วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นิทานข้างผนัง (ตอนต้น):ภาพที่หายไป โดย "นรา"








ลุศักราช ๑๐๙๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๘ ปีเถาะ ปีที่สี่ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ณ วัดเกาะ ท่าราบ เมืองพริบพรี (เพชรบุรี) เหล่าครูช่างทั้งหลายผ่านการคร่ำเคร่งเขียนภาพผนัง ทิศเบื้องขวามือองค์พระประธาน มานานแรมปี จนกระทั่งแล้วเสร็จ

เหลืออีกสามด้านที่ยังมิได้วาด คือ ผนังสกัดด้านตรงข้าม ด้านหลัง และซ้ายมือขององค์พระประธาน
คล้ายกับว่า ช่างทั้งหลายจะคลายความอั้นใจที่สุมแน่นอยู่เต็มอก ด้วยต่างก็นึกสงสัยมิวายเสมอมาว่า เหตุอันใดเล่า พระครูสัง หัวหน้าครูช่าง จึงมีคำสั่งผิดประหลาด จัดแจงให้เขียนภาพยมกปาฏิหาริย์ แยกแบ่งเป็นสองห้อง ทั้งที่แต่เดิมพื้นผนังก็มีไม่เพียงพอ

ก็แล้วรูปเสด็จโปรดพุทธมารดากับรูปมหาปรินิพพานนั้นเล่า จักแก้ไขเช่นไร เขียนไว้ที่ไหน หรือปล่อยให้ขาดค้างไม่ครบถ้วน

มิใยที่เหล่าช่างจะซักไซร้ไล่ความ พระครูสัง ขรัวเฒ่าหัวหน้าครูช่าง ก็เก็บปากเก็บคำงำนิ่ง ไม่ยอมแย้มความแพร่งพรายให้ใครรู้ ว่าได้ซ่อนทีเด็ดทีขาดอันใดเอาไว้
มากสุดที่ท่านจะกล่าว ก็มีเพียง “เอาไว้ถึงเวลาแล้วก็จะได้เห็นกันเอง”

“ตราบใดที่ยังไม่ล่วงรู้ ข้าย่อมไม่มีวันแล้วใจ” ฉไกรช่างหนุ่ม โพล่งขึ้นเสมือนกล่าวความในใจแทนช่างทั้งปวง
“เอาเถอะ ที่ไม่รู้ก็จะได้รู้กันสักที ผนังแปก็เขียนกันสิ้นถ้วนแล้ว ดูทีรึว่า ด้านหุ้มกลองหน้าโบสถ์ที่ปล่อยว่างอยู่ ขรัวเฒ่าจะให้เขียนรูปอะไร”
“ก็คงไม่แคล้ว รูปมารประจญตามขนบ นั่นแหละ”
“ถ้าง่ายเยี่ยงนั้นก็ดีสิ เอ็งอย่าลืมว่า พระครูสังท่านคิดแผลงไม่เหมือนใคร”
“อ๋าย! จะเป็นอื่นได้ยังไง ถ้าไม่เขียนมารประจญแล้ว ก็นอกลู่ผิดครูเท่านั้นเอง”
“บ๊ะ ก็แล้วที่เอ็ง ข้าและหลวงพี่ทั้งหลาย เขียน ๆ กันมาตามคำสั่งพระครู ไม่ผ่าเหล่าผ่ากอหรอกเรอะ”
“ป่วยการจะเดาสุ่มเถียงกันเอง มิสู้ไปเล่าแจ้งเรียนให้พระคุณท่านทราบ จักได้สอบถามให้รู้ชัด”

ครูช่างทั้งหลายจึงยกขบวนกันไปเฝ้าท่านพระครูที่กุฏิ


“พระคุณท่านขอรับ บัดนี้ผนังทั้งเจ็ดห้องก็ได้เขียนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว” ครูช่างคนหนึ่งบอกเล่ารายงาน
“เออดี” ขรัวเฒ่าสดับแล้ว ก็เปรยยิ้ม ๆ ด้วยความพึงพอใจ
“เอ้อ...” ครูช่างคนเดิม มีท่าทีอึกอักและอึดอัด
“เอ้า มีอะไรก็ว่ามา”
“คะ..คือ...คือว่า...”
“บ๊ะ ก็ว่ามาสิ เอ้ออ้าบ้าใบ้อยู่หยั่งงี้ แล้วข้าจะรู้แจ้งในความได้ยังไง” ท่านพระครูแกล้งเอ็ดเบา ๆ ด้วยยังอารมณ์ดีอยู่
“หมดแล้วนะขอรับ หมดแล้ว” ครูช่าง
“อะไรหมดวะ?”
“ผนังนะสิขอรับ เขียนจนหมดเกลี้ยง ไม่มีห้องเหลือ แต่ยังเขียนไม่ครบ” ฉไกรช่างหนุ่ม โพล่งขึ้นด้วยใจคอมุทะลุตามเคย
“อือ ก็ดีแล้วนี่”
“พระคุณท่าน พวกข้าสงสัยว่า รูปเสด็จโปรดพุทธมารดา รูปมหาปรินิพพาน จะให้ทำยังไง”
“ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ผนังสกัดด้านหน้าโบสถ์ ข้าจะสำแดงเอง”


รุ่งเช้าถัดมา ช่างทั้งปวงก็ตรงมายังโบสถ์ เพื่อหวังจะยลพระครูสังสำแดงฝีมือเป็นขวัญตา หากแต่เมื่อลุถึงที่หมาย พลันพบว่า ประตูแง้มไว้พอให้ลมถ่ายเท แต่คล้องโซ่จากด้านใน มิให้ใครอื่นล่วงล้ำกล้ำกราย

พระครูสังปิดโบสถ์จุดเทียนเขียนรูปตามลำพัง ตั้งแต่เช้าจรดคร่ำ ไม่ยินยอมอนุญาตให้ผู้ใดล่วงผ่านเข้ามา แลฉันเพลแค่เพียงมื้อเดียว โดยมีเด็กวัดยกถาดสำรับวางไว้หน้าประตูโบสถ์

“ข้าเห็นแต่มือหลงพ่อ เอื้อมมาหยิบถาด แล้วก็ปิดประตู ท่านฉันเสร็จก็เปิดแง้ม ยื่นถาดวางไว้ที่เดิม” เด็กวัดเล่าความตามที่ตัวเห็น เมื่อถูกซักไซร้ไล่เลียงว่า รูปเขียนในโบสถ์มีเค้าลางเช่นไร

จนฝนเหือดฟ้า น้ำทรงทุ่งเดือน ๑๒ ล่วงพ้นเดือนอ้าย เดือนยี่ แล้วก็สิ้นหนาว เข้าสู่ฤดูแล้ง วันแล้ววันเล่า เหล่าสงฆ์และฆราวาส ทั่วทั้งท่าราบแลถิ่นย่านอื่นไกลใกล้เคียง ล้วนร่ำลือกันว่า พระครูสังขรัวเฒ่า ขังตนเองเขียนรูป ไม่ออกสมาคมกับผู้คน กระทั่งพระเณรในวัดก็มิอาจลงโบสถ์ทำวัตรเช้า-เย็น

ตราบดึกนั่นแล้ว พระครูสังจึงกลับสู่กุฏิเพื่อจำวัด ลงดาลลั่นกุญแจด้านนอกเอาไว้มิดชิด มิให้ใครแอบล่วงล้ำเข้าไปข้างในโบสถ์

ครูช่างทั้งหลาย ตลอดจนชาวบ้าน จึงได้แต่คะเนนึกตรึกตรองกันไปต่าง ๆ นานา บ้างใคร่รู้ว่า ขรัวเฒ่าจะเขียนรูปเสด็จกลับจากดาวดึงส์ รูปมหาปรินิพพานไว้ตรงไหน ด้วยคิดไม่ตกว่า รูปมารประจญตามขนบนั้น ดูยังไงก็ไม่เห็นทางที่จะแทรกลงไปได้

บ้างก็ใคร่อยากยลฝีมือของท่านครูว่าจะงามเพียงไร บ้างก็โจษจันกันว่า ท่านคงเขียนรูปศักดิ์สิทธิ์ บริกรรมคาถาอาคมไว้อักโข

กระนั้น พระครูสังก็ยังคงปิดโบสถ์เขียนรูปไม่สุงสิงกับผู้ใด นานวันเข้าก็กลายเป็นความเคยชิน ที่เคยแตกตื่นประหลาดใจ ก็ค่อย ๆ ปลงใจเห็นเป็นปกติ และค่อย ๆ เลือน ๆ กันไป


จะเว้นก็แต่ช่างทั้งเจ็ด ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ซึ่งยังพบปะชุมนุมกันอยู่เนือง ๆ ด้วยไม่อาจสลัดข้อสงสัยเกี่ยวกับท่านพระครูสัง จากแลกเปลี่ยนเนื้อความตามที่แต่ละคนนึกคะแน จากที่เถียงทะเลาะเบาะแว้ง ด้วยคิดไม่ลงรอยกัน จากที่เดาสุ่มกันไปต่าง ๆ นานา

นานวันเข้าทั้งเจ็ดก็หมดเรื่องพูด ได้แต่พากันมานั่งจับเจ่าเฝ้าคอย เลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่หน้าโบสถ์ ยามเมื่อแต่ละคนมีเวลาว่าง

สิ่งที่ว่างเปล่ากว่านั้นคือ ในใจของแต่ละคน ซึ่งเฝ้าคอยขรัวเฒ่าเขียนผนัง โดยไม่เห็นปลายทางวี่แววว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร...


“หลงพี่ หลงพี่ เป็นเรื่องแล้ว!!!” ไอ้แกละ เด็กวัด ระล่ำระลักหายใจหอบ ขณะมือก็เคาะประตูกุฏิเป็นระวิง
“อะไรของเอ็งว่ะ ไอ้แกละ เอ็ดตะโรลั่นไปหมด” หลวงพี่ป่านปราม พร้อม ๆ กับเยี่ยมหน้าโผล่พ้นบานประตู
“หลงตา... หลงตาสง...ที่อยู่ในโบสถ์ขอรับ... หลงพี่” เด็กวัดพูดพลางกระหืดกระหอบสะดุดติดขัด
“ขรัวพ่อท่านเป็นอะไร? บรรลัยแล้วสิ” หลวงพี่ป่านกล่าวแล้วก็จัดสบงจีวรทะมัดทะแมง เตรียมโผนลงจากกุฏิ
“ท่านไม่ได้เป็นอะไรหรอก หลงพี่ อย่าเพิ่งตกใจ” ไอ้แกละเริ่มพูดจาเป็นถ้อยเป็นคำ
“อุวะ แล้วทำไมเอ็งถึงรีบร้อนราวกับมีเรื่องคอขาดบาดตาย”หลวงพี่ตัดพ้อ
“ยิ่งกว่านั้นอีกหลงพี่ ท่านให้ข้ามาบอกทุกคนว่า อีกเจ็ดวันจะเขียนผนังเสร็จและเปิดโบสถ์ให้ญาติโยมได้ดู”
“เฮ้ย! จริงรึว่ะ” หลวงพี่ป่านอุทาน แล้วก็พรวดพราดลงจากกุฎิ ด้วยอารามรีบเร่งตื่นเต้นยิ่งกว่าเมื่อตอนที่ไอ้แกละตาลีตาเหลือกขึ้นมาบอกข่าวเสียอีก


นับจากวันที่พระครูสังปิดโบสถ์เขียนผนังเรื่อยมา ครูช่างหนุ่มชื่อแผ้ว เป็นผู้เดียวที่สงบปากสงบคำกว่าใครอื่น แม้ท่านพระครูและช่างอื่น ๆ ทั้งหก จะถกสนทนาทุ่มเทียงและสงสัยกันหนักหนาเพียงไร เจ้าหนุ่มก็ได้แต่ฟังด้วยท่าทีนิ่ง ๆ ไร้ปากไร้เสียง หากมีใครซักถาม ก็มักจะเออออขานรับสั้น ๆ ไปตามเรื่องตามราว ไม่สู้จะนิยมเถียงแย้งกับใคร

แต่คืนนี้มันกลับกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ พรุ่งนี้แล้วสินะที่จะสิ้นการรอคอย นึกขึ้นทีไรเจ้าแผ้วก็ใจเต้นแรง ทั้งที่สันดานเดิมมันเป็นคนนิ่งกุมสติได้ดี

เจ้าแผ้วพลิกตัวไปมา จนเมียที่นอนอยู่ข้าง ๆ รู้สึกตัวตื่น

“พี่แผ้ว นอนไม่หลับรึ? ” สาวเจ้าถามด้วยนึกฉงน
“ไม่มีอะไรหรอกจำเรียง ข้าคิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อย” แผ้วกระซิบตอบอ่อนโยน
“เรื่องรูปเขียนของพระครูสังใช่มั้ยพี่” เจ้าตอบราวกับนั่งอยู่ในใจชายหนุ่ม
“พรึ่งนี้ก็ได้เห็นแล้ว พี่กระวนกระวายไปก็ป่วยการ” จำเรียงปลอบ

แผ้วพยักหน้ารับ แล้วพยายามข่มตาให้หลับ ชายหนุ่มมิได้อยากรู้ว่าท่านพระครูจะเขียนรูปอะไร? แค่รู้สึกสังหรณ์ใจว่า รูปนี้จะเปลี่ยนชีวิต

อยากเอ่ยบอกกล่าวให้จำเรียงล่วงรู้ แต่ก็ตัดใจไม่พูด ด้วยเกรงเจ้าจะเสียขวัญ

เสียงพึมพำจ้อกแจ้กดังลั่นไปทั่วทั้งโบสถ์ เมื่อทุกคนได้เห็นรูปเขียนบนผนัง

บ้างแปลกใจที่เห็นว่า ไม่ใช่รูปมารประจญ เหมือนดังเช่นที่เป็นขนบยึดถือกันมา แต่กลับเขียนรูปไตรภูมิ อันควรจะอยู่ข้างหลังองค์พระประธาน

บ้างผิดหวังที่เห็นว่า รูปไตรภูมิฝีมือพระครูสัง ผิดประหลาดกว่าที่เคยเห็นกันจนเจนตา ตามสมุดข่อย

บ้างก็ชื่นชมที่เห็นว่า ขรัวเฒ่าซ่อนเรื่องเสด็จโปรดพุทธมารดาและกลับจากดาวดึงส์ เอาไว้ในภาพไตรภูมิ และซ่อนเรื่องมหาปรินิพพานไว้ในรูปเขียนตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ทางด้านซ้ายตอนบนของผนัง

บ้างก็เก้อไป เพราะเที่ยวคุยขโมงโฉงเฉงล่วงหน้าว่า สวยหยั่งงั้น สวยหยั่งงี้ แต่ครั้นเมื่อเห็นกับตาตัวเอง กลับตรงกันข้าม จึงต้องทำทีเป็นชมแบบฝืนปาก

ฉไกรช่างหนุ่ม หลุดโพล่งตามวิสัยโผงผางว่า “ไม่เห็นสวยเลยขอรับ พระคุณท่าน”
พระครูสัง อ่านสังเกตแววตาของช่างทั้งเจ็ดทีละราย อย่างถี่ถ้วนเนิ่นนาน แล้วจึงเอ่ยขึ้นช้า ๆ ว่า
“ข้าตรองดูแล้วว่า ผนังด้านหลังองค์พระประธานจะให้ใครเป็นคนเขียน เจ้าแผ้วนั่งอยู่ก่อน ที่เหลือออกไปได้”


“แผ้ว ข้าเลือกเอ็งก็เพราะเอ็งเป็นคนเดียวที่สงบสุด” พระครูสังแจงเหตุผล
“ไฉนเป็นเช่นนั้นล่ะพระคุณท่าน” เจ้าแผ้วถามด้วยความใคร่รู้

พระครูสังหลับตาช้า ๆ
…ข้าอยากจะให้รูปเขียนพวกนี้ คงทนสืบไปชั่วกาลนาน ข้าจึงตั้งจิตอธิษฐานกับองค์พระประธาน คืนนั้นท่านมาเข้าฝัน บอกไว้ให้เขียนผนังต่าง ๆ ยังไงบ้าง มันกลับหัวกลับหางไปหมดนะลูกเอ๋ย
...แต่ความเป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร จะทำให้งานพุทธบูชาเหล่านี้ไม่มีวันเสื่อมสลาย สืบไปภายหน้า ผู้คนก็ยังต้องกล่าวขานถึง
...เดิมนั้น โบราณท่านนิยมเขียนมารประจญไว้ฝั่งตรงข้ามพระประธาน รูปนี้มีภูติยักษ์อมนุษย์เต็มไปหมด ของจึงแรง ต้องให้พระท่านช่วยคุ้มครองและสะกดอาถรรพ์ชั่วร้าย ครั้นเมื่อรูปมารประจญต้องย้ายไปไว้หลังองค์พระ จึงยิ่งหนักหน่วงกว่าเดิม ต้องใช้คนจิตแข็งจริง ๆ

...ใจข้าน่ะอยากจะเขียนเอง แต่ก็หูตาฝ้าฟางเกินฝืน ข้าจึงปิดโบสถ์เขียนรูป เพื่อวัดใจพวกเอ็งว่า ใครจะนิ่งสุด
...แผ้ว ข้าถามเอ็งคำเดียว จะรับหรือไม่รับ?”
“กระผมเต็มใจขอรับ พระคุณท่าน” ชายหนุ่มตอบฉะฉาน
ฉับพลันนั้นเอง ขรัวเฒ่าก็สะท้านเยือกไปทั้งกาย คล้ายในใจถูกพายุฝนกระหน่ำสาดจนเปียกชุ่ม

ไม่มีความคิดเห็น: