วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการล้มเหลว โดย "นรา"


ระหว่างแกล้ง ๆ นั่งเล่นรอให้ลูกแอ๊ปเปิ้ลตกหล่นใส่หัว อย่างยืดเยื้อยาวนานหลายเดือนพอ ๆ กับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ฯ จู่ ๆ ผมก็พลันคิดอะไรขึ้นมาได้สองสามเรื่อง

อันดับแรกก็คือ สมมติว่ามีแอ๊ปเปิ้ลตกใส่หัวจริง ๆ สิ่งที่ผมนึกออก กลับไม่ยักใช่ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงเหมือนกับที่เซอร์ไอแซค นิวตันเคยค้นพบแฮะ แต่เป็นสำนวนภาษิตที่เคยได้ยินมาว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”

ถัดมา คงจะเป็นชาติหน้าตอนบ่าย ๆ next life in the afternoon นู่นแหละครับ กว่าลูกแอ๊ปเปิ้ลจะมาหล่นใส่ ในเมื่อผมนั่งเล่นอยู่ที่ร้านกาแฟ ซึ่งอย่าว่าแต่จะมีแอ๊ปเปิ้ลเลย แค่ต้นไม้อะไรก็ได้ ก็ดูจะหายากอย่างยิ่ง ที่มีเยอะแยะชุกชุมคือ “ขาใหญ่” ของจริง อย่างช้างตัวโต ๆ และทีมงานที่ยืนให้บริการพี่น้องประชาชนที่เดินผ่านไปมา

โอกาสที่ผมจะพลั้งเผลอเดินเหยียบอึช้าง จึงง่ายและมีความเป็นไปได้มากกว่า รอคอยให้โดนแอ๊ปเปิ้ลตกใส่หัวเยอะทีเดียว

สิ่งสุดท้ายที่ผมนึกได้ หลังจากนำเอาสองเรื่องแรกมาประกอบรวมกันก็คือ ข้อสรุปว่า ผมเป็นบุคคลผู้ประสบความล้มเหลวหลาย ๆ อย่างในชีวิต

หากจะมีอะไรประสบความสำเร็จอยู่บ้างเล็กน้อย ก็น่าจะเป็นความเชี่ยวชาญ, สันทัดจัดเจน เป็นเกจิแห่งความล้มเหลวล้วน ๆ เลย

จะลองไล่เรียงดูนะครับว่า มีสิ่งใดบ้างที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ความล้มเหลวส่วนตัวของผม

เริ่มกันด้วยหน้าที่การงานก่อนดีกว่า นับจากเรียนจบจนถึงปัจจุบัน ตลอดเวลายี่สิบกว่าปี ผมไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำงานประจำ มีสังกัด กินเงินเดือน แม้จะไม่ย่ำแย่ถึงขั้น “เข้าแก๊งไหน หัวหน้าตายหมด” แต่ลูกกระจ๊อกอย่างผมก็เละตลอด ไม่เคยปักหลักทำงานที่ไหนได้นานเกินหนึ่งปี เป็นต้องสิ้นสุดลงเอยด้วยการลาออก หรือมิฉะนั้นก็ได้รับการบอกกล่าวอ้อม ๆ จากเจ้านายอย่างสุภาพว่า “ออกเหอะ”

นามบัตรของผมที่ทางบริษัทต่าง ๆ ทำให้ จึงมีเก็บไว้เป็นกองกะตั๊กหลากรุ่นหลายดีไซน์สารพัดหน่วยงาน โดยแทบไม่เคยได้ใช้จ่ายแจกให้แก่ผู้ใด และสะสมเอาไว้เยอะพอที่จะชั่งกิโลขายได้สบาย ๆ

เรื่องนี้มาได้รับการยืนยันอีกครั้ง เมื่อคุณพี่ขุนทอง อสุนี ฯ หมอดูไพ่ยิปซีและนักวิจารณ์เพลงรุ่นพี่ ได้ทำนายทายทักชะตาของผม หลังจากเปิดไพ่สองใบแรก คุณพี่เขาก็ฟันธงทันทีว่า “ดวงมึงเป็นดวงฟรีแลนซ์ ทำงานประจำที่ไหนไม่รุ่งหรอก”

พี่ขุนพยากรณ์ให้ผมได้เพียงเท่านี้ ลูกค้าที่นัดหมายไว้ก็ปรากฎตัว การทำนายโชคชะตาของผมจึงต้องยุติลงกลางคัน “เอาไว้ดูต่อวันหลัง”

เวลาผ่านไปจากเหตุการณ์ครั้งนั้นร่วม ๆ สิบปี พี่หมอขุนทองก็ไม่เคยดูดวงฟรี ๆ ให้ผมอีกเลย

คิดดูก็แล้วกันนะครับ ขนาดเรื่องดูดวงผมยังล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะเลย

ยังสงสัยอยู่ไม่หายนะครับว่า นอกจากจะทำงานประทำที่ไหนไม่เจริญรุ่งเรืองแล้ว ดวงฟรีแลนซ์ของผมนั้นเป็นอย่างไร? มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า คำพยากรณ์เต็ม ๆ อาจจะเป็นดังนี้คือ “ดวงมึงเป็นดวงฟรีแลนซ์ ทำงานประจำที่ไหนไม่รุ่งหรอก เป็นฟรีแลนซ์ต่อไปเถอะ ถึงจะไม่รุ่งเอาดีไม่ได้เหมือนกัน แต่มันก็สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่สาธารณชนน้อยกว่า”

อย่างไรก็ตาม คำทำนายทายทักของพี่ขุน ก็ทำให้ผมค้นพบความล้มเหลวลำดับต่อมา นั่นคือ ความไม่สามารถในการเข้าสังคมใช้ชีวิตปะปนกับคนหมู่มาก

ผมเป็นมนุษย์ที่มีความขัดแย้งในตัวข้อหนึ่งสูงมาก คือ สามารถอยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่ต้องพบปะใคร และปิดปากเงียบสนิทปราศจากการพูดคุยได้ต่อเนื่องหลาย ๆ วันอย่างปกติสุข แต่...แต่..อย่าให้ออกนอกบ้านมาเจอคนรู้จักนะครับ เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม กลายเป็นคนช่างพูดช่างจำนรรจาทันที

เพราะเหตุนี้ เวลาเจอพี่น้องผองเพื่อนตามงานฉายหนังรอบสื่อมวลชนทีไร กลับถึงบ้านแล้วผมก็มักจะเกิดอาการเจ็บคอ เนื่องจากใช้พลังงานในการพูดคุยไปเยอะ

ที่สำคัญคือ เรื่องราวประเด็นเยอะแยะสารพัดใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในหัว และครุ่นคิดตระเตรียมไว้สำหรับจะเขียน ผมก็ได้ “ปล่อยของ”ออกไปหมดสิ้นในวงสนทนา กระทั่งไม่หลงเหลือความอยากและแรงจูงใจที่จะเล่าเรื่องเดิมอีกครั้งในรูปแบบของการเขียนหนังสือ รวมทั้งสมาธิกระเจิงแตกซ่าน

เวลา “ปรากฎตัว” ออกงานคราวใด ชีวิตราชการดวงชะตาฟรีแลนซ์ของผม มักจะโดนกระทบแรง ๆ จนปั่นป่วนรวนเรเขียนหนังสือไม่ได้ไปอีกหลายวัน ท้ายที่สุดผมก็ต้องยึดนโยบาย “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” ใช้ชีวิตนิ่ง ๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ประหยัดถ้อยคำเหลือเท่าที่จำเป็นแก่การยังชีพเท่านั้น

พออยู่บ้านนาน ๆ จนเคยชิน ถึงคราวต้องออกงานไฟต์บังคับที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ผมก็ค่อย ๆ โน้มเอียงเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพวก “ใบ้แหลก” ขาดความสันทัดในการพูดคุยเจรจากับผู้คน จะเอื้อนเอ่ยอันใดก็เงอะงะติดขัดเรียงลำดับสับสนไม่ได้ใจความ จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ล้มเหลวทางด้านการสนทนาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขา

ยิ่งเรื่องจำหน้าผู้คนจำชื่อใครต่อใครที่เคยรู้จักไม่ได้ ความล้มเหลวในด้านขี้ลืมนี้ถือได้ว่า ผมเป็นหนึ่งในตองอู ไม่ยอมเป็นสองรองจากผู้ใดทั่วทั้งแผ่นดิน

ผมนั้นเคยมีเกียรติประวัติน่าเกลียด เป็นมนุษย์ความจำดี (สาขาย่อยใฝ่ต่ำไม่รักดี) นะครับ คือ ช่างจดช่างบันทึกระลึกถึงอะไรต่อมิอะไรได้เยอะแยะยั้วเยี้ยยุ่บยั่บ เสียแต่ว่าเข้าข่าย “เรื่องที่ควรดันไม่จำ และเรื่องที่จำดันไม่ควร”

ดังนั้นผมจึงสอบตกได้คะแนนศูนย์จากการสอบท่องอาขยานสมัยเรียน และโดนครูตีเพราะไปเขียนกวีนิพนธ์พิลึก ๆ ที่เคยอ่านเจอแล้วเก็บมาจำจนขึ้นใจ อย่างเช่น “บนท้องฟ้ามีดวงดาว ประเทศลาวมีข้าวเหนียว ในกะทะมีไข่เจียว ใจฉันดวงเดียวมีแต่เธอ” หรือ “หวานสุดหวานวูบไหวเมื่อได้เห็น หัวใจเต้นเริ่มต้นดนตรีหวาน แสยะยิ้มหวานหยดรดวิญญาณ โรงน้ำตาลตั้งที่หน้าสองตานาง” ไว้บนกระดานดำหน้าห้อง

ล่าสุดผมพัฒนาก้าวไกลไปอีกหนึ่งสเต็ป ด้วยการจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นผ่านพ้นหมาด ๆ ไม่ได้เลย

ที่ปรากฎบ่อย ๆ เนือง ๆ คือ การส่งงานเขียนทางอีเมล์ ซึ่งผมทำทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบครบถ้วนหมด แต่มักจะลืมแนบไฟล์ต้นฉบับให้แก่ผู้รับ

ประเภทเพิ่งดูหนังและเพิ่งเขียนถึงไม่ทันไร จู่ ๆ ก็จำไม่ได้ ต้องเสียเวลาอยู่ครึ่งค่อนวันมานึกชื่อเรื่อง อันนี้เป็นเหตุการณ์ปกติสิว ๆ เล็กจิ๋วมาก

เชื่อว่าหากไล่เรียงโดยละเอียด แต่ละวันผมลืมนั่นลืมนี่ เกินสิบอย่างแน่นอน

ความจำอันล้มเหลวของผม ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาใหญ่อีกประการ นั่นคือ แต่ละวันเมื่อออกจากบ้าน ผมจะใช้เวลาว่างคิดประเด็นต่าง ๆ สำหรับงานเขียนในวันรุ่งขึ้น ซึ่งผมเรียกของผมว่า เขียนหนังสือในหัว

ผมเขียนหนังสือในหัวทุกวัน (วันละหลายชิ้นหลายประเด็นด้วย) บางเรื่องก็คิดจนเสร็จสรรพ บางเรื่องก็ทิ้งค้างไว้ บางเรื่องก็เขียน (ในหัว) ซ้ำแล้วซ้ำอีก

การณ์จึงกลายเป็นว่า บ่อยครั้งเรื่องที่ผมคิด ๆ ไว้ ก็ไม่เคยเขียนออกมาจริง ๆ บนหน้ากระดาษ เพราะเขียนในหัวอยู่บ่อย ๆ จนคุ้น กระทั่งเผลอนึกว่าได้เขียนไปแล้ว
แย่กว่านั้นก็คือ บางเรื่องเขียนเสร็จ จึงค่อยมาพบสัจธรรมว่า เป็นประเด็นซ้ำกับที่เคยเขียนถึงไปแล้วไม่ต่ำกว่าสามครั้ง แต่ผมดันจำไม่ได้ นึกว่าแค่คิดบ่มไว้ในใจเรื่อย ๆ จนสุกงอม จึงลงมือเขียนออกมา กลายเป็นสำเนางานเก่าผลิตซ้ำโดยไม่รู้ตัว

มีตลกสังขารที่ได้ยินได้ฟังกันมาบ่อย ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาขี้หลงขี้ลืม นั่นคือ การจดบันทึกกันลืม เพื่อที่จะจำไม่ได้ในเวลาต่อมาว่า จดเอาไว้ตรงไหน และหาสมุดบันทึกไม่เจอ

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบ่อยมาก และขำไม่ออก

ทุกวันนี้ผมก็เลยมีสมุดบันทึกวางเกะกะซุกซ่อนอยู่เต็มห้องนอนประมาณ 50 เล่ม (ซึ่งเนื้อความในนั้นน่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่นักโบราณคดีที่มาพบเข้าในอนาคตข้างหน้า)

ผมเคยพยายามที่จะเขียนไดอารี บันทึกสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นกิจลักษณะ แต่แน่นอนว่า ลงท้ายแล้วก็ล้มเหลวกระจายเหมือนเดิม

ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไม? ผมเขียนหนังสือเป็นอาชีพ การบันทึกไดอารี น่าจะสอดคล้องกับความถนัดสันทัด แต่พอเปิดสมุดหยิบปากกาขึ้นมา ในหัวของผมกลับเคว้งคว้างว่างโหวง เหมือนโดนขโมยสมองไปหมดเกลี้ยง เขียนอะไรไม่ออก เกิดอาการทื่อตื้อตีบตันอย่างฉับพลัน

ประมาณว่า ให้ผมกัดฟันกลั้นใจฝึกหัดเขียนเรื่องสั้น นิยาย แต่งกลอน หรือเขียนตำรับตำราผลิตงานวิชาการ น่าจะง่ายกว่าเอาดีทางด้านการบันทึกไดอารีเยอะเลย

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวในการเขียนไดอารีนั้น โดยมากเกิดจากการขาดวินัย ไร้ความสม่ำเสมอ แต่สำหรับผม-ซึ่งมีวินัยกับการเขียนหนังสืออยู่พอสมควร-เดาเอานะครับว่า น่าจะเป็นเรื่องของความไม่เชื่อมั่น และรู้สึกตะขิดตะขวงใจจนเขียนไม่ออกมากกว่า

ผมเขียนหนังสือมานานเกือบ ๆ 20 ปี มีมิตรรักแฟนเพลงติดตามจำนวนหนึ่ง มีเสียงตอบรับในทางบวกอยู่พอสมควร แต่ขอสารภาพว่า ผมนั้นมีอาการวิตกจริตและความกลัวอยู่เต็มปรี่ท่วมท้น

ความกลัวอย่างหนึ่งซึ่งหยั่งรากฝังลึกในใจผมก็คือ กลัวว่าผมจะคิดอะไรไม่ออก กลัวว่าจะเขียนหนังสือไม่ได้

นับตั้งแต่วันแรกที่เพิ่งเตาะแตะหัดเขียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พูดให้หวือหวาหน่อยก็คือ ทุก ๆ วันผมใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับความกลัวเช่นนี้ จนกระทั่งกลายเป็นเพื่อนสนิท เป็นเงาที่สองคอยเกาะติดตามตัวตลอดเวลา

ผมรับมือกับความกลัวดังกล่าว ด้วยการพยายามตื่นแต่เช้า เพื่อลงมือเขียนหนังสือทุกวัน หากสามารถทำงานจนเสร็จและรู้สึกพึงพอใจ วันนั้นผมจะเป็นฝ่ายพิชิตความกลัวลงได้ และมีความกลัวระลอกใหม่สำหรับวันรุ่งขึ้นเข้ามาแทนที่

เขียน ๆ ไปแล้ว ผมก็รู้สึกว่าตัวผมเองโรคจิตเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

เรื่องสติปัญญาติงต๊องนั้น ผมทำใจปลงตกมานานแล้ว หลังจากล้มเหลวสาหัสกับการพยายามพิสูจน์ให้ใครต่อใครยอมรับว่าเป็นคนปกติ

ยังมีด้านที่ผมล้มเหลวจนชำนิชำนาญอีก 9,541,327 อย่าง สาธยายให้ครบถ้วนทั้งหมดไม่ไหวหรอกนะครับ เพราะผมนั้นล้มเหลวสุดขีดในด้านความขยัน

ที่สำคัญ ได้เวลาฤกษ์งามยามเจ๋งเหมาะเหม็งกับการไปนั่งรอให้ลูกแอ๊ปเปิ้ลตกใส่หัวผมอีกแล้วล่ะครับ


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)














3 ความคิดเห็น:

baipai2001 กล่าวว่า...

กำลังอ่านข้าวมันเป็ดอยู่นะคะ แล้วสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่กำลังจะถึงนี้ คุณนราจะไปแจกลายเซ็นต์ไหมคะ จะได้ไปขอลายเซ็นต์ด้วย

narabondzai กล่าวว่า...

งานสัปดาห์หนังสือที่จะถึง ผมไปครับ แต่ไปทำร้ายการเงินในกระเป๋าของตัวเองเฉย ๆ ไม่ได้มีภารกิจต้องไปแจกลายเซ็น (เข้าใจว่าทางสำนักพิมพ์คงปลงตกกับผมแล้วล่ะครับ)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แหะๆๆ แอบตามย้อนมาอ่านบทความเก่าๆใน blog ครับ :-)

ไอ้เรื่องเขียนหนังสือในหัวนี่ ผมก็เป็นเหมือนกันนะครับ นึกว่าเป็นอยู่คนเดียวซะอีกนะเนี่ย บางทีวางแผน คิดประเด็นไว้ซะดิบดี .. พอจะเขียนดันลืมไปซะอีก ... =_=''