วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลงโลหิตไปจนเท่าวันตาย โดย 'นรา'


ในบรรดาแหล่งจิตรกรรมสถานทั่วสยามประเทศ ภาพเขียนในโบสถ์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการยกย่องว่าเป็นอีกแห่งหนึ่งที่งามสุดยอด

สุดยอดตรงที่ หากดูอย่างผิวเผินลวก ๆ ก็สามารถใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีผ่านเลยไปได้ทันที ไม่มีอะไรโดดเด่นสะดุดตา

ขณะเดียวกัน สำหรับนักดูจิตรกรรมฝาผนังประเภทฮาร์ดคอร์ ภาพเขียนที่นี่ก็มหัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะสามารถดูแบบละเลียดดื่มด่ำพินิจพิเคราะห์ ชนิดใช้เวลาทั้งวันก็ยังซึมซับความงามได้ไม่ทั่วถึงหมดสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น วัดใหญ่สุวรรณาราม ยังมี “ของดี” อันเป็นงานศิลปะชั้นเลิศในด้านต่าง ๆ อีกเยอะแยะมากมาย

หากจะระบุว่า ตัววัดทั้งวัดนั่นแหละ คือ พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ขนาดใหญ่ ก็ไม่ผิดจากความจริงแต่อย่างไร

ประวัติความเป็นมาของวัดใหญ่สุวรรณาราม มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นไปได้มากว่า ระยะเวลาที่สร้างขึ้น อาจเก่าแก่ย้อนไกลกว่านั้นอีก

มีคำบอกเล่าจากพระสูงอายุในวัด ระบุว่า เดิมชื่อ “วัดน้อย” หรือ “วัดนอกปากใต้” คล้องจองกับ “วัดในไก่เตี้ย” ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังห่างกันไม่ไกล

ปัจจุบันวัดในไก่เตี้ย ร้างไปนานแล้ว ยังมีเจดีย์และฐานอุโบสถหลงเหลือร่องรอยอยู่บ้าง พื้นที่แถบนี้เคยมีคนนำมาทำสนามวัวเกวียน (เป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง ใช้วัวเทียมเกวียน 2 เล่ม วิ่งแข่งกัน) บางครั้งจึงเรียกสถานที่นี้ว่า “วัดหัวสนาม”

จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2475 ทางราชการได้ใช้พื้นที่แถบวัดหัวสนาม และวัดไผ่ล้อม (วัดนี้ก็เป็นวัดร้าง และมีลวดลายปูนปั้นที่ยกย่องกันว่างามมาก หลงเหลือให้เห็น) สร้างเป็นเรือนจำประจำจังหวัด

เหตุที่ในอดีต วัดใหญ่สุวรรณารามเคยได้ชื่อว่า “วัดนอกปากใต้” ก็เพราะเดิมเคยตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของแม่น้ำเพชร ก่อนที่แนวพาดผ่านของลำน้ำจะค่อย ๆ เปลี่ยนเส้นทางในเวลาต่อมา

มีบุคคลสำคัญหลายท่าน ซึ่งเกี่ยวโยงผูกพันกับวัดใหญ่สุวรรณาราม ท่านแรกคือ สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) หรือสมเด็จฯ แตงโม

ตำนานเล่ากันมาว่า สมเด็จ ฯ แตงโม มีนามเดิมว่า “ทอง” เกิดที่บ้านหนองหว้า ตำบลหนองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี กำพร้าบิดา มารดา อาศัยอยู่กับพี่สาว และช่วยงานจิปาถะจำพวกตักน้ำหาฟืนตำข้าว

วันหนึ่งเด็กชายทอง ทำข้าวหกในระหว่างตำ จึงโดนพี่สาวคว้าไม้ไล่ตี

ด้วยความกลัว เด็กชายทองจึงวิ่งหนีเอาตัวรอด ไม่ยอมกลับเข้าบ้านอีกเลย เที่ยวระหกระเหินเร่ร่อนไปเรื่อย จนในที่สุดก็มาถึงบริเวณวัดนอกปากใต้ พบเจอเด็กวัดนั้นจนคุ้นเคยนับเป็นเพื่อน และชวนกันไปเล่นน้ำที่ท่าวัด

ขณะกำลังเล่นน้ำนั้นเอง ก็มีเปลือกแตงโมลอยมา ความหิวโหยทำให้เด็กชายทอง คว้าเปลือกแตงโมแล้วดำลงไปในเคี้ยวกินในน้ำ

พฤติกรรมดังกล่าว มิได้รอดพ้นสายตาเด็กอื่น ๆ จึงพากันล้อเลียนเย้ยหยันต่าง ๆ นานา หาว่าตะกละเห็นแก่กิน แล้วก็เลยพลอยเรียกขานเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่กลายเป็นเด็กชายแตงโม

ค่ำคืนนั้นเด็กชายแตงโม อาศัยนอนที่วัดนอกปากใต้

ในวันเดียวกัน ท่านสมภารรับนิมนต์ไปสวดมนต์เย็นที่จวนท่านเจ้าเมือง กลับมาถึงวัดตอนกลางคืน ไม่ทราบความใด ๆ และจำวัดหลับไป ช่วงใกล้รุ่งท่านนิมิตฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามาในวัด แทงตู้พระไตรปิฏกและหอไตรพังหมด

ครั้นรุ่งเช้า ท่านสมภารตื่นมาทบทวนความฝัน เห็นว่าเข้าลักษณะตรงตามสุบินนิมิต ก่อนไปฉันเช้าท่านจึงสั่งพระลูกวัดไว้ว่า หากมีใครแวะมาหาแล้ว ขอให้ผู้นั้นรอ อย่าเพิ่งรีบกลับไปเสียก่อน

เมื่อกลับจากฉันเช้า ท่านเที่ยวสอบถามก็ไม่ปรากฎว่ามีใครมาหา คอยกระทั่งเย็นย่ำก็ยังไร้วี่แวว จึงสอบถามพระ เณร ศิษย์วัดอีกครั้งโดยถี่ถ้วน

เด็กวัดผู้หนึ่งนึกถึงเด็กชายทอง แจ้งเรียนท่านสมภารว่า มีเด็กแปลกหน้ามาขออาศัยอยู่ด้วย ท่านจึงให้ไปตามตัวมาดู

พลันเมื่อพบปะเข้า ท่านสมภารก็รู้ได้ทันทีว่า เด็กคนนี้มีหน่วยก้านดี สอดคล้องกับเรื่องราวในฝัน ไล่เรียงสอบถามความเป็นมาต่าง ๆ แล้ว จึงชักชวนให้อยู่ที่วัด โดยจะรับอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา

เด็กชายทอง เริ่มหัดอ่านหัดเขียน ก. ข. ก. กา จนอ่านออกเขียนได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรียนรู้ล้ำหน้าเด็กวัดอื่น ๆ ด้วยมีเชาวน์ไวไหวพริบดีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ท่านสมภารจึงจัดแจงให้บวชเณร หัดเทศน์และแปลอรรถกถาบาลี

จนมาวันหนึ่ง เจ้าเมืองนิมนต์ท่านสมภารไปเทศน์ตามวาระประจำ เผอิญท่านอาพาธ จึงให้สามเณรแตงโมไปปฏิบัติกิจแทน

แรกเริ่มท่านเจ้าเมืองไม่สู้จะศรัทธาในสามเณรนัก ถึงขั้นหลบไปอยู่ในห้อง แต่เมื่อได้ยินเสียงเสนาะโสตลอยมา ท้ายสุดก็อดรนทนไม่ไหว ต้องออกมานั่งฟังข้างนอกเหมือนดังเคย

เทศน์จบแล้ว ญาติโยมต่างก็ซาบซึ้งจับใจไปตาม ๆ กัน

นับจากนั้นสืบมา ท่านเจ้าเมืองก็อาราธนาสามเณรมาเทศน์แทนเป็นการถาวร ไม่รบกวนสร้างความยากลำบากให้แก่ท่านสมภารที่อยู่ในวัยชราอีกต่อไป

สามเณรแตงโมเล่าเรียนพระปริยัติ ข้อวัตรปฏิวับัติต่าง ๆ จนสิ้นภูมิรู้ของท่านสมภาร ทว่าเจ้าอาวาสก็เห็นว่า ด้วยคุณสมบัติอันดีเลิศเพียบพร้อม สามเณรสมควรต้องเล่าเรียนให้สูงขึ้นไปอีก

ท่านสมภารจึงพาสามเณรไปยังอยุธยา ฝากให้เล่าเรียนในสำนักวัดหลวงแห่งหนึ่ง กระทั่งแตกฉานรู้พระไตรปิฏกเข้าขั้นเจนจบ จนถึงวัยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

พระแตงโมเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังทางเทศนา เป็นที่ยกย่องนับถือของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ได้เป็นอาจารย์สั่งสอนราชบุตรราชนัดดาหลายพระองค์ ซ้ำยังเชี่ยวชาญวิชาในเชิงช่างอีกแขนง

ต่อมาภายหลัง เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งได้สืบราชสมบัติ จึงถวายสมณศักดิ์พัดยศเป็นพระราชาคณะ ที่พระสุวรรณมุนี

เมื่อบริบูรณ์ด้วยสมศักดิ์ฐานันดรแล้ว พระสุวรรณมุนีก็หวนระลึกถึงบ้านเกิด คิดจะมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามที่เคยศึกษาเล่าเรียน จึงถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตำนานเล่าต่อไปว่า ในครั้งนั้นได้ถวายท้องพระโรงหลังหนึ่ง ช่วยเหลือเจ้าคุณพระอาจารย์นำมาประดิษฐานเป็นศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญดังกล่าว ยังปรากฎมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งล้ำค่า ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องแวะชมชนิดห้ามพลาดเด็ดขาด

พูดแบบห้วน ๆ แห้งแล้ง ความเกี่ยวโยงผูกพันระหว่างสมเด็จฯ แตงโมกับวัดใหญ่สุวรรณาราม มีอยู่เพียงว่า ท่านเคยพำนักบวชเณรร่ำเรียนครั้งวัยเด็ก และเมื่อได้ดิบได้ดีเป็นพระราชาคณะแล้ว ก็หวนกลับมาเป็นแม่กองควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งวัด

ครั้นเมื่อแล้วเสร็จลุล่วง สมเด็จฯ แตงโมก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ภารกิจอื่น ๆ มิได้อยู่ครองวัดเป็นเจ้าอาวาส

มองดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สลักสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ สันนิษฐานไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณาราม น่าจะวาดขึ้นราว ๆ พ.ศ. 2172-2199 (สมัยพระเจ้าปราสาททอง) ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเขียนขึ้นประมาณพ.ศ. 2255-2251 (สมัยพระเจ้าเสือ)

ทั้งสองสมมติฐานนี้ ต่างมีเหตุผลห้อมล้อมรองรับ ซึ่งยังไม่อาจสรุปชี้ชัด

เพื่อความบันเทิงในการผูกแต่งนิทานขึ้นมาเป็นการส่วนตัว แบบไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางด้านข้อเท็จจริง ผมก็เลยมีใจเอนเอียงมาทางความเชื่อว่า วาดขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือมากกว่านะครับ

กล่าวคือ ศาลาการเปรียญที่อยู่ติดกับพระอุโบสถนั้น เชื่อและเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมเคยเป็นตำหนักหรือท้องพระโรงหลังหนึ่งของพระเจ้าเสือ ซึ่งได้พระราชทาน เมื่อทรงทราบข่าวว่า สมเด็จฯแตงโม จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเดิมที่เคยบวชเณร ณ จังหวัดเพชรบุรี
เวลานั้น ยังคงใช้ชื่อวัดน้อยปากใต้ และน่าจะมีอาณาบริเวณไม่กว้างขวางใหญ่โตเหมือนเช่นปัจจุบัน

คราวสมเด็จฯ แตงโมเป็นแม่กองซ่อมแซมบูรณะนี้เอง ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นชนิดอลังการงานสร้าง

สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมอยู่ก่อน ก็แก้ไขจนกระทั่งมั่นคงแข็งแรง สิ่งใดผุพังเสื่อมสลายเกินเยียวยาก็รื้อถอนสร้างใหม่ สิ่งใดยังขาดพร่องไม่ครบถ้วน ก็ต่อเติมกระทั่งเพียบพร้อมสมบูรณ์

เชื่อกันอีกว่า พระอุโบสถนั้นคงมีอยู่ก่อนแล้ว แต่น่าจะมีการ “ยกเครื่อง” ปรับจูนเสียใหม่ จนงามหมดจดก็ในช่วงเวลานี้เอง

ผมก็เลยเดาเล่น ๆ เพื่อให้เข้าล็อคกันว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังก็ควรจะเพิ่งเขียนขึ้น จะได้สมกับความเป็น “เมกะโปรเจกต์”

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เดาแบบเลื่อนลอยเสียทีเดียว ในหนังสือ “พระดีศรีเมืองเพชร” ของอาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ ได้เล่าไว้ว่า
“การซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ วัดใหญ่สุวรรณารามนี้นับว่าเป็นงานใหญ่มาก สมเด็จฯ จะต้องระดมช่างมิใช่น้อย มีทั้งช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างปูน ช่างปั้น และช่างเขียน และจะต้องมีคนงานนับสิบ ๆ ถ้าใครได้มาเห็นเครื่องตกแต่ง และลวดลายอันละเอียดลออของศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถแล้วก็ต้องยอมรับว่าเหมือนกับสมเด็จพระสังฆราชท่านมาเนรมิตขึ้นฉันนั้น...”

ความตอนนี้รวมทั้งถ้อยคำระบุว่า “และช่างเขียน” น่าจะเป็นเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักอยู่พอสมควรว่า คงมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นในคราวซ่อมแซมโดยมีท่านสมเด็จฯ แตงโมดูแลกำกับ

การซ่อมและสร้างวัดเมื่อครั้งโบราณ น่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่แตกต่างจากปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านไม่ได้กระทำการในเชิง “ก่อสร้าง” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายมุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะชั้นเยี่ยมหลากหลายแขนงด้วย ระดับความยากจึงน่าจะโหดหินสาหัสมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

จึงไม่น่าจะใช้เวลาแค่ปีสองปี แต่คงเนิ่นนานทีเดียวกว่าจะแล้วเสร็จครบถ้วน

ตลอดช่วงเวลายาวนานในระหว่างนั้น ความรู้และคุณสมบัติอันล้ำเลิศอีกด้านหนึ่งของสมเด็จฯ แตงโม นอกเหนือจากศักยภาพทางด้านงานช่าง อย่างเช่น ความแตกฉานในพระธรรม, ลีลาการเทศน์อันเป็นที่จับอกจับใจ รวมถึงจริตยวัตรในฐานะพระสงฆ์ (ซึ่งตามประวัติได้เล่าไว้ว่า ท่านเป็นที่ยกย่องมาแล้ว เมื่อครั้งอยู่กรุงศรีอยุธยา) ก็น่าจะปรากฎเป็นที่ประจักษ์แก่ญาติโยมสาธุชน

นี่ยังไม่นับรวมว่า เมื่อบูรณะวัดใหญ่สุวรรณารามจนเสร็จสรรพ สมเด็จฯ แตงโมยังถือโอกาสปฏิสังขรณ์วัดหนองหว้า อันเป็นละแวกบ้านเกิดของท่าน เพื่อแสดงความกตัญญูอีกแห่งหนึ่ง

คนเมืองเพชรจึงเคารพสมเด็จฯ ท่านอย่างลึกซึ้งสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ตอนที่สมเด็จฯ แตงโมมาซ่อมแซมวัดใหญ่ ท่านยังเป็นเพียงแค่พระราชาคณะ (โดยมีสมณศักดิ์เป็น “พระสุวรรณมุนี”) ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อการบูรณะสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนก็เปลี่ยนคำเรียกขานชื่อ จาก “วัดน้อย” มาเป็น “วัดใหญ่” ตามสภาพความโอ่โถงกว้างขวางที่ผิดแผกไปจากเดิม และด้วยเหตุที่ท่านสมเด็จฯ แตงโม มีนามเดิมเมื่อครั้งเป็นฆราวาสว่า “ทอง” รวมทั้งเป็นพระราชาคณะในนาม “พระสุวรรณมุนี”

ชื่อ “วัดน้อยปากใต้” จึงคลี่คลายเปลี่ยนแปลงมาเป็น “วัดใหญ่สุวรรณาราม” และไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า ได้เรียกขานกันในตอนที่ท่านสมเด็จฯ แตงโมมรณภาพไปแล้ว หรือก่อนหน้านั้น

ปัจจุบัน ในพระอุโบสถวัดใหญ่ ด้านหน้าบริเวณขวามือขององค์พระประธาน (หรือซ้ายมือของผู้ชมเมื่อเดินเข้าไปในโบสถ์มองตรงไปยังองค์พระประธาน) ยังมีรูปหล่อของสมเด็จฯ แตงโม

ความเห็นจากครูบาอาจารย์นักวิชาการส่วนใหญ่ เชื่อกันว่า รูปหล่อนี้น่าจะเป็นงานประติมากรรมตัวบุคคลแบบเหมือนจริงชิ้นแรกในประเทศไทย

ธรรมเนียมโบราณนั้น เว้นจากพระพุทธรูปแล้ว ไม่นิยมหล่อรูปเหมือนของบุคคลนะครับ ด้วยเกรงกันว่า จะเกิดอาถรรพ์ในทางร้าย เนื่องจากในกระบวนการหล่อนั้น ต้องเผาโลหะหรือทอง ท่ามกลางไฟอันร้อนแรง

รูปหล่อของสมเด็จฯ แตงโม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า สร้างขึ้นด้วยเหตุใด แต่ก็น่าจะเป็นเพราะความเคารพศรัทธาของชาวบ้าน

มีตำนานเล่าขานเพิ่มเติมอีกว่า รูปหล่อดังกล่าว เผชิญอุปสรรคต่าง ๆ นานา ทำขึ้นกี่ครั้งก็ผิดเพี้ยนเฉไฉไม่เหมือนจริง แม้จะแก้หุ่นต้นแบบกันอยู่หลายครั้งหลายคราว ลงท้ายก็ยังล้มเหลว กระทั่งท้ายสุดก็มีตาแป๊ะแก่ ๆ นิรนามท่านหนึ่ง ปรากฎตัวขึ้นมาดำเนินการ จึงค่อยสำเร็จลุล่วงด้วยดี

จากนั้นตาแป๊ะก็หายไปอย่างลี้ลับไร้ร่องรอย ตำนานที่เล่าสืบตากันจึงเพิ่มเกร็ดเติมความเชื่อว่า ท่านเป็นเทวดาปลอมตัวมา

พร้อม ๆ กับที่หล่อรูปท่านสมเด็จฯ แตงโมแล้วเสร็จ ตาแป๊ะก็ได้หล่อรูปเหมือนของท่านเองไว้ด้วย เดิมเคยอยู่ในพระอุโบสถ ปัจจุบันข้อมูลระบุว่า เก็บไว้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส

รูปหล่อตาแป๊ะได้รับความเคารพนับถือ และเรียกกันว่าเทวรูป ซึ่งร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

มีเรื่องเล่าซึ่งระบุไว้คร่าว ๆ ว่า เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน (แต่ก็น่าจะหลายปีอยู่นะครับ) ครั้งหนึ่งชาวบ้านตำบลไสกระดาน ชื่อนายอ่วม เห็นเทวรูปดังกล่าวในโบสถ์ แลดูเหมือนตุ๊กตาจีน จึงเอามือลูบคลำเล่นด้วยความคะนอง แล้วก็เห็นผลทันที คือ หลังจากกลับถึงบ้านก็เกิดอาการไม่สบาย ต้องย้อนไปขอขมาจึงหาย

เหตุการณ์ก็ควรจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเพียงเท่านี้ ทว่าคุณอ่วมนั้นยังไม่ยอมจบ เกิดความเจ็บใจเจ้าคิดเจ้าแค้น ซัดโทษว่าเทวรูปตาแป๊ะเป็นต้นเหตุให้ตนเองป่วยไข้ จึงกลับเข้าไปในพระอุโบสถ หยิบเอา “ต้นเหตุ” มาเตะให้หายแค้น

ผลก็คือ อ่วมสมชื่อนะครับ เกิดอาการเท้าเหยียดไม่ออก ลุกลามเป็นแผลจนมีหนอง ถึงตอนนี้ก็เข้าขั้น “สายเกินไป” จะบนบานศาลกล่าวขอขมาลาโทษอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ดีที่สุดก็เพียงแค่แผลหาย แต่ต้องขาเสียพิการไปตลอดชีวิต

รายนี้ก็เป็นอย่างงั้นไป

รายต่อมา (กรุณาอ่านด้วยสำเนียงลีลาแบบรายการอ่านข่าวทางวิทยุสถานีเอเอ็มตอนเช้า ๆ นะครับ จะได้อรรถรสแซ่บซึ้งยิ่งขึ้น) ชื่อนายอิ่ม บ้านอยู่ที่หน้าวัดธ่อ เมื่อครั้งยังบวชเคยเอามือไปแตะที่ปากเทวรูป แล้วเอามาลูบปากตนเอง เพื่อขอให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์เหมือนดังคำร่ำลือ

ผลก็คือ อิ่มสมชื่อนะครับ ปากบวมเจ่อเอิบอิ่มเป็นปากครุฑ ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา อาการจึงค่อยทุเลาลงและหายเป็นปรกติ

รูปหล่อของสมเด็จฯ แตงโมนั้น นับถือกันว่าท่านอำนวยความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้เลื่อมใส ขจัดปัดเป่าโพยภัยอันตราย และประสาทพรในสิ่งที่พึงปรารถนา หากปีใดฝนแล้ง ผู้คนก็จะนำท่านออกแห่แหนรอบตลาดเมืองเพชร เพื่อขอฝน ร่วมกับพระพุทธรูปอีกองค์ ซึ่งเรียกกันว่าพระคันธารราษฏร์

รวมทั้งมีการอัญเชิญไปประดิษฐานในปะรำพิธีที่หน้าเขาวัง ช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ ปิดทอง

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2491รูปหล่อสมเด็จฯ แตงโม ได้รับความกระทบกระเทือน เกิดชำรุดที่ก้านศอ เมื่อซ่อมแซมแล้วเสร็จ นับแต่นั้นจึงมิได้อัญเชิญไปในที่ใดอีกเลย

เรื่องของสมเด็จฯ แตงโมกับเมืองเพชรบุรี มีเพียงเท่านี้ แต่ประวัติของท่านนั้นยังไม่จบ

ท่านกลับไปอยุธยา กระทั่งได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชในเวลาต่อมา และมีงานสำคัญในช่วงบั้นปลายชีวิต คือ การซ่อมแซมมณฑป พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ใกล้ ๆ มณฑปพระพุทธบาท มีไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ขนาดประมาณ 3 หรือ 4 คนโอบ มีดอกโตเท่าฝาบาตร แผ่กิ่งก้านสาขาร่มครึ้ม

เรื่องมาเกิดอารมณ์ในเชิงดราม่า ตรงที่สมเด็จฯ ท่านต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการโค่นต้นไม้นั้น ซึ่งหากปล่อยไว้ กิ่งก้านของมัน ไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างเท่านั้น ทว่ายังมีแนวโน้มก็เบียดเบียนทำให้หลังคาพระมณฑปเสียหายในกาลข้างหน้า

จินตนาการเล่น ๆ เลียนแบบหนังหรือนิยาย ผมก็นึกภาพได้ว่า สมเด็จฯ แตงโมท่านใช้เวลาชั่งน้ำหนักไตร่ตรองโดยถี่ถ้วนแล้ว ท่านก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงเลือกรักษาพระมณฑปไว้

แล้วท่านจึงมีคำสั่งให้โค่นต้นไม้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าลงมือ มิหนำซ้ำใครต่อใครก็ยังพากันทักท้วงขอร้องสมเด็จฯ ให้งดเว้นเสีย ด้วยเกรงเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ จะลงโทษให้ได้รับเคราะห์

โดยยึดเอาการซ่อมมณฑป เพื่อเป้าหมายเป็นพุทธบูชา สมเด็จฯ แตงโมจึงคว้ามีด ฟันโค่นต้นไม้ดังกล่าวด้วยมือของท่านเอง

พลันที่คมมีดแรกกระทบเปลือกลำต้น สมเด็จฯ แตงโมก็หยั่งรู้ทันทีว่า ผลสืบเนื่องติดตามมาอันจะเกิดแก่ตัวท่านเป็นอย่างไร แต่เพื่อให้สามารถซ่อมแซมเปลี่ยนหลังคามณฑปสำเร็จลุล่วง เป็นปูชนียสถานอันงดงามล้ำค่าถาวรสืบไป

มีดแล้วมีดเล่าจึงโหมฟันไม่หยุดหย่อน ท่ามกลางผู้คนและนายช่างทั้งปวงที่นั่งนิ่งอึ้งตะลึงงัน บางคนน้ำตาไหลพรากด้วยสะเทือนใจจนสุดกลั้น กระทั่งไม้ใหญ่ต้นนั้นล้มลง

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 7 “คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท” เล่าไว้ว่า “...แต่วันนั้นไป ท่านสมเด็จพระเจ้าแตงโมก็ตั้งแต่ลงโลหิตไปจนเท่าวันตาย”

ไม่มีความคิดเห็น: