วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ความหลังของลูกหมู โดย "นรา"



แม้ว่า My Life as McDull จะเคยเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มที่ได้รับความนิยมสูงลิ่วในฮ่องกงช่วงทศวรรษ 1990 แต่ก็แทบจะไม่มีใครคาดหวังล่วงหน้าว่า "ฉบับหนังโรง" จะประสบความสำเร็จในระดับทัดเทียมกัน สาเหตุแรกสุดก็คือ งานประเภทการ์ตูนหรืออนิเมชั่น ได้ชื่อว่าเป็น 'ของแสลง' สำหรับวงการหนังฮ่องกง เท่าที่เคยมีการสร้างกันออกมา (ในจำนวนไม่มาก) ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยความล้มเหลว มีเพียง A Chinese Ghost Stosy (โปเยโปโลเยฉบับหนังการ์ตูน) ของฉีเคอะ แต่ก็ไม่แรงพอที่จะสร้างกระแสความคึกคักให้แก่งานทำนองนี้


ถัดมาก็คือ โดยตัวหนังเรื่อง My Life as McDull เองก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดสารพัดอย่าง เริ่มจากทุนสร้างอันน้อยนิด (หนังเรื่องนี้ใช้ทีมงานในการสร้างและวาดภาพทั้งหมดเพียงแค่ 12 คน ซ้ำร้ายส่วนใหญ่ยังเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำหนังการ์ตูนมาก่อนเลย) ใช้เทคนิคการวาด (และคอมพิวเตอร์กราฟิคง่ายๆ) จนผลรวมที่ออกมาแตกต่างตรงข้ามกับงานของวอลท์ ดิสนีย์หรือสตูดิโอ Ghibli (ของฮายาโอะ มิยาซากิ) ซึ่งเต็มไปด้วยความประณีตและ 'อลังการงานสร้าง' น่าตื่นตาตื่นใจ ชนิดเทียบเคียงกันไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง


ที่สำคัญคือ รายละเอียดหลายๆ อย่างใน My Life as McDull มี 'ความเป็นฮ่องกง' อยู่หนาแน่น ตั้งแต่รายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ การอ้างอิงถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง (มีการอ้างพาดพิงถึงคุณเฟย์ หว่อง “หวานใจ” ของผมด้วยเล็กน้อย) มุขตลกที่เป็นการเล่นคำทางภาษา และบทสนทนาที่เต็มไปด้วยศัพท์สแลงในภาษากวางตุ้ง จนผู้สันทัดกรณีบางคน เชื่อมั่นฟันธงว่า โอกาสที่งานชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศมีน้อยมาก


อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังออกฉายจริงๆ ในปี 2001 My Life as McDull ก็ประสบความสำเร็จงดงามเกินคาด ด้วยการทำรายได้ติดอันดับต้นๆ ในกลุ่มหนังทำเงิน ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น สามารถคว้ารางวัล FREPRESQI จากเทศกาลหนังนานาชาติที่ฮ่องกง รวมทั้งสร้างความประทับใจในหมู่ผู้ชมวงกว้าง (แน่นอนครับว่า ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ตกหลุมรักหนังเรื่องนี้เข้าให้อย่างแรง)


เนื้อเรื่องของ My Life as McDull ไม่มีเค้าโครงที่เด่นชัดให้จับต้องมากนัก ส่วนใหญ่จะบอกเล่าเหตุการณ์เป็นช่วง ๆ ผ่านตัวละครที่เป็นศูนย์กลางคือ เจ้าลูกหมูตัวเล็กๆ ชื่อ 'หมักเต๊า' (หรือ McDull ในภาษาอังกฤษ) ตั้งแต่เริ่มต้นถือกำเนิดและจบลงเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่


ความน่าสนใจอย่างแรกก็คือ การที่หนังผูกเรื่องให้ตัวละครอย่างลูกหมูและสัตว์อื่นๆ เช่น นก วัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมปะปนเหมือนผู้คนปกติ พร้อมกันนั้นอารมณ์บรรยากาศโดยรวมของหนังก็ยังเน้นไปที่ความสมจริง และตอกย้ำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ผ่านรายละเอียดในส่วนของแบ็คกราวนด์ฉากหลัง ซึ่งเต็มไปด้วยภาพตึกสูงแออัดทรุดโทรม ขยะสกปรก สีสันทึบทึมหม่นมัว ขัดแย้งกับสีสันสดใสอ่อนหวานของตัวการ์ตูน


ความแตกต่างขัดแย้งระหว่างตัวการ์ตูนกับฉากหลัง ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญทางด้านเนื้อหาสาระของหนังเรื่องนี้เลยทีเดียว กล่าวคือ ในเรื่องเล่าเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับลูกหมู 'หมักเต๊า' ตั้งแต่ช่วงที่แม่ของเขาตั้งท้องและภาวนาขอให้ลูกเกิดมาเป็นเด็กฉลาด หน้าตาดี มีความสามารถ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ ความเป็นจริงในชีวิตของ 'หมูน้อย' โดยสิ้นเชิง) ชีวิตในโรงเรียน การรบเร้าให้แม่พาไปเที่ยวมัลดีฟส์ (ปลอม) ซึ่งกลายเป็นวันที่น่าจดจำมากสุดในชีวิตวัยเด็ก ความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาวินด์เซิร์ฟที่ประสบความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก แต่แล้วเอาเข้าจริงกลับได้ฝึกแย่งชิงซาลาเปาในเทศกาลที่โดนยกเลิกไปนาน ความใฝ่ฝันอยากลิ้มรสชิมไก่งวงในวันคริสต์มาส แต่เมื่อมีโอกาสได้กิน มันกลับกลายเป็นฝันร้ายทุลักทุเลฯลฯ

ทั้งหมดนี้นำเสนอด้วยแง่มุมรื่นรมย์ น่ารัก และขบขัน แต่ขณะเดียวกันก็เจือไว้ด้วยอารณ์เศร้าหม่นสะเทือนใจชนิดบาดลึกอยู่ตลอดเวลา (โดยเฉพาะช่วงที่แม่พา 'หมักเต๊า' ไปเที่ยวสวนสนุกชื่อ The Peak และหลอกว่าเป็นมัลดีฟส์ ถือเป็นหนึ่งในฉากน่ารักระคนเจ็บเศร้าร้าวลึกที่จับใจเหลือเกิน)


พูดง่ายๆ ก็คือ หนังแสดงให้เห็นถึงโลกรอบ ๆ ข้างของ 'หมักเต๊า' ที่โหดร้าย แต่เจ้าหมูน้อย (ในวัยเด็ก) ก็มองทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับกลายเป็นสวยงาม (เช่น บทพูดที่เขาบอกกับผู้ชมตอนต้นเรื่องว่า ใครๆ อาจจะมองว่าโรงเรียนของผมโกโรโกโสเก่าโทรม แต่สำหรับผมแล้วที่นี่เป็นสรวงสวรรค์อันสวยงาม)
หมักเต๊านั้นเป็นตัวละครในแบบพวก loser หรือขี้แพ้ที่จะ “ขโมย” หัวใจของผู้ชมนะครับ นอกจากรูปร่างหน้าตาพุงป่องบ้องแบ๊วน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว มันยังเป็นลูกหมูหัวทึบจอมล้มเหลว (แม้กระทั่งในเรื่องง่าย ๆ อย่างการสั่งบะหมี่สักชาม) มองโลกด้วยความซื่อใสแบบเด็ก ๆ พอจะเข้าใจบางสิ่งอยู่บ้าง และมีสารพัดเรื่องราวที่ยากเกินกว่าลูกหมูตัวเล็ก ๆ อย่างมันจะสามารถทำความเข้าใจ

บุคลิกยืนพื้นเช่นนี้ สามารถนับเนื่องเป็นญาติสนิทกับเด็กชายชาลี บราวน์ในการ์ตูนพีนัทได้สบาย ๆ และทั้งคู่ก็เป็นตัวเอก “ติดดิน” ที่เหมือนเงาสะท้อนถึงบางแง่มุมของผู้ชม (ครับ มีตัวเราปรากฏอยู่ในความเป็นชาลี บราวน์และลูกหมู “หมักเต๊า”)

แง่มุมถัดมาของหนังก็คือ การพูดถึงความใฝ่ฝันซึ่งสรุปลงเอยด้วยความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตัวละครก็ยังคงมุ่งหน้าดำรงชีวิตต่อไป มุมมอง ทัศนะที่มีต่อโลกรอบตัวของ 'หมักเต๊า' ดูขานรับกับบรรยากาศความเป็นการ์ตูน ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้สวยหรูดูเลิศไปเสียทั้งหมด ตรงข้ามกลับเต็มไปด้วย 'เรื่องเลวร้าย' (ซึ่งขยายย้ำให้เห็นตลอดผ่านทางฉากหลัง)


การ์ตูนเรื่องนี้ใช้เทคนิควิธีการหลายๆ อย่างในแบบ 'ยำใหญ่' เช่น ช่วงที่ 'หมักเต๊า' เล่าถึงอาชีพการงานของแม่ ภาพที่ปรากฏใช้เทคนิคแบบเดียวกับวิดีโอเกม เห็นแม่ต่อสู้ฟาดฟันกับสัตว์ประหลาด บนท้องถนนและซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ แต่ในฉากจบที่เป็นบทสรุปของเรื่อง ภาพสุดท้ายของหนังถ่ายด้วยฟิล์ม 'หมักเต๊า' ในวัยหนุ่ม ไม่ใช่ลูกหมูที่เติบใหญ่ แต่กลายเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งยืนหันหลังอยู่ที่ชายหาด พร้อมทั้งบทสรุปที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตว่า วิธีการทำเป็ดย่างให้อร่อยก็คือ หาเป็ดมา จากนั้นก็ลงมือย่าง แต่เคล็ดสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องย่างให้ดี


ฉากจบของเรื่องบวกรวมกับรายละเอียดหลายเหตุการณ์ พอจะสรุปเชื่อมโยงได้ว่า สาระสำคัญของ My Life as McDull ก็คือ จุดจบของความไร้เดียงสาในวัยเยาว์ มีข้อสังเกตว่า เสียงบรรยายของ 'หมักเต๊า' ในหนัง มีทั้งเสียงที่เป็นผู้ใหญ่เล่าย้อนหลังรำลึกอดีต และเสียงความในใจของ 'หมูน้อย' ในวัยเด็ก ซึ่งแสดงความคิดอ่านต่อสิ่งต่างๆ อย่างซื่อใสไร้เดียงสา


ผมพอจะจำแนกได้ว่า เสียงเด็กบรรยายมักจะเรียกรอยยิ้มน่ารักน่าเอ็นดู ขณะที่เสียงผู้ใหญ่มักจะสรุปเหตุการณ์อย่างเฉียบคม จนทำให้ผู้ชมต้องอึ้งและซึมอย่างหนักหน่วงรุนแรง


โดยรูปร่างภายนอกของหนังเรื่อง My Life as McDull เหมือนการ์ตูนน่ารัก ๆ สำหรับเด็ก แต่เมื่อดูกันจริง ๆ ความลึกซึ้ง แง่มุมทางด้านเนื้อหาที่หม่นเศร้า สะท้อนถึงความเป็นไปต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิต (และทำให้ผู้ชมต้องเก็บนำกลับไปครุ่นคิดต่อ) ซึ่งเต็มไปด้วยความผิดหวังสูญเสียและสะเทือนอารมณ์ ฯ ทั้งหมดนี้ทำให้มันกลายเป็นการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า


ผมคิดว่าความยอดเยี่ยมสูงสุดของหนังอยู่ที่ว่า ตลอดทั้งเรื่องไม่มีเหตุการณ์หนักๆ แรงๆ ให้เห็นกันเลย ไม่มีตัวละครเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือประสบชะตากรรมน่าเศร้าสลด แต่เหตุการณ์เรียบๆ ธรรมดาสามัญอย่างเช่น เด็กป่วยไปหาหมอ การกินไก่งวง ความยากจนซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศตามที่ใฝ่ฝันปรารถนา ฯ แต่เมื่อมันบอกเล่าอย่างเรียบง่ายและเปี่ยมด้วยชั้นเชิง และเป็นสิ่งที่ผู้ชมอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ล้วนเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้กันมา มีความรู้สึกร่วมเป็นพวกพ้องเดียวกันกับตัวละครที่มีลักษณะของคนขี้แพ้อย่างเจ้าลูกหมูหมักเต๊า เรื่องเศร้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูผิวเผินธรรมดาสามัญเหลือเกิน จึงสามารถสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นในใจผู้ชมได้อย่างลึกซึ้งและหนักหน่วง


My Life as McDull เป็นหนังการ์ตูนที่มีความยาวเพียงแค่ประมาณ 70 นาที แต่ผมเชื่อว่าคงมีผู้ชมหลายท่านดูแล้ว อาจถึงขั้นต้อง 'จดจำ' ไปอีกนาน




(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประมาณปี 2544 แก้ไขขัดเกลาใหม่ในการเผยแพร่ที่นี่)

ไม่มีความคิดเห็น: