วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรือด่วนเจ้าพระยา โดย "นรา"


เดาเอานะครับว่า ชาติใดชาติหนึ่งที่ได้ผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว ผมอาจจะเคยเกิดเป็นปลาแซลมอนมาก่อน ชาตินี้จึงได้ชอบกินปลาแซลมอน และชอบฟังเพลงของแซลมอน...ขอโทษครับ เขียนผิด...ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกล
ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังชื่นชอบโปรดปรานและหลงใหลการเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา จากท่าน้ำราชวงศ์ไปถึงท่าน้ำนนท์ ทั้ง ๆ ที่บ้านอยู่แถวบางจาก ซึ่งไม่ได้มีเส้นทางเฉียดใกล้เลยสักนิด

ประมาณว่า มีโอกาสได้นั่งเรือด่วนขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยาทีไร ภายในตัวผม ก็รู้สึกระริกระรี้เหมือนปลาแซลมอนที่แปลงกายเป็นปลากระดี่ได้น้ำอยู่ร่ำไป

เพราะเหตุนี้เอง ผมจึงอดน้อยใจไม่ได้ที่มีบ้านอยู่แถวบางจาก ทำให้สูญเสียโอกาสในการนั่งเรือไปไหนมาไหน

ครั้นจะแก้ปัญหา ด้วยการแกล้ง ๆ ทุ่มทุนสร้าง ขว้างทุนเสี่ยง เหวี่ยงทุนเสนอ ซื้อบ้านหรือคอนโดหรู ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ดูจะฟุ่มเฟือยอวดร่ำอวดรวยโชว์เสี่ยไปหน่อย รวมทั้งเกรงชาวบ้านครหานินทาด้วยความหมั่นไส้

แต่เหตุผลที่น่าเชื่อถือกว่านั้นก็คือ มีปัญญาแต่ไม่มีตังค์จะซื้อนะครับ แค่เสาเข็มสักต้นยังลำบากและเป็นไปได้ยากเลย

เหตุผลดังกล่าว ส่งผลกระทบทำให้แผนสอง-การซื้อเรือเป็นของตนเองสักลำ-ต้องล้มเหลวตามไปด้วย

ผมจึงต้องแก้ปัญหาด้วยแผนสาม นำเอาสิ่งที่มีอยู่เหลือเฟือมาสร้างความได้เปรียบ

สิ่งที่ผมมีเยอะก็คือ “เวลา”

โครงการเดินทางไกลจึงเริ่มต้นขึ้น ช่วงเกือบ ๆ เดือนที่ผ่านมา วันไหนทำงานเสร็จเร็ว ผมมักจะใช้เวลาตอนบ่าย ๆ ไปเดินเถลไถลหาของกินแถว ๆ เยาวราช พร้อมทั้งกักตุนเสบียงอาหารมื้อค่ำ จากนั้นก็ปิ๊กบ้านด้วยการนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงท่าน้ำนนท์ แล้วต่อรถเมล์ป.อ. สาย 545 (ท่าน้ำนนท์-สำโรง)

เส้นทางนี้ ถ้าเป็นการนั่งรถเมล์สายตรงหรือการจราจรทางบกตามปกติ ใช้เวลาราว ๆ ชั่วโมงครึ่ง (ถ้ารถติดหนัก ๆ หน่อยก็สองชั่วโมง) แต่เมื่อเลือกใช้ระบบคมนาคมครึ่งบกครึ่งน้ำ (นั่งเรือแล้วต่อด้วยรถเมล์) ซึ่งฟังดูจระเข้ยังไงก็ไม่รู้ สถิติรวดเร็วและล่าช้าสุดเท่าที่ผมเคยจับเวลาไว้ก็คือ สามชั่วโมงครึ่งถึงสี่ชั่วโมงครึ่ง

ตอนนั่งเรือนั้น เร็วปรื๋อทันใจดีอยู่หรอกนะครับ มาล่าช้าเสียเวลาตรงรถป.อ. สาย 545 นี่แหละ

รถป.อ. สาย 545 นั้น ได้ชื่อว่ามีเส้นทางเลี้ยวลดคดเคี้ยวอ้อมโลกอย่างน่าอัศจรรย์ คล้าย ๆ ตัวอักษร W ผนวกรวมกับตัว M ยึกยักเลื้อยขดไปมา

กล่าวคือ จากท่าน้ำนนท์ รถเมล์จะวิ่งตรงมาเรื่อย ๆ แล้วเลี้ยวซ้ายมาทางแคลาย และเลี้ยวอีกครั้งไปทางงามวงศ์วาน พงษ์เพชร มุ่งตรงสู่แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลี้ยวเข้าถนนพหลโยธิน ผ่านซอยเสนานิคม ไปจนถึงเซ็นทรัลลาดพร้าว จากนั้นก็เลี้ยวตรงดิ่งตลอดถนนลาดพร้าวทั้งสาย ถึงบางกะปิ เลี้ยวขวาขึ้นสะพานข้ามคลองแสนแสบมาแยกลำสาลี และเลี้ยวขวาอีกครั้งมุ่งตรงผ่านหัวหมาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านแยกคลองตัน มุ่งตรงไปถึงพระโขนง และเลี้ยวซ้ายสู่ถนนสุขุมวิท ผ่านอ่อนนุช บางจาก อุดมสุข บางนา ลาซาล ซอยแบริ่ง ไปหมดระยะที่สำโรง

เมื่อใช้บริการบ่อย ๆ เข้า ผมก็คุ้นจนพอจะจินตนาการได้ว่า ทัศนวิสัยการมองเห็นของงูขณะเคลื่อนไหว ควรจะเป็นเช่นไรบ้าง?

บางครั้งพอลงจากรถเมล์แล้ว อดีตปลาแซลมอนเมื่อหลายชาติภพก่อนอย่างผม ยังเผลอนึกว่าตัวเองเป็นงูไปเลย

จากการสำรวจด้วยสายตาแบบมองกวาดคร่าว ๆ รถป.อ. สาย 545 ไม่ค่อยจะมีใคร “บ้าเลือด” ขึ้นจากต้นทางไปลงเอาเกือบ ๆ ปลายทางเหมือนอย่างผมหรอกนะครับ

มันเป็นเส้นทางที่ออกแบบให้อ้อมเมือง ผ่านย่านชุมชนคับคั่งมากมาย เพื่อให้โดยสารกันในระยะสั้น ๆ (รถเมล์สายนี้ จึงมีคนใช้บริการขึ้น-ลงสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก)

ด้วยเหตุนี้ เวลาผมหยิบเงินมาชำระค่าโดยสาร พร้อมทั้งบอกที่หมายว่าลงแถว ๆ “บางจาก” กระเป๋ารถเมล์มักจะมองผมด้วยสายตา ซึ่งผ่านการถอดรหัสออกมาเป็นถ้อยคำได้ว่า “นายแน่มาก ใจถึงจริง ๆ และเป็นของแปลกโดยแท้”

ตอนนั่งเรือด่วนจากใจกลางเมืองมาถึงท่าน้ำนนท์ ผมใช้เวลาราว ๆ สี่สิบถึงห้าสิบนาทีเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรือด่วนหรือเรือด่วนมากหรือเรือด่วนที่สุด ซึ่งมีจำนวนการจอดป้ายเทียบเท่าไม่เท่ากัน) แต่ตอนนั่งรถป.อ. สาย 545 ไปจนถึงบ้าน เวลาโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่สามชั่วโมงยี่สิบนาทีจนถึงสามชั่วโมงสี่สิบนาที (ครั้งที่กินเวลาน้อยสุดคือ สองชั่วโมงสี่สิบนาที วันนั้นสภาพการจราจรค่อนข้างปลอดโปร่ง)

ถึงบ้านแล้ว ผมก็อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่า สมทบเติมเข้าไปอีกแค่ยี่สิบนาที ก็จะใช้เวลาเท่ากับนั่งรถทัวร์ไปกลับยังจังหวัดเพชรบุรีได้สบาย ๆ

อย่างไรก็ตาม เวลาผมมีเยอะนะครับ และปราศจากความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบ การนั่งเรือด่วนตบท้ายด้วยรถเมล์สายอ้อมโลก จึงไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนยุ่งยากอันใด แต่เป็นความรื่นรมย์อีกแบบหนึ่งซึ่งเมื่อยตูดนิดหน่อย

ที่สำคัญคือ ช่วงฝ่าการจราจรบนท้องถนน ซึ่งมีตั้งแต่ติดขัด ติดหนึบ ติดแน่น ไปจนกระทั่งถึงขั้นตึ๋งหนืดแกะไม่ออก ไม่ยอมเคลื่อนขยับเป็นเวลานาน ๆ ผมถือเป็นโอกาสทองในการคิดเรื่อยเปื่อยเรื่องงาน บางทีก็นั่งอ่านหนังสือหนึ่งเล่มจนจบบนรถเมล์ บางทีก็นั่งพักสายตาบริหารลำคอด้วยการหลับสัปหงก ส่งผลให้ค่าไฟที่บ้านถูกลงไปจมเลย มิหนำซ้ำยังช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อนได้บ้างเล็กน้อย

กระนั้นไฮไลท์ ไคล์แม็กซ์ ทีเด็ด หรือลูกชิ้นที่แท้จริง ในการเดินทางอ้อมโลกกลับบ้าน อยู่ที่ช่วงระหว่างนั่งเรือด่วนนะครับ

จะพูดเป็นเนื้อเพลงว่า “นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด แม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้น ๆ” ก็ได้เหมือนกัน

การนั่งเรือด่วนเจ้าพระยานั้น จะเลือกใช้บริการเวลาไหนก็ล้วนให้ความรื่นรมย์สบายตาสุขใจทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ คือ มีความงามแตกต่างหลากหลายไม่เคยซ้ำกันเลย อันเกิดจากองค์ประกอบห้อมล้อมของแดด ลม และเมฆบนฟ้า ที่แปรเปลี่ยนแสงเงาและบรรยากาศอยู่ตลอดทุกชั่วขณะ

ช่วงที่ผมโปรดปรานมากสุด ได้แก่การเริ่มต้นบริเวณจุดสตาร์ทที่ท่าน้ำราชวงศ์ราว ๆ ห้าโมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่แดดไม่ดุเดือดเกรี้ยวกราดจนเกินไป และพระอาทิตย์ก็มักจะค่อย ๆ คล้อยต่ำควบคู่กับการฝ่าคลื่นเคลื่อนสู่ข้างหน้าของลำเรือ เมื่อถึงท่าน้ำนนท์ก็มักจะเป็นวาระเดียวกับที่ฟ้ากำลังเปลี่ยนสียามใกล้ค่ำ (ผมมักจะถือโอกาสยืนดูแม่น้ำและท้องฟ้าฝั่งตรงข้ามจากบริเวณริมฝั่งอีกประมาณยี่สิบนาที)

ความประทับใจเบื้องต้นในการนั่งเรือด่วนคือ การที่มันเคลื่อนผ่านย่านสำคัญหลายแห่ง ทั้งวัด วัง ตลอดจนอาคารบ้านเรือที่ตั้งแต่สองฝั่งแม่น้ำ

พระปรางค์วัดอรุณนั้น ผมคิดว่ามองจากมุมไหนก็ไม่สวยน่าประทับใจเท่ากับการจับจ้องขณะเรือเคลื่อนผ่านกลางแม่น้ำ

วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังนั้น มุมมองจากบนเรือด่วน ให้ภาพที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากความเคยชินเดิม ๆ บนบก

ผ่านถิ่นย่านสถานที่เหล่านี้ทีไร ผมก็ตื่นตาตื่นใจไม่แพ้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งมักจะชี้ชวนกันดูและหยิบกล้องถ่ายรูปมาบันทึกภาพเก็บไว้ด้วยความตื่นเต้น

ผมมีความลับอย่างหนึ่งจะเล่าสู่กันฟัง นั่นคือ ทุกครั้งที่เรือผ่านบริเวณท่าเตียน ผมจะร้องเพลงหนึ่งขึ้นมาในใจ

เพลงนั้นชื่อ “แม่ค้าตาคม” แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ร้องโดยศรคีรี ศรีประจวบ

เนื้อเพลงมีอยู่ว่า

“พี่พบเนื้อนวล เมื่อนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน เราต่างรักกันเหมือนแฟน เมื่อเรือด่วนแล่นถึงเมืองปทุม เรือด่วนวิ่งไป เหมือนหัวใจพี่ตกหลุม พี่หลงรักแม่เนื้อนุ่ม แม่ค้าสาวชาวบ้านแพน

ไม่เห็นเนื้อนวล พี่นั่งคร่ำครวญใจหมุนเวียน คอยดักน้องที่ท่าเตียน ทุกเที่ยวเรือเปลี่ยนไม่เห็นหน้าแฟน
เรือด่วนกลับไป เหมือนหัวใจพี่ปวดแสน ไม่พบหน้าแม่เนื้อแน่น แม่ค้าบ้านแพนสาวนัยน์ตาคม

เฝ้ามอง มองหาแม่ค้าหน้านวล ทุกเที่ยวเรือด่วน ไม่เห็นนวลน้องพี่หมองตรม
เคยเห็นแม่ค้าตาคม มาซื้อลำใยเงาะส้ม อีกทั้งขนมไปขายเสมอ

แม่ค้าหน้านวล เคยนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน ใยหลบหน้าตาหนีแฟน เมื่อเรือด่วนแล่นคิดถึงแต่เธอ
เคยฝากจดหมาย น้ายท้ายเรือให้เสมอ พี่หลงคอยคอยน้องเก้อ เฝ้าหลงคอยเธอท่าเตียนทุกวัน”

ทุกวันนี้ เรือด่วนสายบ้านแพนกลายเป็นอดีตที่ไม่หวนกลับไปเรียบร้อยแล้ว ผมเองก็โตไม่ทันได้เห็น แต่เพลง “แม่ค้าตาคม” ก็ได้บันทึกภาพบรรยากาศเหล่านี้ไว้อย่างมีชีวิตชีวา เปี่ยมอารมณ์สุขโศกสะเทือนใจรวมทั้งสะท้อนเล่านิยายรักเศร้า เปี่ยมด้วยอารมณ์สุขโศกสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้น

หนทางอันไกลและกินเวลาค่อนข้างนานในแต่ละเที่ยวขึ้น-ล่อง ทำให้เรือด่วนสายบ้านแพน (รวมทั้งสายอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน) สามารถเป็นจุดเกิดนิยายรักระหว่างการเดินทางทำนองนี้ได้ไม่ยากนะครับ

นั่งเรือผ่านท่าเตียนครั้งใด ผมก็มักจะนึกถึงเพลงนี้เป็นสิ่งแรก ๆ และรำลึกนึกได้ทีไร ผมก็รู้สึกว่ามันโรแมนติคเศร้าจับใจจังเลย

ภาพชีวิตความเคลื่อนไหวของผู้คนบนเรือและริมน้ำทั้งสองฝั่ง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีเสน่ห์ดึงดูดให้ผมรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ ฝูงชนบนเรือที่กำลังเดินทางกลับบ้าน, เด็ก ๆ ลอยคอเกาะบันไดที่ท่าน้ำ, เรือหางยาวลำเล็กกระจ้อยแล่นตัดคลื่นเลาะลัดเข้าสู่คลอง, ผู้เฒ่านั่งตกปลาริมฝั่งพร้อมหลาน, หญิงสาวนั่งเล่นอยู่บนม้ายาวที่นอกชาน ฯลฯ

ภาพเหล่านี้ ทำให้ผมซึ่งเป็นเพียงผู้ผ่านทางรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ได้มีโอกาสถอยห่างจากวิถีความเป็นอยู่ของคนเมืองออกมาชั่วครู่ชั่วขณะ และได้รับสัมผัสบรรยากาศกึ่ง ๆ ชนบทบ้าง อย่างน้อยที่สุด มันก็ยังเป็นชีวิตที่แนบชิดอยู่ใกล้กับธรรมชาติอย่างเด่นชัด

มีรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยเยอะแยะมากมาย ให้ผมใช้สายตาเก็บเกี่ยวขณะเดินทางบนเรือด่วนเจ้าพระยา แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดก็คือ เมื่อพ้นจากเขตใจกลางเมืองแล้ว ห้วงยามหนึ่งที่เรืออยู่กลางแม่น้ำอันกว้างใหญ่ หากเหลียวมองไปทางฝั่งขวาของแม่น้ำ (หรือทางทิศตะวันตก) ซึ่งปราศจากตึกสูงมาบดบังกีดขวาง จะเห็นเมฆบนฟ้าโค้งครอบเป็นวงกว้างสุดลูกหูลูกตา

ฟ้าตรงนั้นงามเข้าขั้นอัศจรรย์แบบไม่ซ้ำกันทุกเมื่อเชื่อวัน ความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ทำให้ผมรู้สึกเล็กลง-ทั้งทางกายภาพและอัตตาที่อยู่ในใจ-กระทั่งต้องมองดูด้วยความสงบเสงี่ยมเจียมตัว ควบคู่ไปกับนอบน้อมคารวะ

คล้ายกับว่าผมได้ปลดเปลื้องโยนความวุ่นวายต่าง ๆ ในชีวิตทิ้งไป เหลือเพียงอารมณ์ดื่มด่ำกับความงามเรียบง่ายล้ำลึก และรู้สึกสงบนิ่งชั่วขณะ
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)













ไม่มีความคิดเห็น: