


ชื่อบทความชิ้นนี้ อาจชวนให้เข้าใจล่วงหน้าไขว้เขวอยู่สักหน่อยว่า คงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรักหวานขมสะเทือนอารมณ์
ไม่ใช่หรอกนะครับ แท้จริงแล้วผมนำมาจากประโยคหนึ่งที่ปรากฎในตอนท้าย ๆ ของนิยายเรื่อง Animal’s People (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ “เรียกผมว่า ไ...อ้สัตว์” สำนวนแปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท) ซึ่งมีรายละเอียดเนื้อใน ห่างไกลจากเรื่องรักโรแมนติคอยู่เยอะทีเดียว
นิยายยอดเยี่ยมเรื่องนี้ เชื่อมโยงอยู่กับเหตุโศกนาฎกรรมที่เคยเกิดขึ้นจริง ในเมืองโภปัล ประเทศอินเดียเมื่อปี 1984
กลางดึกคืนวันที่ 3 ธันวาคม ปีนั้น เกิดเหตุระเบิดในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ส่งผลให้สารเคมีและก้าซพิษรั่วไหลแพร่กระจายไปทั่วเมืองโภปัล คร่าชีวิตชาวบ้านประมาณสองพันคนในทันที และล้มตายอีกราว ๆ สองหมื่นในเวลาต่อมา
กรณีดังกล่าว เรียกขานกันว่า “หายนะที่เมืองโภปัล” เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับสารพิษที่รุนแรงสาหัสมากสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ที่น่าสะเทือนใจยิ่งก็คือ หลังจากค่ำคืนแห่งโศกนาฎกรรมผ่านพ้นไปแล้ว พิษร้ายยังแทรกซึมปนเปื้อนอยู่ในพื้นดินและน้ำดื่ม ส่งผลให้ชาวเมืองนับแสนคน ล้มป่วยและพิการ
เหตุดังกล่าวผ่านพ้นล่วงเลยมา 20 กว่าปีแล้ว ทว่าบริษัท ยูเนียนคาร์ไบด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ได้หนีจากหายไปโดยไม่เหลียวแลรับผิดชอบ กระทั่งกลายเป็นคดีฟ้องร้องที่ยังคงยืดเยื้อคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นการต่อสู้เพื่อทวงถามเรียกร้องความยุติธรรม ระหว่าง 2 ฝ่ายที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันสุดขั้ว ฝ่ายหนึ่งคือชาวบ้านผู้ยากไร้ขัดสน (แถมยังเจ็บป่วย) มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่เลวร้ายเสมือนดังพำนักอาศัยใน “นรกบนดิน” กับอีกฝ่ายคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ทุนข้ามชาติที่มีพร้อมทั้งกำลังเงิน, อำนาจ, อิทธิพล และเครือข่ายกว้างขวางในการประชาสัมพันธ์สร้างภาพ รวมทั้งว่าจ้างทนายความเก่ง ๆ มาเล่นแง่ทางด้านตัวบทกฎหมาย
ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังใช้เงื่อนไขทางด้าน “การลงทุน” ในอินเดีย เป็นกลไกสำคัญในการกดบีบข้าราชการและรัฐบาลอินเดีย กระทั่งเกิดอาการ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เพิกเฉยมองข้ามความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน และไม่ดำเนินไปตามครรลองอันถูกต้องถ่องแท้ของกระบวนการยุติธรรม
ผู้เขียนนิยายเรื่อง Animal’s People คือ อินทรา สิงห์เกิดในอินเดีย เติบโตที่บอมเบย์ เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเคยมีอาชีพเป็นก็อปปีไรเตอร์เขียนข้อความโฆษณาให้แก่เอเยนซีชื่อดังในอังกฤษ
ในปี 1994 เขาได้รับการไหว้วานร้องขอให้ช่วยรณรงค์ เพื่อระดมทุนก่อตั้งคลีนิครักษาฟรีให้แก่ชาวเมืองโภปัล จึงเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน กระทั่งได้รับการสนับสนุนท่วมท้นล้นหลามจากผู้อ่าน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นนำพาเขาเข้าไปสัมผัสรับรู้ปัญหาความทุก์ยากเดือดร้อนชนิดหยั่งลงสู่รากลึก
ถัดจากนั้นอินทรา สิงห์ก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ “หายนะที่เมืองโภปัล” อีกหลายต่อหลายครั้ง และมีบันทึกข้อมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งตระเตรียมใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเขียนบทหนังเรื่อง Bhopal Express ในปี (เดิมหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า Green Song)
นั่นคือ จุดเริ่มต้นสำหรับความคิดที่จะนำบันทึกข้อมูลดังกล่าว มาเขียนดัดแปลงเสียใหม่เป็นนิยายเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมที่โภปาล
อินทรา สิงห์เริ่มลงมือเขียนนิยายในช่วงฤดูร้อนปี 2001 แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่น่าพึงพอใจนัก จนกระทั่งได้พบกับสองบุคคลที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
มีเพื่อนบางคนมาบอกเล่าให้เขาฟังถึง ชายหนุ่มพิการชื่อสุนิล กุมาร ซึ่งมีกระดูกหลังคดงอ จนต้องเดินสี่เท้า ถัดมาลูกสาวของอินทรา สิงห์เล่าให้ฟังว่า เธอไปพบแม่ชีชราชาวฝรั่งเศส ซึ่งหลงลืมภาษาอื่น ๆ หมดสิ้น จดจำได้เพียงแต่ภาษาฝรั่งเศสที่นางเคยพูดเมื่อครั้งวัยเด็ก
ทั้งสองกลายเป็นที่มาแรงบันดาลให้แก่ตัวละครสำคัญในนิยาย คือ ชานวร (อ่านว่า ชาน-นะ-วอน) และแม่ชีฟรองซี
เมื่อค้นพบตัวละครอย่างชานวร ก็เหมือนกับอินทรา สิงห์เล็งเห็นหนทางสว่างในการเขียนนิยายเรื่องนี้นะครับ คือ รู้ว่าจะบอกเล่าเรียงลำดับเหตุการณ์ เชื่อมโยงร้อยเรียงข้อมูลอันกระจัดกระจายให้เป็นเอกภาพกลมกลืนกันได้อย่างไร
อินทรา สิงห์ใช้เวลาเขียนเรื่อง Animal’s People อยู่ประมาณ 5 ปี จึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์
ในนิยายเขาได้สร้างเมืองสมมติขึ้นมาชื่อเขาฟ์ปุระ (khaufpur) และไม่ระบุชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของโรงงานต้นเหตุสารพิษรั่ว แต่กล่าวถึงเพียงแค่ในนาม “กัมปานี” เหตุผลก็เพราะเขาไม่ต้องการให้ข้อเท็จจริงตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ มาเป็นกรอบจำกัดจินตนาการส่วนตัวในการเล่าเรื่อง
ที่สำคัญ เจตนาในการเขียนนิยายเรื่องนี้ของอินทรา สิงห์ (จากคำให้สัมภาษณ์โดยตัวเขาเอง) ต้องการบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คน (ซึ่งมีนัยยะเชื่อมโยงพาดพิงไปถึงชาวเมืองโภปัล) สิ่งที่พวกเขารู้สึกนึกคิด ชะตากรรมทุกข์ยากที่พบเผชิญ สภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ มากกว่าจะพูดถึงลำดับความเป็นมาเป็นไปต่าง ๆ ของเหตุการณ์ “หายนะที่เมืองโภปัล” โดยตรง (อันเป็นสิ่งที่ชาวโลกรับทราบกันดีอยู่แล้ว)
“เรียกผมว่า ไ...อ้ สัตว์” เป็นนิยายที่สามารถสะกดตรึงผู้อ่านตั้งแต่เริ่มเรื่อง โดยให้ตัวเอกบอกกล่าวทักทายกับผู้อ่านว่า “ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นมนุษย์...”
ขอสารภาพว่า เหตุผลเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้ผมเสี่ยงซื้อนิยายเรื่องนี้ โดยไม่ทราบอะไรมาก่อนเลย ก็เพราะวรรคทองนี้เอง กล่าวคือ ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ถ้าลำพังแค่ประโยคเริ่มต้นยังเฉียบคมถึงเพียงนี้ รายละเอียดอื่น ๆ ถัดมาก็น่าจะดีเยี่ยม (ผลปรากฎว่า ผมเดาถูกนะครับ)
เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของชานวร โดยกำหนดให้เขาอัดเสียงคำพูดตนเองลงในเครื่องบันทึกเทป ตามคำขอร้องจากนักข่าวชาวตะวันตก (ซึ่งไม่ได้ปรากฎตัวมีบทบาทเลยตลอดทั้งเรื่อง)
ชานวรเกิดมาได้เพียงแค่ไม่กี่วัน ก็ประสบเหตุ “คืนนั้น” จนทำให้พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต ส่วนทารกน้อยรอดตาย ได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าโดยแม่ชีฟรองซี (ซึ่งเคยพูดได้หลายภาษา แต่หลังจากโดนก้าซพิษเข้าไป ก็ลืมเลือนหมด สามารถสื่อสารได้แค่ภาษาฝรั่งเศส และเชื่อเป็นตุเป็นตะว่า ภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่ภาษามนุษย์)
จนกระทั่งเมื่ออายุหกขวบ ชานวรก็เกิดอาการไข้ขึ้น ปวดร้าวไปทั้งตัว หลังจากนั้นโครงกระดูกบริเวณกลางหลังก็คดงอบิดเบี้ยว กระทั่งไม่อาจยืนตัวตรงและเดินสองเท้าได้เหมือนผู้คนอื่น ๆ ต้องใช้มือคืบคลานค้ำยันเหมือนสัตว์สี่เท้า
นั่นเป็นที่มาของชื่อชานวร (แปลว่า “สัตว์” ในต้นฉบับภาษาอังกฤษเรียกชื่อตัวละครว่า Animal) ซึ่งเกิดจากการเรียกขานด้วยน้ำเสียงล้อเลียนของคนรอบข้าง
ปมด้อยและความพิกลพิการดังกล่าว รวมทั้งสภาพจิตใจที่มีอาการวิกลจริตอยู่บ้าง ส่งผลให้ชานวร ขมขื่นคับแค้นและรู้สึกว่าตนเองผิดประหลาดไม่เข้าพวกกับผู้อื่น เขาจึงสร้างเกาะคุ้มกัน ด้วยการเลือกข้างยืนกรานที่จะเป็น “สัตว์” และปฏิเสธความเป็น “มนุษย์” (และมักจะหยิบยกมาเป็นเหตุผลข้ออ้างอย่างดื้อรั้นอยู่บ่อยครั้ง ในการไม่ยอมประพฤติตนตามกติกาของสังคมส่วนรวม)
ความไม่ปกติของชานวรนี่แหละครับ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำบอกเล่าต่าง ๆ ที่ปรากฎในนิยายเรื่องนี้ “พิสดาร” และเต็มไปด้วยรสชาติหลากหลายชวนอ่าน ทั้งตลกขบขัน ช่างเหน็บแนม เย้ยหยัน ละเมียดละเอียดอ่อน ก้าวร้าวหยาบคาย มีลีลางดงามเหมือนบทกวี ดิบเถื่อนสากกร้านชวนพะอืดพะอม ความเข้มข้นสมจริง รวมไปถึงบรรยากาศในเชิงอุปมาอุปมัยจนเหนือจริง (เช่น การที่เขาได้ยินเสียงต่าง ๆ มากมายในหัวพูดคุยกันเอง หรือแม้กระทั่งสามารถคุยกับซากทารกสองหัวที่ดองน้ำยาในขวดโหล)
นิยายเรื่องนี้ ไม่ได้มีพล็อตหรือเค้าโครงหวือหวา แต่ในรายละเอียดที่บอกเล่าอย่างลื่นไหลฉวัดเฉวียน มันเป็นเรื่องว่าด้วยมุมมองของสัตว์ (ชานวร) ซึ่งมีต่อผู้คนหลากหลายชีวิตที่ห้อมล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเขา, ว่าด้วยผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่มีเปลือกนอกและสภาพความเป็นอยู่อัปลักษณ์ทุเรศนัยน์ตา แต่เปี่ยมด้วยจิตใจสวยงาม, ว่าด้วยมนุษยธรรมอันซาบซึ้งน่าประทับใจบนชะตากรรมรันทดหดหู่, ว่าด้วยตัวละครที่เป็นสัตว์ทางกายภาพ แต่มีจิตใจเป็นมนุษยที่แท้ไม่ด้อยไปกว่าใคร, ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างความดีกับความเลว, ว่าด้วยศรัทธามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว บนสภาพความเป็นจริงที่แทบไม่เหลืออะไรให้หวังหรือยึดเหนี่ยว, ว่าด้วยสวรรค์บนดินที่กลายเป็นนรกเพียงชั่วข้ามคืน และนรกอันยาวนานที่มีมุมหนึ่งของสรวงสวรรค์แฝงซ่อนอยู่
เหนือสิ่งอื่นใดคือ การที่ชานวรใช้วิธีเยาะเย้ยตอบโต้ทุกข์ยากโศกนาฎกรรมของตนเอง ด้วยอารมณ์ขันอันชาญฉลาดคมคาย
บางรายละเอียดในนิยายเรื่องนี้ โหดร้ายทารุณและเศร้าสลดหดหู่ทำร้ายจิตใจ เกินกว่าที่ผมจะกล้าใช้คำว่า “สนุก” แต่โดยรวมแล้วผมสรุปได้ว่า Animal’s People เป็นนิยายที่เขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา ชนิดหยิบอ่านแล้ววางไม่ลง นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่บอกเล่าอย่างรื่นรมย์หรรษา และทำให้อ่านจบลงด้วยรอยยิ้มเปื้อนหยดน้ำตา
โดยเฉพาะช่วงสองสามบทท้าย ๆ (ประมาณ 70 หน้ากระดาษ) อินทรา สิงห์ เขียนได้ประณีตวิจิตรทรงพลังอย่างยิ่ง และเล่นงานจู่โจมกระหน่ำโบยตีอารมณ์ของผู้อ่านหนักหน่วง ทั้งตื่นเต้นระทึกใจ, ทั้งโศกสลดจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่, ทั้งสยดสยองน่ากลัวราวกับฝันร้าย
ที่สำคัญมันนำเสนอบทสรุปในแบบไม่เป็นสูตรสำเร็จ ไม่ได้จบอย่างสุขสดชื่นสมหวัง หรือจบแบบโศกนาฎกรรมทำร้ายจิตใจ แต่เป็นการลงเอยที่เปี่ยมความหวัง งดงาม ก่อเกิดศรัทธาต่อการมีชีวิตและความเป็นมนุษย์อย่างแรงกล้า เป็นการจบโดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่าง ๆ และตัวละคร ยังคงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในใจของผู้อ่าน
นี่คือ นิยายที่น่าประทับใจมากสุดอีกเรื่องหนึ่งในชีวิตการอ่านของผม
(เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2551 ตีพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในการเพยแพร่คราวนี้ คงไว้ตามเดิมทุกอย่าง ไม่ได้แก้ไขขัดเกลาใด ๆ แต่อยากจะยืนยันอีกครั้งว่า เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมมาก และขอแนะนำอย่างออกนอกหน้า
พร้อม ๆ กันนี้ ก็ต้องขออภัยสำหรับการหายหัวหายตัวหายหน้าหายตาไปหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมา ผมออกไปใช้ชีวิตโลดโผนผจญภัย ทำให้เกิดความอัตคัดขาดแคลนเวลาสำหรับดูแลบล็อก ตอนนี้ราชการบ้านเมืองก็คลี่คลายไปเยอะแล้ว คงจะกลับสู่ภาวะปกติ และเจอะเจอกันบ่อยขึ้นในเร็ววันนี้นะครับ)
3 ความคิดเห็น:
ยังตามอ่าน - ฟังอยู่นะคะพี่
คิดถึงเสมอ >.<
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ จะต้องไปหามาอ่านให้ได้เลยทีเดียว ^^
ไปสอยมาจากงานหนังสือจนได้ครับพี่ เดี๋ยวจะเริ่มอ่านในเวลาเร็วๆนี้แหละครับ ^^
แสดงความคิดเห็น