาพไหนวาดออกมาได้งามเทียบเท่า

แม่พระธรณีวัดชมภูเวก มีขนาดไม่ใหญ่นัก ประมาณคร่าว ๆ แล้ว น่าจะมีด้านยาวส่วนสูงไม่เกินห้าสิบเซนติเมตร สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ค่อนข้างเล็กของตัวโบสถ์

นั้นกลายเป็นข้อดี เพราะผู้ชมไม่ต้องแหงนเงยมากนัก รวมทั้งมีระยะห่างกำลังเหมาะ ใกล้พอที่จะสังเกตดูรายละเอียดและชื่นชมความงามได้ถนัดด้วยตาเปล่า (หลายที่หลายแห่ง ภาพเดียวกันนี้ ผมต้องใช้กล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์ช่วย)

ผมมาซึ้งในรสพระธรรม ถึงความพิเศษพิสดารของภาพนี้เพิ่มขึ้น เมื่อพยายามจะวาดลอกเลียนแบบ ผลปรากฏว่าล้มเหลวเละเทะ เนื่องจากยากสุด ๆ

ความยากอยู่ที่ว่า เส้นสายเขียนขึ้นอย่างบางเฉียบ มือและสายตาต้องแม่นยำมาก แค่เลียนแบบวาดเส้นใดเส้นหนึ่งให้โค้งหวานราบรื่น ไม่สะดุดสะดุ้งกระตุก ได้ความคมกริบตรงตามต้นแบบ ก็นับว่ายากสาหัสแล้วนะครับ

แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทุกเส้นสายในภาพนี้ ตั้งแต่เส้นโครงร่างรอบนอก รวมไปถึงลายกระหนก ลายผ้าต่าง ๆ ทั้งหมดล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์รับส่งเชื่อมกันตลอด

พูดง่าย ๆ คือ วาดเส้นใดเส้นหนึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ภาพนี้ก็เสียทันที

โดยไม่ต้องถามกระจกวิเศษให้ยุ่งยากเสียเวลา ผมเชื่อสนิทใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นของจริง ว่านี่คือภาพแม่พระธรณีที่งามเลิศในปฐพี สมดังคำร่ำลือที่ได้สดับรับรู้มาทุกประการ

สำหรับคนบ้าดูจิตรกรรมฝาผนังอย่างผม นี่คืองานศิลปะฝีมือชั้นครูอันเลอเลิศ แบบที่พูดกันไม่เกินเลยความจริงว่า ในชีวิตควรจะต้องหาโอกาสแวะเยือนไปยลดูให้ได้สักครั้งเป็นอย่างน้อย

ไม่งั้น ‘นอนอายตาไม่หลับ’ นะครับ

1 ความคิดเห็น:

พัชร กล่าวว่า...

ไม่เขียนบันทึกหรือบทความแล้วรึค่ะ
อยากอ่านอีกจัง
ภาพวาดดูสวยนุ่มมากค่ะ