วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

บทเรียนจากไร่อ้อย โดย "นรา"


1

ผมตั้งสัตย์ปฏิญาณตนเอาไว้ว่า จะตัดใจเด็ดเดี่ยวไม่เที่ยวแวะไปเยี่ยมชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ด้วยเหตุผลรวบรัดสองสามประการ

อันดับแรก ลำพังแค่จำนวนหนังสือทั้งหมดที่บุกรุกยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในบ้านตอนนี้ ต่อให้ผมอ่านแบบโหมกระหน่ำเอาเป็นเอาตายวันละหนึ่งเล่ม อย่างเร็วสุดก็ต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี จึงจะผ่านตาครบถ้วน (เขียนถึงตรงนี้ผมก็ท้อและปลงตกขึ้นมาฉับพลัน)

ถัดมาคือ ระยะหลัง ๆ เวลาเดินตรวจราชการตามร้านขายหนังสือทั่วไป ไม่ค่อยจะมีงานดี ๆ เผยแพร่วางจำหน่ายมากนัก หรือถ้าหากจะมี ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่งานในแบบที่เฉียดใกล้ตรงกับความสนใจของผมเลยสักนิด ความตื่นเต้นที่มีต่องานสัปดาห์หนังสือหนนี้จึงจืดจางลดทอนลงไปเยอะ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญสุดคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมมักจะเกิดอาการเลือดเข้าตา ซื้อหนังสือแบบไม่ยั้งมือและไม่ยั้งคิด คราวละหนึ่งกระเป๋าเดินทางใบเบ้อเริ่มเทิ่ม

แย่กว่านั้น งานสัปดาห์หนังสือทุกครั้ง ผมไม่ได้แวะไปแค่วันเดียว แต่ไปทุกวันที่ว่างและมีโอกาส

จบงานแต่ละครั้ง จึงซื้อหนังสือรวมแล้ว สามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางใบเขื่องได้ 5-6 ใบ

ปีนี้ผมจึงพยายามหักห้ามใจ ว่าจะงดเว้นสักครั้ง เพื่อดำรงตนเป็นคนประหยัด

แต่เมื่อถึงเวลาที่งานสัปดาห์หนังสือเริ่มต้นขึ้นจริง ๆ ผมก็เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวกระวนกระวายกระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุข หงุดหงิดงุ่นง่านอยู่หลายชั่วโมง (เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยหัวใจว้าวุ่น) จนท้ายที่สุดก็ตบะแตก “ต้องเสียสัตย์เพื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ”

ผมเคยลองคำนวณราคาหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ในครอบครองเล่น ๆ โดยคิดราคาตามหน้าปก ไม่บวกมูลค่าในความเป็นหนังสือเก่าหรือหายาก (ซึ่งหลายเล่มซื้อมาแพงกว่าราคาตามหน้าปก) สรุปได้ว่า น่าจะหมดเงินไปราว ๆ 2-3 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

เรื่องการซื้อหนังสือแบบบ้าระห่ำไม่ลืมหูลืมตาของผม สามารถมองได้สองมุม ด้านหนึ่งคือความจำเป็นในการเติมอาหารสมอง เป็นการตระเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับทำงานเขียน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็อาจนับเข้าข่ายใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายเหลวแหลกฟุ่มเฟือยได้เหมือนกัน

2

ผมนั้นไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจสตางคะการเลยสักนิด ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ดำรงชีพโดยยึดหลักง่าย ๆ แค่ว่า ใช้เงินอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแค่ให้ไม่เกินเลยรายรับ มีเหลือเก็บออมบ้างเล็กน้อย และระมัดระวังไม่ให้เป็นหนี้ใคร

พูดอย่างถึงที่สุด ถือได้ว่า ผมยังคงใช้สอยอย่างติดประมาทอยู่นะครับ แค่วาสนาดีอยู่บ้างที่รายจ่ายมีจำกัด

จนเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผมจึงได้รู้ซึ้งในรสพระธรรม เมื่อจู่ ๆ รายรับนั้นเกิดติดขัดไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร หนังสือที่ผมเขียนให้ ฉบับหนึ่งติดค้างค่าเรื่องอย่างต่อเนื่องยาวนาน (คิดเป็นจำนวนเงินแล้วก็เยอะจนน่าตกใจ) อีกฉบับหนึ่งทยอยจ่ายเงินล่าช้าร่วม ๆ ครึ่งปี

เท่านั้นยังไม่พอ เกิดรายจ่ายฉับพลันกระทันหัน คือ แม่ผมป่วยไข้ตามประสาผู้สูงอายุ จนต้องเข้าโรงพยาบาลติดกันสองสามครั้งในช่วงไม่กี่เดือน บวกรวมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ผลก็คือ จากที่เคยมีเงินเก็บออมก้อนหนึ่ง ผมกลับกลายเป็นมีหนี้สินจำนวนตัวเลขเท่า ๆ กับที่เคยมีเงินฝากธนาคาร

ผมนั้นมึนตึ้บไประยะหนึ่งเลยทีเดียว พยายามทบทวนดูว่า วางแผนใช้ชีวิตผิดพลาดตรงไหน ก็พบว่า ทุกอย่างดำเนินไปถูกต้องเป็นปกติพอตามอัตภาพ หากจะมีรูรั่วรอยโหว่อยู่บ้างก็คือ ผมลืมนึกถึงปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง

พูดง่ายๆ ผมนั้นใช้ชีวิตแบบมีการวางแผน แต่ที่ผิดพลาดคือ ปราศจากแผนสำรอง แผนสอง แผนสาม ตระเตรียมไว้สำหรับรับมือกรณีฉุกเฉิน

ถึงที่สุด ผมผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้วนะครับ โดยใช้เวลาราว ๆ ครึ่งปี ในการสะสางหนี้สินต่าง ๆ จนหมด และเริ่มต้นเก็บออมได้อีกครั้ง

บทเรียนที่ผมได้รับก็คือ ไม่ว่าอะไรรอบข้างจำย่ำแย่เลวร้ายแค่ไหน อันดับแรกสุด ห้ามใจเสียและท้อแท้สิ้นหวังเด็ดขาด

ขมขื่นเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งที่รู้สึกกันได้นะครับ และสามารถระบายความอัดอั้นด้วยการปรับทุกข์กับเพื่อนฝูง แต่ไม่ควรจมดิ่งอยู่ในอารมณ์หดหู่หมดหวัง กระทั่งสูญเสียกำลังใจโดยสิ้นเชิง

ที่กล่าวกันว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้นั้น เป็นจริงทุกประการ (ไอแซ็ค อาชิมอฟนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ยังตอกย้ำอีกว่า “อะไรที่เกินเลยสติปัญญามนุษย์จะสามารถแก้ไขได้ เราไม่เรียกสิ่งนั้นว่าปัญหา”)

เรื่องที่น่ากลัวก็คือ เวลาเจออะไรร้าย ๆ เรามักจะนึกจินตนาการเลยเถิดไปเสียใหญ่โต และนึกเปรียบเทียบ (กับสิ่งที่ดีกว่า/เหนือกว่า) จนถลำลึกสู่ภาวะเสียขวัญขั้นรุนแรง

สเต็ปของการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ผมคิดว่ามันควรเริ่มต้นที่การมีความหวังเสียก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ ตั้งสติ ทำใจนิ่ง ๆ ไม่ตื่นตระหนก ค่อย ๆ นึกย้อนทบทวนหาสาเหตุต่าง ๆ แล้วจึงลงมือจัดการแก้ไขคลี่คลาย

กรณีของผม จุดใหญ่ใจความแห่งปัญหา มีเพียงแค่ว่า จู่ ๆ รายจ่ายเพิ่มพูนมากขึ้นสวนทางกับรายรับที่ถดถอยน้อยลง

วิธีแก้จึงต้องใช้เงินให้น้อยลง หาเงินให้มากขึ้น

ทำได้ยังไงหรือครับ? ก็แค่ประหยัดและทำงานหนักกว่าเดิมเท่านั้นเอง

เมื่อตอนที่นำพาตนเองเข้าสู่มาตรการมัธยัสถ์ ผมได้พบว่า ที่แล้ว ๆ มาผมใช้ตังค์เหลวไหลอีลุ่ยฉุยแฉกโดยไม่รู้ตัวอยู่เยอะ เช่น กินข้าวมื้อละแพง ๆ หลายร้อยบาท ซึ่งในช่วงรัดเข็มขัดเทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทุกอย่างต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมรายจ่ายเบ็ดเตล็ดอีกเป็นเงินจำนวนมาก

ผมประหยัดด้วยการค่อย ๆ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปทีละอย่างสองอย่าง กินอยู่ให้สอดคล้องกับฐานะการเงิน และควบคุมดูแลระมัดระวังค่าใช้จ่ายให้ลงตัวกับเงินค่าเรื่องที่ได้มา

ทำเช่นนี้อยู่ไม่กี่เดือน รายรับที่ลดน้อยลงก็เพียงพอครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ส่วนเรื่องทำงานหนักนั้น มีหลักง่าย ๆ แค่ว่า เพิ่มจำนวนชิ้นงานเยอะกว่าเดิม (เล็กน้อย) เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น และให้เวลาความใส่ใจกับการทำงานทุกครั้งอย่างถี่ถ้วนกว่าเดิมอีกเท่าตัว

พูดง่าย ๆ คือ ไม่ได้เขียนต้นฉบับแค่ให้พอมีส่งตามกำหนด แต่ควรจะเป็น “งานปั้น” ที่ทุ่มเทจนสุดฝีมือ และหลีกเลี่ยง “งานเผา” เอาตัวรอด

เรื่องทำงานหนัก ผมไม่แน่ใจหรอกนะครับว่าหากประกอบอาชีพอื่น ๆ ผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง? เนื่องจากอ่อนหัดขาดประสบการณ์ แต่สำหรับงานเขียนที่ผมคลุกคลีมานานพอสมควร ผมรู้ว่าสิ่งที่สามารถและอยู่ในวิสัยพึงกระทำได้คือ เขียนให้เยอะขึ้น และเขียนให้เนี้ยบขึ้น

ข้อดีของอาชีพนักเขียน อาจอยู่ตรงนี้เอง คือ สามารถผลิตงานนอกเหนือ “การว่าจ้าง” ได้ตลอดเวลา

ช่วงที่เผชิญวิกฤติย่ำแย่ นอกจากผมจะหาสนามให้ตนเองมีงานเขียนเพิ่มขึ้น เพื่อประคับประคองรายรับรายจ่ายให้พอเหมาะแล้ว ผมยังสามารถหยิบงานเก่ามาขัดเกลาแก้ไขสำหรับรวมเล่ม (ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง) ควบคู่ไปกับการเขียนงานจำนวนหนึ่งเก็บไว้สำหรับอนาคต

ผลสืบเนื่องอีกอย่างที่เกี่ยวโยงโดยอัตโนมัติก็คือ ยิ่งทำงานเขียนหนังสือต่อเนื่องถี่ขึ้นมากเท่าไร โอกาสและเวลาที่จะออกไปเสียเงินนอกบ้านก็ลดน้อยลง ในสัดส่วนสวนทางกันมากเท่านั้นตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าผมจะมีอายุล่วงเลยวัยเด็กไปเยอะแล้ว แต่คำขวัญวันเด็กประเภท “ขยัน ประหยัด มีวินัย ใฝ่คุณธรรม” ยังคงเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ผลเสมอ

ที่สำคัญคือ โปรดอย่าลืมคำว่า “ความหวัง” นะครับ ผมนั้นถึงขั้นเชื่อโดยเคร่งครัดว่า มนุษย์เราสูญเสียอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรทำความหวังหล่นหายไปจากใจโดยเด็ดขาด

ผมนั้นชอบบทพูดคมคายจากตอนหนึ่งในหนังญี่ปุ่นเรื่อง Breath In, Breath Out เหลือเกิน กล่าวคือ หลังเกิดเหตุวิกฤติจนทำให้ตัวละครทั้งหมด “ล้มทั้งยืน” และตกอยู่ในห้วงยามพ่ายแพ้ บาดเจ็บทางใจเข้าขั้นสาหัส ผู้เฒ่าตายายเจ้าของไร่อ้อย ก็ค่อย ๆ ปลอบโยนทุกคนอย่างมีเมตตาและเข้าใจชีวิตว่า

“เสียหายแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก เพราะที่นี่เราสามารถเริ่มต้นลงมือสร้างทุกสิ่งขึ้นมาใหม่ได้เสมอ”

