วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

นักล่าฝันแห่งเซียร์รา มาเดร โดย "นรา"


เมื่อครั้งแรกเริ่มออกฉายในปี 1948 หนังฟอร์มยักษ์ลงทุนสูง (และถือเป็นงานกลุ่มแรก ๆ ของฮอลลีวูด ที่ยกกองออกไปถ่ายทำในสถานที่จริง แทนการสร้างฉากในโรงถ่าย) เรื่อง The Treasure of the Sierra Madre ผลงานกำกับของจอห์น ฮุสตัน ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น แต่ก็เจ๊งกระจายในด้านรายได้

เหตุผลสั้น ๆ น่าจะเป็นเพราะว่า ตัวหนังนั้นสะท้อนเนื้อหาจริงจัง และไม่ได้มีเรื่องราวลงเอยแบบชื่นมื่นสุขสม (ซึ่งเป็นลักษณะโดยรวมของหนังยุคนั้นที่ผู้ชมคุ้นชินและนิยม) เหนือสิ่งอื่นใดคือ นี่เป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของฮัมฟรีย์ โบการ์ท พระเอกอันดับหนึ่งตลอดกาลแห่งโลกภาพยนตร์

โบการ์ทถือได้ว่าเป็นนักแสดงคนแรก ๆ ที่สวมบทบาทพระเอก “แอนตี้ฮีโร” อย่างต่อเนื่อง และมีภาพพจน์ติดตาผู้ชมเป็นหนุ่มใหญ่ มาดเข้ม สะอาดสะอ้าน เท่ เฉลียวฉลาด เหลี่ยมคมชั้นเชิงแพรวพราว แต่บทตัวเอกใน The Treasure of the Sierra Madre กลับตรงกันข้าม เหมือนคนธรรมดาสามัญทั่วไป ซื่อ สกปรกซอมซ่อ หยาบกร้าน ไม่ได้เก่งกาจหรือมีความสามารถพิเศษ มิหนำซ้ำยังมีข้อด้อยด้านลบอยู่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นความขลาด เห็นแก่ตัว หรือความอ่อนแอ กระทั่งตกเป็นเหยื่อต่อสิ่งเย้ายวน

การเปลี่ยนรูปโฉมบุคลิกเป็นตรงกันข้าม (ด้วยฝีมือการแสดงที่ดีเยี่ยม) ของโบการ์ท ส่งผลให้บรรดามิตรรักแฟนเพลงส่วนใหญ่ในขณะนั้น ซึ่งยังคงผูกพันฝังใจกับภาพเดิม ๆ พากันเกิดอาการ “รับไม่ได้” และกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ-ควบคู่กับเนื้อหาหดหู่มืดหม่นของหนัง-จนทำให้ The Treasure of the Sierra Madre เข้าข่ายงานที่ “มาก่อนกาล” เผชิญกับผลลัพธ์ล้มเหลวน่าผิดหวัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไป The Treasure of the Sierra Madre ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นที่รักของผู้ชมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้มันกลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่คนอเมริกันชื่นชมและภาคภูมิใจ

The Treasure of the Sierra Madre สร้างและดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของบี. ทราเวน (นักเขียนผู้ใช้ชีวิตลึกลับ และทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาไร้คำตอบว่า ตัวจริงของเขาคือใคร?) เรื่องคร่าว ๆ กล่าวถึง เหตุการณ์ในเม็กซิโก ช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งมีคนอเมริกันหลั่งไหลเข้าไปเสี่ยงโชคหวังร่ำรวยเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายคนกลับเผชิญพบสภาพยากไร้แร้นแค้นยิ่งกว่าการใช้ชีวิต ณ แผ่นดินถิ่นเกิดของตนเองเสียอีก

ด็อบบ์สและเคอร์ทินเป็นสองคนในบรรดาผู้อกหักจากการเสี่ยงโชคจำนวนมาก มิหนำซ้ำสภาพผู้พลัดถิ่น ก็กลายเป็นอุปสรรคกีดกัน กระทั่งไม่สามารถรับงานต้อยต่ำ (เนื่องจากจะกลายเป็นที่รังเกียจ จนหมดโอกาสได้ทำงานกับคนอเมริกัน) ทั้งคู่ต้องกินอยู่เยี่ยงคนจรจัด อาศัยการขอเศษเงินจากเพื่อนร่วมชาติที่มีฐานะดีกว่า ประทังชีวิตไปวัน ๆ ซ้ำร้ายเมื่อได้รับการว่าจ้างให้ทำงานก่อสร้าง ชายหนุ่มทั้งสองก็โดนโกงค่าแรงเสียอีก

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ด็อบบ์สและเคอร์ทินได้พบกับชายชราชื่อฮาวเวิร์ด ซึ่งบอกเล่าถึงการขุดพบทองคำบนภูเขาจำนวนมหาศาล ทั้งหมดจึงตัดสินใจร่วมมือกันเดินทางไปเสี่ยงโชค

เหตุการณ์ถัดจากนั้น เป็นเรื่องของการผจญภัยต่าง ๆ นานา เริ่มจากเจอะเจอความยากลำบากในแถบถิ่นแห้งแล้งกันดาร, ดินฟ้าอากาศแปรปรวน, การเสาะแสวงหาแหล่งที่มีขุมทองซ่อนฝังอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน, การคุกคามจากนักเสี่ยงโชคอื่น ๆ ผู้ติดตามมาฉกฉวยโอกาสขอแบ่งปันผลประโยชน์ในเชิงขู่กรรโชก ตลอดจนการรังควานรบกวนของกลุ่มโจร

สองหนุ่ม หนึ่งชรา ฝ่าฟันอุปสรรคคับขันภายนอกครั้งแล้วครั้งเล่ามาได้อย่างหวุดหวิดจวนเจียน แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือ ขวากหนามภายในระหว่างกันและกัน ทองคำมูลค่ามหาศาลทำให้พวกเขาค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่รู้ตัว ต่างฝ่ายต่างเริ่มระแวง ก่อเกิดเป็นความกินแหนงแคลงใจอยู่ลึก ๆ ทีละน้อย ยิ่งนานวันความรู้สึกดังกล่าวก็ทวีเพิ่มมากขึ้นเท่า ๆ กับจำนวนทองที่ขุดค้นพบ

ท้ายสุดเรื่องทั้งหมดก็คลี่คลายลงเอยด้วยโศกนาฎกรรมการสูญเสีย และเต็มไปด้วยโชคชะตาเล่นตลกกลั่นแกล้งอย่างเย้ยหยันเจ็บปวด

ความน่าทึ่งของ The Treasure of the Sierra Madre ก็คือ ฝีมือในการนำเสนอเรื่องราวแบบนิทานสอนใจเชิงเปรียบเปรย ได้อย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ ควบคู่ไปกับการแทรกสลับช่วงจังหวะตื่นเต้นเร้าใจผ่านอุปสรรคต่าง ๆ อย่างราบรื่นกลมกลืน

พูดง่าย ๆ คือ ขณะที่เหล่าตัวละครในหนังมุ่งหน้าตั้งตาขุดทอง จอห์น ฮุสตันก็อาศัยเหตุการณ์เหล่านี้ ค่อย ๆ เจาะลึกเปลื้องเปลือยให้เห็นถึงธาตุแท้นิสัยใจคอของมนุษย์ ออกมาตีแผ่วางเผยให้เห็นได้อย่างหมดจดและสมจริง เป็นการนำเสนอประเด็นคติธรรมหนักหน่วง แนบคู่กับความบันเทิงได้อย่างเท่าเทียมสมดุลย์

ความเหนือชั้นของจอห์น ฮุสตันก็คือ เขาไม่ได้เสนอภาพตัวละครและสร้างสถานการณ์ให้เป็นไปตามแบบแผนเหมือนหนังส่วนใหญ่ ไม่มีตัวแทนคนเลวหรือฝ่ายดีจะแจ้งชัดเจน ไม่มีการทรยศหักหลังฆ่าปิดปากกันเองเพื่อฮุบสมบัติเป็นของตนตามลำพังทันทีที่เจอทอง

เมื่อเนื้อเรื่องเปิดช่องยื่นโอกาสให้ทำเช่นนั้น หนังกลับให้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แสดงถึงภาวะสั่นคลอนทางจิตใจของตัวละคร ซึ่งเกิดความคิดเลวร้ายชั่ววูบขึ้นมา จากนั้นก็พยายามกลบเกลื่อนลบลืมมันไป และค่อย ๆ หวนกลับมารบกวนอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า ท้ายสุดก็ถึงจุดที่ไม่อาจทนต้านทานได้อีก

อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครทั้งหมดในหนัง ต่างล้วนเป็นปุถุชนคนปกติ แต่สถานการณ์พิเศษอย่างการเจอทองต่างหาก ที่เป็นชนวนสำคัญดึงเอาอีกด้านที่ทุกคนพยายามแฝงซ่อนเก็บงำไว้มิดชิด (หรืออาจเป็นได้ว่า พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเองมีนิสัยเสียเหล่านี้อยู่ในตัว) ให้ค่อย ๆ ปรากฎออกมา

สำหรับผู้ชื่นชมนิยมในการค้นหา “เอกลักษณ์” ของคนทำหนังตามทฤษฎี auteur หรือแนวคิดที่ว่า “ผู้กำกับเป็นใหญ่” มีบทบาทสำคัญสูงสุดในหนัง และถือได้ว่าเป็น “เจ้าของและผู้สร้างสรรค์ผลงาน” อย่างแท้จริง จนก่อให้เกิดลักษณะร่วมเฉพาะตัวที่สามารถพบเห็นเชื่อมโยงได้เสมอในผลงานอื่น ๆ ทั้งหมด The Treasure of the Sierra Madre คือตัวอย่างชั้นเยี่ยมในการสะท้อนให้เห็นถึง ประเด็นหลักอย่างหนึ่ง ที่มักจะปรากฎในหนังส่วนใหญ่ของจอห์น ฮุสตัน (เช่น Moby Dick, Maltese Falcon, The Man Who Would Be King)

นั่นคือ แง่มุมเกี่ยวกับมนุษย์ที่พลั้งเผลอแสดงพฤติกรรมท้าทายพระเจ้าโดยไม่รู้ตัว, การต่อสู้ขับเคี่ยวผจญกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินตัว ตลอดจนบทสรุปลงเอยที่แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมที่เต็มไปด้วยความเย้ยหยันเล่นตลก เมื่อภารกิจยากแค้นแสนเข็ญคืบหน้าล่วงใกล้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่แล้วก็กลับล้มเหลวย้อนสู่สภาพดังเช่นช่วงเริ่มต้น ด้วยเหตุผลพื้นฐานที่ว่า สืบเนื่องจากความบกพร่องไม่สมบูรณ์ (หรือนิสัยด้านลบ) อันเป็นธรรมชาติในตัวของมนุษย์นั้นเอง

จอห์น ฮุสตันสร้างผลงานเอาไว้มากมาย ในจำนวนนี้มีทั้งงานอมตะที่ได้รับการยกย่องหลายต่อหลายเรื่อง และมีหนังอีกเยอะแยะที่ล้มเหลวคว่ำไม่เป็นท่า จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากฝีมือของผู้กำกับคนเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องชื่นชม และเป็นหนึ่งในตำนานของฮอลลีวูดก็คือ ฮุสตันแทบไม่เคยทำหนังซ้ำแนวย่ำตามรอยความสำเร็จเดิม ๆ เลยสักนิด

ที่สำคัญ หนังของจอห์น ฮุสตัน ไม่ได้มีลีลาแบบแผนเฉพาะตัวหรือสไตล์อันใดโดดเด่นเป็นพิเศษ ความสามารถของเขาก็คือ เป็น “นักเล่าเรื่อง” ผู้เก่งกาจ ถ่ายทอดเหตุการณ์ได้กระชับ ฉับไว ชวนติดตาม และเสนอประเด็นเนื้อหาสาระที่ต้องการบอกกล่าว ได้กระจ่างแจ่มชัด แหลมคม และมีชั้นเชิงอันแยบยลอยู่เพียบพร้อม

ทุกวันนี้ นักดูหนังรุ่นหลังอาจไม่ตื่นตาตื่นใจกับงานสร้างใน The Treasure of the Sierra Madre อีกต่อไป เนื่องจากมีหนังยุคใหม่ที่แลดู “อลังการ” และทันสมัยยิ่งกว่า ทว่าในด้านของฝีมือการเล่าเรื่องด้วยภาพ (โดยเฉพาะฉากในตลาดช่วงท้าย ซึ่งได้รับการยกย่องมาก ฮุสตันเล่าเหตุการณ์เกือบทั้งหมดผ่านภาษาเม็กซิกัน แต่ผู้ชมก็สามารถเข้าใจและติดตามสถานการณ์ได้ตลอดอย่างน่าทึ่งมาก) กล่าวได้ว่า งานชิ้นนี้เป็นแบบฉบับชั้นดีอยู่เหนือกาลเวลา

เหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นแง่คิดของ The Treasure of the Sierra Madre ไม่เคยเก่าเชยพ้นสมัย ตรงกันข้ามกลับยิ่งลุ่มลึกคมคายมากขึ้นทุกขณะ

จอห์น ฮุสตันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดนักใช้ชีวิตได้อย่างโลดโผนเข้มข้นมีสีสันจัดจ้าน งานของเขาเองก็เช่นกัน เป็นผลพวงแห่งการตกผลึกทางความคิดอันเฉียบคม และเป็นภาพสะท้อนที่ทรงพลัง

ในฐานะหลานชายนอกสายเลือดของลุงฮุสตัน ผมถือว่าการดูหนังอย่าง The Treasure of the Sierra Madre เป็นหนึ่งในวิถีทางการใช้ชีวิตที่โคตรคุ้ม...และเข้าข้างข้อเขียนของตนเองชิบเป๋งเลยครับ
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Play Time นิตยสาร Filmmax ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550 แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อยในการเผยแพร่ลงบล็อก)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับสำหรับบทความ