วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

หุ่นไล่กา (ตอนที่หนึ่ง) โดย "นรา"







เมื่อสองวันที่ผ่านมา ผมมีธุระปะปังต้องแวะเวียนไปยังออฟฟิศของเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งแถว ๆ หลานหลวง ก่อนถึงเวลานัดหมายประมาณสักชั่วโมง ผมจึงแปลงกายเป็น “นักเล่นของเก่า” เดินละเลียดความหลังชมตลาดนางเลิ้ง

ผลก็คือ ไม่ใช่แค่ได้เปิดลิ้นชักความทรงจำหรอกนะครับ แต่เจอเอาโกดังเก็บอดีตขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มเลยทีเดียว

ผมมีความหลังฝังใจมากมายและผูกพันกับแถบถิ่นนั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก (บ้านหลังแรกในชีวิตของผมอยู่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์) แม้จะย้ายหลักแหล่งไปอยู่ที่อื่นในเวลาต่อมา และมีทำเลที่พักขยับเคลื่อนเลื่อนห่างไกลขึ้นเรื่อย ๆ แต่โชคชะตาก็นำพาให้วกกลับเฉียดใกล้อยู่เนือง ๆ ทั้งโดยการเรียนที่พณิชยการพระนคร และการทำงานในหลายวาระโอกาส

ระหว่างเดินเล่นในตลาดนางเลิ้ง ภาพห้องแถวเก่า ๆ ย้อนยุคไปหลายสิบปี ภาพของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันและสุขเศร้าในใจอยู่ลึก ๆ เหมือนได้กลับมาพบเจอญาติผู้ใหญ่ที่ห่างหายไม่เห็นกันเนิ่นนาน

ในรายละเอียดมากมายที่เจอะเจอวันนั้น มีสิ่งหนึ่งซึ่งดูเผิน ๆ ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร แต่กลับชักนำให้ย้อนคิดไปสู่ความหลังอีกอย่าง

ผมเห็นแม่ค้าหาบขายปลาสลิด และที่น่าตื่นตาตื่นใจมากสำหรับผมก็คือ มีไข่ปลาสลิดเยอะแยะเต็มกระจาด

เห็นไข่ปลาสลิดทีไร ผมมักจะนึกไปถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งในหนังโทรทัศน์ชุด “หุ่นไล่กา”

“หุ่นไล่กา” ถือเป็นหนังโทรทัศน์ในดวงใจของคนรุ่นผมและรุ่นใกล้ ๆ กัน โด่งดังเคียงข้างมาพร้อมกับเรื่อง “ขุนแผนผจญภัย” และ “พิภพมัจจุราช” เมื่อไรก็ตามที่พูดคุยกล่าวถึงเรื่องหนึ่ง ก็มักจะต้องพาดพิงเชื่อมโยงสู่อีกสองเรื่องที่เหลือ จึงจะเข้าชุดครบถ้วน และแยกพรากจากกันโดยลำพังได้ยาก

จนถึงทุกวันนี้ผมยังจำเนื้อร้องของเพลงตอนเครดิตไตเติลของหนังทั้ง 3 เรื่องได้ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวหรอกนะครับ ใครต่อใครที่โตทันดู ส่วนใหญ่มักจะจดจำและร้องเพลงเหล่านี้กันได้ทั้งนั้น

เหตุผลก็เพราะทั้ง 3 เรื่อง ล้วนออกอากาศอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะ “หุ่นไล่กา” กับ “ขุนแผนผจญภัย” น่าจะมีอายุบนจอทีวีร่วม ๆ สิบปีเป็นอย่างต่ำ และยึดครองสถิติจำนวนตอนสูงสุดตลอดกาล (ประมาณ 500 ตอนขึ้นไปแน่ ๆ ครับ) ชนิดยากที่จะหาหนังหรือละครโทรทัศน์ยุคหลังเรื่องใดมาลบล้างหรือเทียบเคียงเข้าใกล้

“หุ่นไล่กา” ออกอากาศตอนสิบเอ็ดโมงครึ่งวันอาทิตย์ (ต่อมาในช่วงปีหลัง ๆ อาจมีโยกย้ายเปลี่ยนเวลา อันนี้ผมเริ่มจำได้ไม่แน่ชัด) ทางช่องเจ็ดขาวดำหรือททบ. 5 ในปัจจุบัน

“หุ่นไล่กา” เป็นหนังถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ (และอาจเปลี่ยนเป็นฟิล์มสีในยุคท้าย ๆ) ใครกำกับ ใครเขียนบท ใครแสดงนั้น ยากเกินกว่าผมจะรำลึกนึกถึงได้ รู้และจำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือ สร้างโดยรัชฟิล์มทีวี

แนวคิดหลัก ๆ ของหนังโทรทัศน์เรื่อง “หุ่นไล่กา” มักจะเริ่มต้นด้วยบทสนทนาแบบสภากาแฟ ระหว่างตัวเอกทั้งสาม คือ แม่มด (ซึ่งมีผ้าคลุมศีรษะสีดำทึบ จมูกงองุ้ม หลังโกง เอาเป็นว่าถอดแบบมาจากแม่มดในการ์ตูน “สโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7” น่าจะให้ภาพได้ใกล้เคียงมากสุด) และบริวารคู่ใจทั้งสอง ไอ้ห้อย ไอ้โหน

ไอ้ห้อย (ขอสารภาพว่าผมลำบากใจเหลือเกิน เมื่อต้องเอ่ยนามตัวละครรายนี้ เพราะเกรงผู้อ่านจะนึกเฉไฉไปถึงนักการเมืองคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีนัยยะแอบแฝงในทางนั้นเลยนะครับ) และไอ้โหนนี่เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ และมีเฉพาะส่วนหัว ปราศจากลำตัว

เรื่องราวของ “หุ่นไล่กา” ในแต่ละตอน เริ่มด้วยการพูดคุยกัน จนนำไปสู่การตั้งกระทู้เปิดประเด็น ซึ่งแม่มด ไอ้ห้อย ไอ้โหน มักจะคิดเห็นขัดแย้งไม่ลงรอยกันอยู่เสมอ จึงต้องมีการพิสูจน์ในภาคปฏิบัติ

วิธีพิสูจน์ก็คือ แม่มดใช้เวทมนตร์เสกหุ่นไล่กาให้กลายเป็นคน พร้อมกับมอบของวิเศษประจำตัว (โดยมากมักจะได้แก่พวกเครื่องประดับ เช่น แว่นตา แหวน สร้อยคอ นาฬิกาฯ) จากนั้นก็ส่งไปใช้ชีวิตในเมืองมนุษย์ และเผชิญสถานการณ์สอดคล้องกับหัวข้อที่คุยกันไว้ในตอนต้น

โดยรวมส่วนใหญ่แล้ว บรรดาหุ่นไล่กาทั้งหลาย มักจะบาดเจ็บบอบช้ำเพลี่ยงพล้ำทางใจกลับมา เพราะรู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมมายาของคน และต้องถอดเครื่องประดับคืนของวิเศษให้แก่แม่มด เพื่อขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กาตามเดิม

โครงสร้างคร่าว ๆ เช่นนี้ เปิดช่องเอาไว้กว้างมาก ให้เนื้อหาของแต่ละตอนสามารถพลิกแพลงผูกเรื่องไปได้ต่าง ๆ นานา รวมทั้งสามารถสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมได้สารพัดผ่านอารมณ์ขันอันโดดเด่นลึกซึ้ง

เป็นอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมหยอกล้อแบบนิ่ม ๆ ช่างคิดเฉียบแหลมคมคาย และหนักไปทางเรียกรอยยิ้ม มากกว่าจะเชือดเฉือนเป้าหมายอย่างก้าวร้าวเอาเป็นเอาตาย

พูดอีกแบบก็คือ “หุ่นไล่กา” ดูคล้ายนิทานชาดกสอนใจในเชิงเปรียบเปรย ที่เปลี่ยนมาใช้ฉากหลังเป็นปัจจุบัน เพื่อสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนั้นได้อย่างแยบยล และเข้าขั้นล้ำยุค กระทั่งมานึกทบทวนดูตอนนี้ก็ยังทันสมัย ไม่มีอะไรเก่าเชยเลยสักนิด

แก่นเรื่องหลัก ๆ ของ “หุ่นไล่กา” สามารสรุปความคิดรวบยอด ผ่านเนื้อร้องในเพลงช่วงเครดิตไตเติลเอาไว้ว่า “มองดูโลกสิเจริญไกล มีน้ำมีไฟมีตึกงาม มองดูกายคนเด่นงามดี มองดูใจสิกลับเลวทราม แก่งแย่งชิงดีกัน กล้าถึงกับจะทำ ห้ำหั่นกันวอดวาย ตัวฉันเป็นเพียงหุ่นไล่กา มีหญ้ามีฟางเป็นร่างกาย ไม่มีสมองที่จะคิด ไม่มีชีวิตเช่นใคร ๆ ฉันไปอยู่กับคน ฉันยังทนไม่ไหว อาย อาย อาย อาย ฉันอาย ฉันอาย ฉันอาย ขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กา ยืนเฝ้าท้องนาสุขสบาย ไม่เอาแล้วคน ฉันทนไม่ไหว”

ดังที่บอกเล่ากล่าวไว้แต่ต้นว่า “หุ่นไล่กา” สร้างและฉายยาวนาน มีจำนวนตอนมากมายมหาศาล จึงเป็นเรื่องเหลือที่จะจดจำรายละเอียดได้หมดครบถ้วน มิหนำซ้ำในยุคนั้น บ้านผมยังไม่มีปัญญาซื้อโทรทัศน์ไว้ประจำครัวเรือน ต้องอาศัยดูจากเพื่อนบ้าน ผมก็เลยติดตามอย่างแหว่งวิ่นขาดเป็นห้วง ๆ ยิ่งในยุคท้าย ๆ ผมก็ยิ่งพลัดห่างร้างไกลจากหนังโทรทัศน์ชุดนี้หนักกว่าเดิม เพราะต้องย้ายบ้าน ไม่มีทีวี และไม่รู้จักคุ้นเคยกับใครพอที่จะไปขอติดตามดูได้อีก

ทั้งหมดทั้งปวงของ “หุ่นไล่กา” ผมจึงจำรายละเอียดได้เพียงแค่ 3 ตอน

ตอนแรกที่ยังจดจำได้ก็คือ เรื่องราวว่าด้วยไข่ปลาสลิด แม่มดเสกหุ่นไล่กา ไปใช้ชีวิตเป็นมหาเศรษฐี โดยที่ของวิเศษประจำตัว ได้แก่ เงินจำนวนมหาศาล (เงื่อนไขก็คือว่า หากเงินหมดเมื่อไร จะต้องกลับมาเป็นหุ่นไล่กาตามเดิม)

เมื่อแปลงร่างเป็นมนุษย์ คุณเศรษฐีก็ซื้อบ้าน ซื้อรถ และมีข้าใช้สอยบริวารให้สมฐานะ ดำรงชีวิตอย่างสุขสบายโดยมิได้ประกอบอาชีพการงานใด

เรื่องมาขับเคลื่อนเมื่อวันหนึ่งบ่าวคนสนิท ทำกับข้าวที่ปรุงโดยมีไข่ปลาสลิดเป็นวัตถุดิบ ท่านเศรษฐีหุ่นไล่กาได้ลิ้มรสอันโอชะเข้า ก็เกิดติดอกติดใจขนาดหนัก ถึงขั้นออกคำสั่งระบุว่า ทุกมื้อถัดจากนี้ไป ขอเลือกจำเพาะเจาะจงกินแต่ไข่ปลาสลิดที่นำมาต้มยำทำแกงพลิกแพลงเป็นอาหารสารพัดอย่างเท่านั้น

แรกเริ่ม เจ้าคนใช้ก็ชี้แจงว่า ปลาสลิดนั้นใช่ว่าจะมีไข่ทุกตัว และตัวที่มีก็ใช่ว่าจะประกอบไปด้วยไข่ในปริมาณมากมาย ท่านเศรษฐีจึงออกคำสั่งตัดรำคาญว่า ให้ซื้อปลาสลิดแบบเหมากว้านตามตลาด และเลือกเฟ้นไข่ให้มีพอนำมาจัดสำรับกับข้าวทุกมื้อ

เหตุการณ์ก็เป็นเช่นนี้เรื่อยมา ท่านเศรษฐีกินไข่ปลาสลิดต่อเนื่องติดพันทุกมื้อโดยไม่รู้เบื่อ นานวันเข้ารายจ่ายแบบ “ใช้เยอะเพื่อสิ่งเล็กน้อย” ก็กลายเป็นการล้างผลาญ จนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ค่อย ๆ วอดวายหายหดทีละน้อย วันหนึ่ง “ต้นทุน” ที่แม่มดให้มาก็หมดเกลี้ยง

ผมจำตอนจบไม่ได้ว่า ท้ายสุดแล้วท่านเศรษฐี ต้องระทมซมซานกลับมาเป็นหุ่นไล่กาหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ มีการหักมุมพลิกผันในบั้นปลาย

วันที่เศรษฐีตกเป็นฝ่ายสิ้นเนื้อประดาตัว ความจริงอีกอย่างก็ปรากฎคือ เจ้าคนใช้ผู้นำเสนอเมนูไข่ปลาสลิด กลายเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย

เปล่าทรยศคดโกงหรอกนะครับ คุณพี่เขาแค่นำเอาปลาสลิดที่เป็นส่วนเกินทิ้งขว้าง ย้อนคืนกลับไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด จากนั้นก็เก็บเล็กผสมน้อยหยอดออมสินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีฐานะความเป็นอยู่สวนทางตรงข้ามกับเจ้านาย

ท้ายสุดคนใช้นำเงินของตนมามอบให้เศรษฐี จากนั้นฝ่ายนายจ้างจะรับเงินไว้แล้วใช้ชิวิตต่อตามเดิม หรือปฏิเสธเพราะรู้สึกละอายใจ จึงกลับมาเป็นหุ่นไล่กา ผมก็ออกจะจำได้เลอะเลือนเต็มที อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจำผิดหมดเลยก็ได้นะครับ

“หุ่นไล่กา” ตอนดังกล่าว จะมีแง่คิดอันใดต่อผู้ชมนั้น ในวัยเด็กผมคงเข้าใจไม่แจ่มแจ้งนักหรอก เป็นเรื่องที่ผมมาตรองไตร่ใคร่ครวญคิดได้ก็ต่อเมื่อเติบโตแล้ว

ช่วงที่เพิ่งผ่านตา รวมทั้งตลอดระยะเวลาอีกนานทีเดียว ความทรงจำฝังใจของผมเกี่ยวกับ “หุ่นไล่กา” ตอนนี้มีเพียงแค่ว่าไข่ปลาสลิดเป็นอาหารวิเศษที่ผมอยากกินเหลือเกิน และพยายามจะจินตนาการนึกหน้าตาว่ามันเป็นอย่างไร? มีรสชาติเช่นไร?

ความคิดเช่นนี้ ทำให้ผมดื่มด่ำซาบซึ้งเป็นพิเศษทุกครั้งที่กินปลาสลิด และพยายามควานคว้าค้นหาดูว่า จะมีไข่หลงหูหลงตาซุกซ่อนอยู่ตรงไหนบ้างหรือเปล่า? เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบโปรดปรานการกินปลาสลิดจนถึงทุกวันนี้ นอกจากรสชาติอันเอร็ดอร่อยแล้ว ก็น่าจะเป็นด้วยอิทธิพลอันล้นเหลือจาก “หุ่นไล่กา” ตอนดังกล่าวนี่แหละ

จนถึงปัจจุบัน ผมยังไม่เคยมีโอกาสลองลิ้มชิมรสไข่ปลาสลิดเลย แรกเริ่มเป็นเพราะรู้สึกว่าราคาคงจะแพงเกินฐานะ ทำให้ครอบครัวที่ขัดสนอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ทรุดหนักลงอีก ต่อมาความคิดดังกล่าวก็ค่อย ๆ คลี่คลายหายไป และเกิดเหตุผลใหม่ให้ผมไม่นึกอยากขึ้นมาทดแทน

กล่าวคือ หลายปีที่ผ่านมา ผมจินตนาการถึงไข่ปลาสลิดอยู่เนือง ๆ จนมาถึงตอนนี้ รสชาติของมันคงจะเลยเถิดไปไกลอร่อยเกินความเป็นจริงอยู่เยอะ ผมจึงไม่อยากทำอะไรที่หักหาญกระทบรบกวนความฝันแบบเด็ก ๆ ของตนเอง

เป็นความฝันแบบเด็ก ๆ ที่ผมนึกถึงทีไรก็มีทั้งความสุขใจและหม่นเศร้า ด้านหนึ่งมันเชื่อมโยงผมไปถึงหนังโทรทัศน์ที่ผูกพันสนิทแนบแน่นประทับใจ และมีส่วนปลูกฝังจิตสำนึกดีงามหลายอย่างทั้งทางตรงทางอ้อม อีกด้านหนึ่งก็เตือนให้ผมไม่ลืมเลือนความยากเข็ญของครอบครัวครั้งวัยเยาว์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนึกคิดต่อเนื่องไปถึงความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำของเตี่ยและแม่ในครั้งนั้น



(เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

ไม่มีความคิดเห็น: