วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

ใครหนอจะกินน้ำก่อนใคร โดย "นรา"


มีคนถามผมบ่อย ๆ ว่า ดูและเขียนถึงหนังมาเยอะแล้ว เคยคิดอยากจะกำกับหนังเองบ้างไหม?

ผมก็ตอบไปบ่อยเท่า ๆ กันว่า ไม่คิด เพราะทำไม่เป็น และปราศจากความรู้โดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีบางวาระโอกาสอยู่เหมือนกัน ที่ผมแอบนึกเพ้อฝันเล่น ๆ ในใจว่า ถ้าได้ทำหนัง ผมอยากจะทำเรื่องอะไร?

มีอยู่ 2-3 เรื่องที่ผมอยากทำ หรืออยากเห็นใครก็ได้สร้างออกมาให้ดู (อย่างหลังนี่น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่านะครับ)

สองเรื่องแรก คือ การดัดแปลงงานเขียน “บ้านเกิดและเพื่อนเก่า” ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ และ “ดวงจันทร์ที่จากไป” ของคุณบินหลา สันกาลาคีรี ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมประทับใจ

ส่วนลำดับสุดท้ายเป็นเรื่องราวประวัติบุคคลที่มีตัวตนจริง นั่นคือ ชีวิตของยายทองอยู่ รักษาพล แม่เพลงพื้นบ้าน

ผมรู้จักเรื่องราวของยายทองอยู่เป็นครั้งแรก เมื่อราว ๆ ปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่ยายเสียชีวิตไปแล้วสองปี จึงไม่ทันมีโอกาสได้ดูการแสดง อันเป็นที่ลือลั่นเล่าขานกันว่า “สนุกถึงอกถึงใจ” เหลือเกิน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในชีวิตที่ผมรู้สึกเสียดาย และคิดว่าวาสนาของผมน้อยไปหน่อย

ผมรู้จักยายทองอยู่ จากการอ่านหนังสือ “สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” ของคุณเอนก นาวิกมูล ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของยายทองอยู่

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองภาค ส่วนแรกคือ การอธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน ส่วนหลังเป็นรวมบทความของนักเขียนหลาย ๆ ท่าน บอกเล่าถึงประวัติ, เหตุการณ์ และความประทับใจที่ได้รับจากการมีโอกาสรู้จักคลุกคลีกับยายทองอยู่

ความรู้เกี่ยวกับยายทองอยู่ของผมจึงมีน้อยนิดแค่เพียงเศษเสี้ยว แต่ก็เยอะเกินพอที่จะทำให้ผมตกหลุมรักและรู้สึกจับอกจับใจต่อชีวิตอันน่าทึ่งของ “แม่เพลงห้าแผ่นดิน” ท่านนี้

ชีวิตของยายทองอยู่นั้น โลดโผนเปี่ยมสีสัน มีอารมณ์สุข โศก ทุกข์ยาก ครบถ้วนทุกรสชาติ และเต็มไปด้วยเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันน่าทึ่งมากมาย

ยายเกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436
ก่อนหน้าที่ยายจะเกิด โรคฝีดาษระบาดครั้งใหญ่ที่นครนายกอยู่นาน ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันไปมากมาย จนในที่สุดเหตุการณ์ก็กลับเป็นปกติ หลังจากนั้นยายก็เกิด และได้รับการตั้งชื่อว่า “ทองอยู่” เพื่อเป็นเคล็ด

วีรกรรมโลดโผนครั้งแรกของยายก็คือ การตัดสินใจหนีออกจากบ้านเมื่อตอนอายุเก้าขวบ เพื่อจะไปหัดเพลง ด้วยใจรักอย่างแรงกล้าและมุ่งมั่น

ยายออกจากบ้านแต่เช้า เอาไข่ต้มห่อพกมาด้วย ไม่ใช่เพื่อกินประทังหิวระหว่างเดินทาง แต่เพื่อบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ไปถึงบ้านหลวงโสภา ตัวเมืองนครนายก (ซึ่งที่นั่นมีการว่าจ้างครูมาหัดเพลงให้แก่เด็ก ๆ อย่างเป็นจริงเป็นจัง) โดยอย่าให้ใครมาตามตัวตัวกลับบ้านได้

เมื่อไปถึงที่หมายได้สักครู่ พ่อของยายก็ตามมาทันและจะพากลับบ้าน แต่หลวงโสภากับครูเพลงได้หว่านล้อมโน้มน้าว ขอให้ยายทองอยู่ได้มีโอกาสฝึกหัดเรียนรู้ตามที่ปรารถนา โดยตกลงกันว่า เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้วค่อยเลิก พ่อจึงยินยอมปล่อยตัว

ผลก็คือ นับตั้งแต่นั้นมา ยายทองอยู่ได้คลุกคลีอุทิศตนเป็นแม่เพลง โดยไม่เคยเลิกร้างห่างหาย ไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคกีดขวาง หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากในการยังชีพหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ตาม

อาจกล่าวได้ว่า ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกเนิ่นนานถึง 83 ปี (ยายทองอยู่เสียชีวิตเมื่ออายุ 92) เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยเจตนารมณ์เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เพื่อเป็นแม่เพลง

เรื่องราวในชีวิตของยายทองอยู่ เข้มข้นยิ่งกว่านิยาย มีทั้งผิดหวัง สมหวังในด้านความรัก ถูกผู้ชายฉุดเอาทำเมีย ลูกเต้าล้มหายตายจากตั้งแต่อายุยังเยาว์ เคยไปเล่นเพลงให้ไอ้เสือดุ เข้ามาเสี่ยงโชคในกรุง อดมื้อกินมื้อ หมดเนื้อหมดตัวเพราะถูกโกง และลุกขึ้นสู้ใหม่ได้อีก ฯลฯ จนมีคนนิยามว่ายายทองอยู่เป็น “นายของชีวิต”

ผมคิดว่า แก่นสารสำคัญในชีวิตของยายทองอยู่ นอกจากหัวใจอันเด็ดเดี่ยวในการมุ่งตามความใฝ่ฝันของตนเองให้ถึงที่สุดแล้ว เคียงข้างกับเรื่องราวของยาย ยังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงเวลาอันยาวนาน จากอดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งทัศนคติและวิธีคิดของยายทองอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยจิตวิญญาณและภูมิปัญญาแบบไทยแท้ ซึ่งนับวันจะยิ่งพบเห็นได้ยาก

เท่าที่ผมอ่านบทความหลาย ๆ ชิ้น พอจะสรุปภาพคร่าว ๆ ของยายทองอยู่ได้ว่า เป็นคนร่ำรวยอารมณ์ขัน ใจนักเลง ฉลาด ตัดสินใจเฉียบขาด ไหวพริบดี ความจำยอดเยี่ยมเป็นเลิศ และเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยหวั่นไหวไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้าง

ประวัติชีวิตส่วนใหญ่ของยายทองอยู่ในวัยสาวและวัยกลางคน อาจจะกระท่อนกระแท่นปะติดปะต่อได้ยาก แต่เรื่องราวช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณของยายเริ่มได้รับการเผยแพร่ จนกระทั่งเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้าง เหตุการณ์ระยะนี้ได้รับการบันทึกเอาไว้ค่อนข้างเด่นชัด

มีเกร็ดเล่าลือสองสามเรื่องเกี่ยวกับยายที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ

เรื่องแรกก็คือ ยายเก็บหมาตัวหนึ่งมาเลี้ยง เป็นหมาตัวเมีย หน้าตาตลกน่าสงสาร ร่างอ้วนเตี้ย ขาคอก ซึ่งมีคนนำมาทิ้งไว้ตั้งแต่ยังเป็นลูกหมา ยายตั้งชื่อมันว่า บุญทิ้ง และมักจะเรียกว่า อีทิ้ง

ยายรักและผูกพันกับอีทิ้งมากถึงขนาด กิน นอน ดูแลกันและกันอย่างใกล้ชิด ถึงขนาดเวลามันป่วย ยายก็เจียดรายได้ที่มีอยู่ไม่มากนัก จับอีทิ้งยัดใส่กระเป๋าเดินทาง หอบหิ้วกระเตงไปหาหมอ

จนเมื่อมันตาย ยายก็จัดการฝังศพมันเป็นอย่างดี ถึงขั้นจะไปนิมนต์พระมาสวดศพให้ แต่พระท่านทราบเสียก่อนจึงไม่ยอมรับนิมนต์ จึงได้เพียงแต่ทำบุญอุทิศส่วนกุศล และอธิษฐานขอให้อีทิ้งมาเกิดเป็นลูกยายในชาติหน้า

เรื่องถัดมาคือ วีรกรรมแบบ “ขาลุย” ของยายทองอยู่ ซึ่งมองเผิน ๆ ก็อาจเหมือนเหตุการณ์แบบ “บ้านนอกเข้ากรุง” ทำเปิ่น ไม่ทันโลก แต่แท้จริงแล้ว ผมกลับคิดว่า ยายทองอยู่เป็นคนทันสมัย (ยายอ่านหนังสือไม่ออก ตามประสาคนชนบทยุคเก่าก่อนที่ไม่ได้ร่ำเรียน ทว่ายายติดตามข่าวสารบ้านเมือง ความเคลื่อนไหวของโลก ผ่านการฟังวิทยุ) การไม่รู้จักเทคโนโลยีหรือความเจริญบางอย่างในเมืองหลวง ไม่ใช่เพราะความล้าหลัง แต่เป็นเพราะแกไม่สนใจและไม่เห็นเป็นสิ่งสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ยายมักจะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถเมล์สาย 39 แต่ไม่เคยรู้ตัวเลขเบอร์ที่หน้ารถ ไม่เคยจำสีสันรูปทรงลักษณะของตัวรถ

ยายขึ้นรถเมล์ทุกคันที่มาถึง แล้วถามคนขับว่าสาย 39 ใช่ไหม ถ้าใช่ก็โดยสารต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าขึ้นผิดก็ลงเดิน (เพื่อจะขึ้นรถคันใหม่ จนกว่าจะถูกต้อง)

ด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ ยายสามารถเดินทางไปไหนมาไหน ทั้งใกล้และไกลอย่างโชกโชนโดยไม่เคยหลงทาง

ครั้งหนึ่งยายทองอยู่เดินทางไปแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ยายเข้าไปในลิฟต์ และเมื่อประตูปิด ยายก็อยู่ในนั้นโดยไม่ขยับไปไหน และสงบนิ่ง ไม่ตื่นตระหนกตกใจ จนกระทั่งมีพนักงานส่งของเข้ามา จึงกดปุ่มส่งยายจนถึงที่หมาย

ผมเดาเอาว่า ขณะติดอยู่ในลิฟต์ ยายน่าจะมั่นใจมากว่า ประเดี๋ยว คงมีคนมาให้บริการอำนวยความสะดวก

เล่ากันว่า เมื่อมีคนพายายทองอยู่ไปเที่ยววัดพระแก้ว ยายเจอะเจอนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พลันก็ตรงรี่เข้าทักทายแสดงน้ำใจในฐานะเจ้าของบ้านที่มีต่อแขกผู้มาเยือนว่า “มอย ยู คัม” เสร็จแล้วก็เดินจากไป ปล่อยให้ฝรั่งรวมทั้งคนที่เผอิญผ่านมาได้ยินได้ฟัง ยืนงงสงสัยว่ายายพูดอะไร (จริง ๆ แล้วยายตั้งใจจะกล่าว “เวลคัม)
มีภาพประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจเกี่ยวกับยายทองอยู่ (ซึ่งผมเสียดายมาก ที่ไม่สามารถนำมาลงประกอบบทความชิ้นนี้ ด้วยข้อขัดข้องทางเทคนิค) ยายได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินอาวุโสดีเด่น สาขาเพลงพื้นบ้าน และรับโล่เกียรติยศจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

จู่ ๆ ยายก็ทำในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง และฮือฮาไปตาม ๆ กัน ด้วยการดึงพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ มาจูบซ้ายจูบขวาอยู่หลายฟอด สมเด็จพระเทพฯ ถึงกับทรงแย้มพระสรวล และได้ตรัสรับสั่งกับยายหลายคำ (ซึ่งยายสารภาพในเวลาต่อมาว่า จำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากมัวแต่ตื่นเต้นปิติยินดี)

ในหนังสือ “สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” มีลงล้อมกรอบคำให้สัมภาษณ์ บทเพลงที่ยายเคยร้อง มีเพลงหนึ่งซึ่งผมอ่านแล้วก็รักมาก และขออนุญาตนำมาลงซ้ำในที่นี้ เนื้อร้องมีอยู่ว่า

“เอย... ฉันจะเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ฉันจะไหว้เทวัญ ขวาซ้าย
วันนี้เราจะสมัคร เราจะมาผูกรัก กับพี่ชาย
ถ้าแม้นว่าใครนี้พี่จ๋า หากว่าไม่รักข้า เต็มใจ
ให้ชีวิตก็มันวายตายเป็นผี ให้มันตายเดี๋ยวนี้ ลงไป
มากินเกลือกันเสียคนละชาม ใครหนอจะกินน้ำก่อนใคร (เอ่ชา)
“ใครหนอจะกินน้ำ ก่อนใคร เรามาลองชั่งความรัก
เถอะของใครจะหนัก กว่าใคร
เราไปซื้อนุ่นสักสองชั่งจีน เราไปซื้อหิน ชั่งไทย
มาชั่ง ความรัก ว่าของใครจะหนักกว่าใคร
นุ่นจม หินลอย พ่อชื่นใจฉันจะคอยดูใจ (เอ่ชา)”

ใครจะรู้สึกเช่นไรไม่ทราบ แต่ผมอ่านแล้วก็รู้สึก “จี๊ด” อย่างแรง นี่เป็นเพลงรักที่โรแมนติกเจืออารมณ์นักเลงโบราณแบบไทย ๆ เรียบง่าย คมคาย และลึกซึ้ง

ยายทองอยู่เริ่มล้มป่วยเมื่อเดือนสิงหาคม 2527 แรกเริ่มแกนอนซมกินอะไรไม่ได้อยู่ที่บ้านนานนับเดือน กว่าจะมีผู้พบเห็นนำส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็วนเวียนรักษาตามที่ต่าง ๆ กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2528

ในช่วงท้าย ๆ สองสามเดือนก่อนที่ยายจะเสียชีวิต ยายทองหล่อ ทำเลทอง แม่เพลงอีกท่านที่เป็นเพื่อนสนิทและเป็นคู่หูในการแสดงมาช้านาน ได้แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ช่วงหนึ่งยายทองหล่อร้องเพลงฉ่อยให้ฟัง ยายทองอยู่ค่อย ๆ จับมือเพื่อน น้ำตาไหล มุมปากสั่นระริก พลันยายทองหล่อก็ร้องไม่ออก..และร่ำไห้

ในหนังที่ผมจินตนาการไว้เล่น ๆ เรื่องราวของยายทองอยู่จะจบลงตรงนี้ เป็นภาพนิ่งขณะนอนป่วยกุมมือยายทองหล่อ พร้อม ๆ กับดนตรีบรรเลงท่วงทำนองหวานเศร้า จากนั้นก็จะแทรกด้วยเสียงร้องเพลงพื้นบ้านเมื่อครั้งอดีตของยายทองอยู่ในท่วงทำนองเนื้อร้องร่าเริงมีชีวิตชีวาเข้ามาทดแทน และทิ้งท้ายด้วยบทสนทนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีคนถามยายว่า “ยายจ๋า...ในชีวิตนี้ ยายรักอะไรมากที่สุด”

คำตอบของยายนั้นสั้นกระชับแค่ว่า “ข้ารักเพลง”



(เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)




1 ความคิดเห็น:

'ปราย กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ เพิ่งทราบว่าพี่มีบล็อกด้วย ขอบคุณนะคะสำหรับหนังสือที่ให้มาในงานสัปดาห์ฯ เพิ่งเก็บลงกล่อง จะเอาไปนอนอ่านที่เชียงใหม่ค่ะ เอาไว้จะส่งข่าวผลการอ่านอีกที :) ขอบคุณ และดีใจที่ได้เจอกันค่ะ