วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

ความทรงจำอันรางเลือน โดย "นรา"


หลายวันมานี้ ผมใช้ชีวิตในแบบ “ย้อนยุค” เริ่มตั้งแต่การแวะกลับไปเยี่ยมเยียนทบทวนความหลังยังบ้านเก่าหลาย ๆ แห่ง (ตามประสาคนย้ายบ้านบ่อย) รวมถึงการอ่านหนังสือและดูหนัง อันประกอบไปด้วย “สี่แผ่นดิน”, “บ้านเกิดและเพื่อนเก่า” และหนังเรื่อง Avalon ของแบร์รี เลวินสัน ทั้งหมดนี้เป็นการอ่านซ้ำดูซ้ำ ที่บังเอิญมาพ้องพานกันโดยไม่ได้ตระเตรียมวางแผน และยังละม้ายคล้ายคลึงกันอีก ในแง่ของประเด็นและบรรยากาศ “ถวิลหาอดีต”

ใครจะว่าผม “เล่นกับความหลัง” ก็เห็นจะต้องยอมรับล่ะครับ

ผมนั้นแพ้ทางประเด็นว่าด้วย “ความทรงจำ กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง” มาแต่ไหนแต่ไร เจอะเจอเข้าคราวใด ไม่ว่าจะผ่านทาง การดูหนัง ฟังเพลง หรือหนังสือ เป็นต้องโดนน็อคจนอยู่หมัดทุกที

งานท่วงทำนองนี้ มักฉายภาพวันคืนเก่า ๆ อันเปี่ยมสุข ซึ่งในท้ายที่สุดก็ถูกกาลเวลากลืนกิน กระทั่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นหนึ่งใน “เรื่องเศร้าสากล” ที่สร้างความสะเทือนใจได้ไม่แพ้กรณีอกหักจากความรัก และเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนล้วนมีโอกาสเกิดประสบการณ์ร่วมโดยเท่าเทียมกัน (เรื่องอกหักเสียอีกนะครับ ที่มีรายละเอียดความเจ็บปวดผิดหวังเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน)

เพราะเหตุนี้เอง ถึงแม้ฉากหลังของ Avalon จะเกิดขึ้นที่บัลติมอร์ ในช่วงทศวรรษ 1950 แต่ผู้ชมวงนอกอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ยังสามารถ “จี๊ด” คล้อยตามไปได้ไม่ยาก

Avalon บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวยิวตระกูลคริชชินสกี ซึ่งอพยพจากโปแลนด์มาตั้งรกรากในอเมริกา นอกจากจะสร้างเนื้อสร้างตัวจนฐานะความเป็นอยู่มั่นคงแล้ว พวกเขายังเกาะกลุ่มกันรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีการพบปะชุมนุมสังสรรค์เป็นประจำ ช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลทุกข์สุขกัน

ตัวละครสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องคือ แซม คริชชินสกีในวัยชรา เขามักจะเล่าเหตุการณ์วันแรกที่มาสู่โลกใหม่ให้ลูกหลานฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความภาคภูมิใจ วันนั้นตรงกับวันชาติอเมริกา ตามท้องถนนมีการเฉลิมฉลองอย่างคึกคัก ผู้คนร่าเริง ท้องฟ้าสว่างไสวไปด้วยแสงสีเจิดจ้าจากการจุดพลุ

แซมเข้าใจผิดคิดว่า บรรยากาศห้อมล้อมทั้งหมด คือการต้อนรับที่อเมริกามีต่อคนแปลกหน้าอย่างเขา แม้ในภายหลังเขาจะล่วงรู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร กระนั้นแซมก็ยังถือเอาเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเดินทางมายังอเมริกา

ครอบครัวคริชชินสกี้ ให้กำเนิดทายาทต่อมาอีกสองชั่วคน สำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน บทสนทนาในงานเลี้ยงของคนรุ่นปู่ กลายเป็นเรื่องซ้ำซาก น่ารำคาญ เต็มไปด้วยการถกเถียงในหัวข้อไร้สาระอย่างเคร่งเครียดเอาเป็นเอาตาย เกือบถึงขั้นทะเลาะวิวาท เพียงแค่ว่าญาติคนหนึ่งเดินทางมาถึงอเมริกาในปีอะไรกันแน่

เมื่อโดนเหล่าลูก ๆ ขัดคอว่า ประเด็นที่พูดคุยกันหยุมหยิมเล็กน้อยเกินกว่าจะถกเถียง แซมบอกกล่าวกับลูกชาย ผ่านน้ำเสียงจริงจังเป็นงานเป็นการว่า “ถ้าแกคิดว่า เรื่องพวกนี้ไม่สำคัญ นั่นหมายความว่าแกไม่พยายามจะจดจำ และถ้าแกไม่ใส่ใจที่จะจำ สักวันหนึ่งแกก็จะเป็นฝ่ายหลงลืมทุกสิ่งทุกอย่าง”

ในเวลาถัดมา ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเล่นงานครอบครัวคริชชินสกี การมีสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมถึงฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ความเจริญเติบโตของเมือง ส่งผลให้พวกเขาแต่ละครัวเรือน ต้องโยกย้ายไปยังบ้านใหม่ละแวกชานเมือง (หนังใช้การกำเนิดของสื่อโทรทัศน์ เป็นเครื่องหมายสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด) จากที่เคยอยู่ใกล้ชิด พวกเขาเริ่มเหินห่าง การพบปะชุมนุมกันด้วยความสะดวก เริ่มเจอะเจออุปสรรค มีการเกี่ยงงอนด้านสถานที่ ท้ายสุดพี่กับน้องก็ต้องร้าวฉานตัดขาดเลิกคบหากัน

หนังจบลงอย่างเศร้าสร้อย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ครอบครัวคริชชินสกี กระจัดกระจายใช้ชีวิตแยกอยู่ตามลำพัง บางคนก็ล้มหายตายจาก แซมในบั้นปลายชีวิต อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ

ก่อนหน้านั้น ในค่ำคืนหนึ่งของฤดูร้อน แซมเล่านิทานเรื่องเก่าให้หลาน ๆ ฟัง ด้วยอาการดื่มด่ำกับอดีต เมื่อรู้ตัวอีกทีก็พบว่าเหมือนกำลังนั่งคุยกับตนเอง ผู้ฟังวัยเยาว์พากันหลับใหล

ในบทรำพึงรำพันของแซม เขากล่าวถึงการกลับไปเยี่ยมละแวกบ้านเช่าแห่งแรกในอเมริกา ตึกที่เขาเคยพำนักอาศัยหายไป กลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักรุ่งเรือง เพื่อนบ้านเปลี่ยนโฉมเป็นผู้คนชุดใหม่ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ถนนหนทางจอแจไปด้วยยวดยานคับคั่ง ราวกับเป็นคนละโลก แทบจะไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่านี่คือถิ่นที่เขาเคยใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขเมื่อครั้งอดีต และยังคงนึกถึงมันอยู่เสมอในความทรงจำ

“ทันใดนั้น ปู่ก็พบกับบาร์เหล้าแห่งนั้น ขอบคุณพระเจ้า มันยังอยู่ที่นั่น เหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นเพียงแค่ความเก่าโทรม เมื่อเจอะเจอบาร์ ปู่ดีใจเหลือเกิน มันเป็นสิ่งเดียวที่พิสูจน์ให้รู้ว่า ความหลังของเรายังมีตัวตน”

ผมประทับใจเป็นพิเศษกับฉากนี้นะครับ เพราะในการไปเยือนบ้านเก่าหลายแห่ง (ผมไม่ได้แวะเฉียดไปยังสถานที่เหล่านี้มาร่วม ๆ 20 ปี) เหตุการณ์และรายละเอียดที่เจอะเจอกล่าวได้ว่าเหมือนกันทุกประการ ความทรงจำต่าง ๆ ถูกทาบซ้อนด้วยฉากหลังที่แปรเปลี่ยนแปลกตา ความรู้สึกเศร้าหม่นลึก ๆ เมื่อพบว่าแทบไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป กาลเวลามีอานุภาพในการกลืนกินสรรพสิ่ง รวดเร็ว รุนแรง กว่าที่คาดหมายเอาไว้เยอะ

ที่สำคัญคือ ผมกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับบ้านเกิดของตนเอง

ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ เมื่อเจอะเจอบ้านบางหลัง ผู้คนบางคนที่ผมจดจำได้ ผมจึงตื่นเต้นดีใจจนน้ำตาซึม ความหลังของผมยังมีสายใยบางอย่างเชื่อมโยงไม่โดนตัดขาดเสียทั้งหมด

ในห้วงเวลานั้น บ้านบางหลัง ผู้คนบางคน ก่อให้เกิดความอบอุ่นใจอย่างยิ่ง แม้ว่าในความเป็นจริง ตลอดทั้งชีวิตผมไม่เคยแวะเข้าไปในบ้านหลังนั้น ไม่เคยพูดจาทักทายกับผู้คนเหล่านั้น

แต่ในอดีตของผม บ้านบางหลัง ผู้คนบางคน ก็เป็นเหมือนเพื่อนเก่าที่สนิทสนมกันมาเนิ่นนาน



(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร Hamburger เดือนพฤษภาคม 2550)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความ