วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เขียนถึงอาว์'รงค์ วงษ์สวรรค์ โดย "นรา"


ในบรรดาซือแป๋นอกกระดานดำมากมายหลายท่าน ซึ่งผมถือวิสาสะเรียนรู้แบบครูพักลักจำจากงานเขียนของปวงท่านเหล่านั้น

อาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ถือได้ว่าเป็นครูที่สำคัญยิ่งสำหรับผม

อย่างไรก็ตาม งานเขียนของผม ปรากฎสำนวนภาษาแบบครูอยู่เพียงน้อยนิด หรือแทบจะไม่มีเลย

นี้ก็ด้วยเหตุผลใหญ่ ๆ สองข้อ คือ ผมไม่สามารถและไม่มีวันทำได้เทียบเท่ากับท่านครู ซึ่งบรรลุถึงขั้น “นายของภาษา” โดยแท้ ผมจึงเลี่ยงไปอีกทาง และเรียนรู้แง่มุมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหนักแน่นของข้อมูล, พลังในการบรรยายอันเอกอุยากที่จะหาใครเทียม, ตลอดจนทัศนะคติมุมมองต่อโลกและการมีชีวิต ฯลฯ

ถัดมาคือ งานเขียนของอาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์นั้น มีเคล็ดวิชาสูงสุดอยู่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น “ไม่เหมือนใคร”

ผมจึงเจริญรอยตามครู ด้วยการเขียนในแบบลีลาอันตรงกับจริตของผมเอง และก็ได้เรียนรู้แง่มุมเหล่านี้ชนิดไม่รู้จบจากผลงานมากมายมหาศาลของครูผู้ยิ่งใหญ่

ที่วิเศษมากก็คือ ยามใดก็ตามที่ผมรู้สึกเหนื่อยหน่ายหมดสนุกกับการเขียน พลันเมื่อได้อ่านงานของอาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมก็กลับมาคึกคักกระตือรือล้นสนุกกับการเขียนหนังสือได้ทุกครั้ง

ความสนุกจากการอ่านสำนวนภาษาของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นแรงบันดาลใจถ่ายเทข้ามฟากมาสู่ความรื่นรมย์ในขณะเขียนของผมด้วยนะครับ

ผมไม่เคยมีความคิดอยากเขียนหนังสือให้มีลีลาแพรวพราวเหมือนอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่ทุกครั้งที่ลงมือทำงาน ผมรับอิทธิพลมาจากครูเต็ม ๆ ในแง่ของความพยายามที่จะสร้างความบันเทิง และมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ฝีมือและสติปัญญาจะมีอยู่ให้แก่ผู้อ่าน

เป็นเป้าหมายและความใฝ่ฝันอันดับต้น ๆ ในการทำงานของผมเลยทีเดียว

นอกจากเป็นครูแล้ว งานเขียนของท่านยังชาร์จแบ็ตเติมไฟให้คนขี้เกียจอย่างผมเสมอมา

ผมนั้นไม่เคยพบตัวจริงของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใกล้เคียงสุดก็คือ ไปฟังท่านขึ้นเวทีอภิปรายที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งสมัยเรียน

เมื่อผมทำงานแล้ว ก็มีโอกาส “เกือบ ๆ” จะได้ติดสอยห้อยตามบรรดานักเขียนรุ่นพี่หลายท่าน แวะไปเยี่ยมคารวะครูที่สวนทูนอิน ประมาณสองสามครั้ง แต่ก็เกิดเหตุเฉพาะหน้าหักเห กระทั่งคลาดเคลื่อนมาตลอด

ผมจึงรู้สึกผูกพันกับอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ผ่านทางตัวหนังสือ

กระนั้นก็มีเหตุการณ์ซึ่งเป็น “เรื่องประทับใจ” ลำดับต้น ๆ ในชีวิตของผม

ช่วงเวลาน่าจะอยู่ราว ๆ กลางปี 2547 ผมมีคอลัมน์ใน Metro Life ซึ่งเป็นฉบับพิเศษ พ่วงมากับ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับเสาร์-อาทิตย์” เนื้อหาว่าด้วยการแนะนำหนังสือ

ปกติคอลัมน์ของผมใน Metro Life มักกล่าวถึงผลงานใหม่ร่วมสมัย แต่ก็มียกเว้นอยู่บ้างที่ผมหยิบจับงานมาสเตอร์พีซในอดีตของนักเขียนชั้นครูอย่าง อุษณา เพลิงธรรม, อาจินต์ ปัญจพรรค์ มาเล่าสู่ผู้อ่าน

ข้อเขียนของผมเกี่ยวกับ “เสเพลบอยชาวไร่” ของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เข้าข่ายอย่างหลัง

ผมแนะนำผลงานของนักเขียนรุ่นครูเอาไว้ไม่เยอะนะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก แม้จะมุ่งเขียนในมุมบอกเล่าความประทับใจส่วนตัว ผมก็ยังไม่ค่อยสบายใจนัก เกรงจะพลาดพลั้งหลุดอะไรในทำนอง “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง” ออกไป

หลังจากที่ผมเขียนถึง “เสเพลบอยชาวไร่” ไปได้ไม่นาน ผมก็เจอสถานการณ์ “งานเข้า” มีภารกิจเฉพาะหน้าอย่างอื่นเข้ามาแทรก จนจำเป็นต้องยุติคอลัมน์ใน Metro Life

จนกระทั่งล่วงเข้าสู่กลางปี 2550 ผมเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนตัว จนต้องแก้ไขด้วยการทำงานให้มากขึ้น ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจ “กลับไปตายรัง” เขียนคอลัมน์ในผู้จัดการอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการรวมเล่ม “ซามูไรตกดิน”

ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในการรวมเล่ม มีต้นฉบับส่วนหนึ่งตกหล่นสูญหาย เมื่อคราวที่คอมพิวเตอร์ของผมเจ๊ง และไม่สามารถกู้คืนกลับมา ทางสะดวกที่จะค้นหาข้อเขียนเหล่านั้น ก็คือ การกลับไปที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งยังมีงานของผมเก็บไว้

ควบคู่กับการเข้าไปค้นหาต้นฉบับ ผมก็ถือโอกาสเจรจาความเมืองเรื่องกลับมาเขียนคอลัมน์ไปด้วย

ตอนที่เข้าไปยังออฟฟิศผู้จัดการนั้นเอง รุ่นน้องคนหนึ่งก็หอบหิ้วถุงใหญ่ ๆ ภายในมีพ็อคเก็ตบุคจำนวนมาก ซึ่งสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่งมาให้ผม (เพื่อจะได้เขียนแนะนำลงในคอลัมน์)

เป็นหนังสือที่ค่อย ๆ ทยอยส่งมาในช่วงสองสามปีที่ผมหยุดเขียนไปนะครับ

ในจำนวนนั้น ผมพบซองกระดาษสีน้ำตาล ฉับพลันที่เห็นลายมือจ่าหน้า ผมก็ขนลุกซู่ด้วยความปลาบปลื้มใจ

เป็นลายมือที่ผมคุ้นตา เห็นแล้วก็จำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องกวาดสายตาไปยังชื่อผู้ส่ง

เป็นลายมือของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่งหนังสือ “Casino ดอกไม้บาป” มาให้ผม พร้อมกับลายเซ็น ข้อความว่า “นรา ฝากมาให้อ่านด้วยรัก-ขอบใจ” วันเวลาที่ระบุไว้คือ กุมภาพันธ์ 2548

ที่ผมดีใจมากสุดก็คือ เหล่านี้บ่งระบุให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยอ่านข้อเขียนของผม มิหนำซ้ำแทนที่ผมจะโดนเอ็ดว่า “ทะลึ่ง” ท่านกลับแสดงความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยม

ผมเสียอีกนะครับที่เหลวไหลไม่ได้เรื่อง ได้รับหนังสือจากอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์แล้ว ก็อึกอักทำอะไรไม่ถูก กาลเวลาล่วงผ่านจนทำให้ได้รับหนังสือล่าช้า เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ผมไม่ได้เขียนตอบกลับไป แต่เงื่อนไขแท้จริงยิ่งกว่าสิ่งใดคือ ความไม่เข้าท่าชนิดปราศจากข้อแก้ตัวใด ๆ ทั้งสิ้นของผมเอง

เมื่ออาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์จากไป ผมจึงทำได้มากสุดเพียงแค่ เดินทางสู่เชียงใหม่ เพื่อไหว้เคารพแสดงความอาลัย

ระหว่างเดินทาง รวมถึงช่วงอยู่ในงานที่วัดพระสิงห์ เมื่อญาติมิตรหลายท่านทราบว่า ผมไม่เคยพบปะพูดคุยกับอาว์’รงค์ และไม่เคยเดินทางไปเยี่ยมคารวะท่านที่สวนทูนอินเลย คำถามที่ติดตามมาก็คือ ทำไมจึงเดินทางมาเคารพศพของท่าน

เป็นคำถามที่ไม่เคร่งเครียดจริงจังนะครับ หลายท่านที่มาร่วมงานนี้ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนคุยกัน ก็คล้าย ๆ กับผม คือ ไม่เคยมีโอกาสได้พบอาว์’รงค์มาก่อน ทว่าก็เต็มใจขโมยเวลาอันมีอยู่จำกัด เพื่อเดินทางมาแสดงความอำลาอาลัยต่อ “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร”

ส่วนใหญ่แล้วผมก็ตอบสั้น ๆ แบบคิดอะไรไม่ทันในสถานการณ์เฉพาะหน้าไปว่า “มาเพราะรู้สึกว่าต้องมาและควรจะมา”

จนเมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสขบคิดใคร่ครวญถี่ถ้วนดีแล้ว ผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมเดินทางมาเชียงใหม่ก็เพราะรู้สึกคุ้นเคยผูกพันกับอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ จากการอ่าน

ผมอ่านหนังสือของอาว์’รงค์ ทุกเล่มเท่าที่จะเจอวางขายตามร้านหนังสือ ทุกเล่มเท่าที่มีปรากฎอยู่ตามห้องสมุด

สามารถกล่าวได้ว่า นี่คือนักเขียนที่ผมมีโอกาสติดตามผลงานอย่างต่อเนื่องหลากหลายมากยิ่งกว่าท่านอื่นใด

ผมอ่านจนรู้สึกว่า ตนเองสนิทสนมกับอาว์’รงค์ เสมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เกิดความผูกพันทางใจมากมายเกินกว่าที่จะรู้ตัว

จนถึงวันนี้ การที่ผมพลาดโอกาสไม่เคยได้พบกับตัวจริงของอาว์’รงค์ อาจนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากประการหนึ่งในชีวิต และเป็นสิ่งที่ไม่มีวันจะย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ก็นับว่าผมและนักอ่านทุกท่านยังโชคดี ที่อาว์ฝากผลงานเขียนเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาลเข้าขั้นน่าอัศจรรย์

ผมบอกกับตัวเองว่า คงเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง หากว่าตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักอ่าน แล้วไม่เคยผ่านตางานเขียนของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์เลย...

ครับ คืนนี้และคืนต่อ ๆ ไป ผมก็ยังคงนั่งฟังอาว์’รงค์ พูดคุยทางตัวหนังสือ เล่าอะไรต่อมิอะไรอย่างรื่นรมย์และออกรส

(หมายเหตุท้ายข้อเขียน ผมขออนุญาตเชื้อเชิญมิตรรักแฟนเพลงญาติโยมทุกท่าน ร่วมงาน “ในเงาเวลาของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งคุณ “เป็นหนึ่ง” วรพจน์ พันธุ์พงศ์ กัลยาณมิตรของผม ร่วมกับสมัครพรรคพวกที่รักอีกหลายท่านเกินกว่าจะระบุนามได้หมด ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อแสดงความคารวะและรำลึกถึง “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม

ส่วนหนึ่งของงาน เป็นนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ผ่านเลนส์และสายตาของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ และภาพถ่ายของเต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ (คนนี้เป็นน้องรักที่ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสรู้จักคบหากัน พูดแล้วอาจจะโดนครหาว่า “อวยกันเอง” แต่ผมสรุปสั้น ๆ ได้ว่า เต้เป็นคนที่น่าทึ่งมาก)

งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2552 ที่แกลเลอรี people space แพร่งภูธร (หากไปไม่ถูก น่าจะสามารถสอบถามถึงแผนที่และวิธีเดินทางได้จากเว็บไซต์ http://www.onopen.com/ นะครับ)

วันเปิดงานคือ เย็นวันศุกร์ที่ 1 เวลา 18.00 น. เป็นการรวมญาติ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยเกี่ยวกับอา’รงค์ วงษ์สวรรค์

ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ ที่เหลือมีดังนี้

อาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบนักเขียนรางวัลซีไรต์ บินหลา สันกาลาคีรี ในหัวข้อ จากบินหลาถึงพญาอินทรี
-พบธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ในหัวข้อ แสงสุดท้ายที่สวนทูนอิน

อาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ในหัวข้อ คิดถึง’รงค์ วงษ์สวรรค์ คิดถึงสวรรค์แห่งชีวิต

อาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบ (อดีต) คณะบรรณาธิการ open ครบคน ปราบดา หยุ่น, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กับการเปิดตัวหนังสือ “เสียงพูดสุดท้าย” (รวมบทสัมภาษณ์ของ’รงค์ วงษ์สวรรค์) โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (สำนักหนังสือไต้ฝุ่น) และ “ยี่หวาไชนาทาวน์” เรื่องยาวที่ไม่เคยตีพิมพ์รวมเล่มมาก่อนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (openbooks)

อาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบโตมร ศุขปรีชา และชาวคณะ GMbooks กับการเปิดตัวหนังสือ “แฝงพวงองุ่น” โดย’รงค์ วงษ์สวรรค์




(เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2552 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

3 ความคิดเห็น:

gummy กล่าวว่า...

เราก็เสียดายเหมือนกัน
อยู่ปาย ใกล้แค่นี้
ไม่ได้ไปคารวะ
หรือได้ไปฟังแกเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้พังบ้าง
ที่ไม่ไป เพราะเกรงใจแก
เหมือนเราก็ตัวเล็ก นิดเดียว
ไม่อยากไปรบกวนเวลาของแกค่ะ
เราก็ชอบตัวหนังสือของอาว์รงค์ มันมีชีวิต
มีความมันส์หยดในการเขียน
มันมีพลัง....
กราบ...

TunaTheBlackCat กล่าวว่า...

แล้วพี่ไปป่ะคะวันที่ 17
โอมไป ถ้าพี่ไปก็เจอกันค่ะ
คิดถึงพี่กะพี่หมีมากเลย >.<

KOON กล่าวว่า...

พี่จ้อยครับ
ผมกำลังไรท์ซีดีเพลงชุดใหม่ของบ๊อบ ดีแลน
และบันทึกการแสดงสดที่ลอนดอนของเลโอนาร์ด โคเฮน ให้พี่นะครับ
ทีแรกว่าจะเมลมาบอก แต่หาเมลพี่ไม่เจอ
จะนำส่งให้พี่อย่างไรดีครับ