3

งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด ผมสงบเสงี่ยมเจียมตัวและจับจ่ายใช้สอยอย่างสุขุมขึ้นเยอะ ไม่ได้พกพาอารมณ์เสี่ยสั่งลุย ซื้อล้างผลาญราวกับจะไปเปิดร้านหนังสือ เหมือนอย่างที่เคยประพฤติปฏิบัติประจำ

ซื้อแค่พอระงับดับความพลุ่งพล่านในใจไปหนึ่งกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เท่านั้นเอง และแวะเวียนไปเพียงแค่วันเดียว จากนั้นก็วิ่งไล่เตะตัวเองให้นั่งลงหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน (ทุกครั้งที่ครั่นเนื้อครั่นตัวอยากไปอีก)

ถึงผมจะผ่านพ้นห้วงยามวิกฤติไปแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องจำ ห้ามลืมเลือน และพึงใช้ชีวิตถัดจากนั้นด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท

ที่สำคัญ ระหว่างเดินในงานสัปดาห์หนังสือ จู่ ๆ ผมก็โดน “ผีนักวิชาการ” ผู้สันทัดจัดเจนทางเศรษฐศาสตร์และโหราศาสตร์เข้าสิง จนเกิดความรู้สึกว่า ภาวะทางเศรษฐกิจบ้านเราในปีนี้ มีแนวโน้มส่อสัญญาณแสดงอาการที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้ช่วงฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

กลับมาถึงบ้าน ผมจึงรีบลงมือเขียนเรื่องนี้ เพื่อบอกกล่าวต่อมิตรรักแฟนเพลงทุกท่านว่า ได้เวลาที่จะต้องมีวินัย, ประหยัดและทำงานหนัก (ด้วยอารมณ์สนุกครึกครื้นและรักชอบในสิ่งที่ทำ) กันอีกแล้วล่ะครับ



(เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จนถึงวันนี้ ถือว่าไม่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผมเดาแม่น
เศรษฐกิจย่ำแย่จริงตามคาด
อย่างไรก็ตาม ในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ ผมไปหลายวัน และสิ้นเนื้อประดาตัวหมดเงินไปเยอะทีเดียว ด้วยเหตุผลต่างจากปีอื่น ๆ คือ มีหนังสือเก่าจำนวนมากที่ต้องเสาะหาสำหรับงานเมกะโปรเจกต์ แต่ละเล่มราคาค่อนข้างแพงไปตามระดับ "ความหายาก" ผมจึงมีแผลเหวอะหวะจากการโดนพ่อค้าหนังสือเก่า "ฟัน" บวกกำไรเพิ่มเติมเกินราคาหน้าปกไปไกล อยู่หลายสิบแผล)




















3 ความคิดเห็น:

Kon Klang Klang กล่าวว่า...

ชอบหนังไร่อ้อยนี่เหมือนกันค่ะ ปัญหามันเกิดขึ้น แล้วมันก็จะผ่านไปได้ ขอแค่ลงมือทำในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างสุดกำลัง...

เหมือนกันอีกเช่นกันค่ะ ที่ตื่นเต้นทุกทีกับงานหนังสือ ปีนี้ก็หมดไปหลาย เพื่อนบอกว่า ทำราวกับไม่เคยมางานหนังสือไปได้ 55

ขอให้งานเขียนขายดีดีนะคะ

gummy กล่าวว่า...

ในที่สุดก็มาเจอ blog ของนราจนได้

จริง ๆ เราควรจะใช้ชีวิตให้มีสติตลอด
ไม่ว่า เศรษฐกิจจะเป็นยังไง
เราจะรอดทุกสถานการณ์
สู้ ๆ นะ
นรา ขยันอยู่แว้ว
เราดิ ตอนนี้ ชักจะขี้เกียจ

จะมาบอกข่าวว่า หนังสือของ นรา ที่ร้านของเราขายดีสุด หมดก่อนเพื่อนไปแล้ว ภายใน 1 เดือน

ขอให้ชั้นหนังสือมันพร่องอีกสักนิด แล้วจะสั่งมาอีกระลอกหนึ่งน้า

ขอให้สุขภาพของทุกคนในครอบครัวมัสุขภาพที่แข็งแรง
อะไรไม่สำคัญเท่า ร่างการที่สมบูรณ์ ใช่มะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

"ผมชอบงานของพี่จัง" ^_^