วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เขียนถึงอาว์'รงค์ วงษ์สวรรค์ โดย "นรา"


ในบรรดาซือแป๋นอกกระดานดำมากมายหลายท่าน ซึ่งผมถือวิสาสะเรียนรู้แบบครูพักลักจำจากงานเขียนของปวงท่านเหล่านั้น

อาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ถือได้ว่าเป็นครูที่สำคัญยิ่งสำหรับผม

อย่างไรก็ตาม งานเขียนของผม ปรากฎสำนวนภาษาแบบครูอยู่เพียงน้อยนิด หรือแทบจะไม่มีเลย

นี้ก็ด้วยเหตุผลใหญ่ ๆ สองข้อ คือ ผมไม่สามารถและไม่มีวันทำได้เทียบเท่ากับท่านครู ซึ่งบรรลุถึงขั้น “นายของภาษา” โดยแท้ ผมจึงเลี่ยงไปอีกทาง และเรียนรู้แง่มุมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหนักแน่นของข้อมูล, พลังในการบรรยายอันเอกอุยากที่จะหาใครเทียม, ตลอดจนทัศนะคติมุมมองต่อโลกและการมีชีวิต ฯลฯ

ถัดมาคือ งานเขียนของอาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์นั้น มีเคล็ดวิชาสูงสุดอยู่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น “ไม่เหมือนใคร”

ผมจึงเจริญรอยตามครู ด้วยการเขียนในแบบลีลาอันตรงกับจริตของผมเอง และก็ได้เรียนรู้แง่มุมเหล่านี้ชนิดไม่รู้จบจากผลงานมากมายมหาศาลของครูผู้ยิ่งใหญ่

ที่วิเศษมากก็คือ ยามใดก็ตามที่ผมรู้สึกเหนื่อยหน่ายหมดสนุกกับการเขียน พลันเมื่อได้อ่านงานของอาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมก็กลับมาคึกคักกระตือรือล้นสนุกกับการเขียนหนังสือได้ทุกครั้ง

ความสนุกจากการอ่านสำนวนภาษาของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นแรงบันดาลใจถ่ายเทข้ามฟากมาสู่ความรื่นรมย์ในขณะเขียนของผมด้วยนะครับ

ผมไม่เคยมีความคิดอยากเขียนหนังสือให้มีลีลาแพรวพราวเหมือนอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่ทุกครั้งที่ลงมือทำงาน ผมรับอิทธิพลมาจากครูเต็ม ๆ ในแง่ของความพยายามที่จะสร้างความบันเทิง และมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ฝีมือและสติปัญญาจะมีอยู่ให้แก่ผู้อ่าน

เป็นเป้าหมายและความใฝ่ฝันอันดับต้น ๆ ในการทำงานของผมเลยทีเดียว

นอกจากเป็นครูแล้ว งานเขียนของท่านยังชาร์จแบ็ตเติมไฟให้คนขี้เกียจอย่างผมเสมอมา

ผมนั้นไม่เคยพบตัวจริงของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใกล้เคียงสุดก็คือ ไปฟังท่านขึ้นเวทีอภิปรายที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งสมัยเรียน

เมื่อผมทำงานแล้ว ก็มีโอกาส “เกือบ ๆ” จะได้ติดสอยห้อยตามบรรดานักเขียนรุ่นพี่หลายท่าน แวะไปเยี่ยมคารวะครูที่สวนทูนอิน ประมาณสองสามครั้ง แต่ก็เกิดเหตุเฉพาะหน้าหักเห กระทั่งคลาดเคลื่อนมาตลอด

ผมจึงรู้สึกผูกพันกับอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ผ่านทางตัวหนังสือ

กระนั้นก็มีเหตุการณ์ซึ่งเป็น “เรื่องประทับใจ” ลำดับต้น ๆ ในชีวิตของผม

ช่วงเวลาน่าจะอยู่ราว ๆ กลางปี 2547 ผมมีคอลัมน์ใน Metro Life ซึ่งเป็นฉบับพิเศษ พ่วงมากับ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับเสาร์-อาทิตย์” เนื้อหาว่าด้วยการแนะนำหนังสือ

ปกติคอลัมน์ของผมใน Metro Life มักกล่าวถึงผลงานใหม่ร่วมสมัย แต่ก็มียกเว้นอยู่บ้างที่ผมหยิบจับงานมาสเตอร์พีซในอดีตของนักเขียนชั้นครูอย่าง อุษณา เพลิงธรรม, อาจินต์ ปัญจพรรค์ มาเล่าสู่ผู้อ่าน

ข้อเขียนของผมเกี่ยวกับ “เสเพลบอยชาวไร่” ของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เข้าข่ายอย่างหลัง

ผมแนะนำผลงานของนักเขียนรุ่นครูเอาไว้ไม่เยอะนะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก แม้จะมุ่งเขียนในมุมบอกเล่าความประทับใจส่วนตัว ผมก็ยังไม่ค่อยสบายใจนัก เกรงจะพลาดพลั้งหลุดอะไรในทำนอง “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง” ออกไป

หลังจากที่ผมเขียนถึง “เสเพลบอยชาวไร่” ไปได้ไม่นาน ผมก็เจอสถานการณ์ “งานเข้า” มีภารกิจเฉพาะหน้าอย่างอื่นเข้ามาแทรก จนจำเป็นต้องยุติคอลัมน์ใน Metro Life

จนกระทั่งล่วงเข้าสู่กลางปี 2550 ผมเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนตัว จนต้องแก้ไขด้วยการทำงานให้มากขึ้น ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจ “กลับไปตายรัง” เขียนคอลัมน์ในผู้จัดการอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการรวมเล่ม “ซามูไรตกดิน”

ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในการรวมเล่ม มีต้นฉบับส่วนหนึ่งตกหล่นสูญหาย เมื่อคราวที่คอมพิวเตอร์ของผมเจ๊ง และไม่สามารถกู้คืนกลับมา ทางสะดวกที่จะค้นหาข้อเขียนเหล่านั้น ก็คือ การกลับไปที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งยังมีงานของผมเก็บไว้

ควบคู่กับการเข้าไปค้นหาต้นฉบับ ผมก็ถือโอกาสเจรจาความเมืองเรื่องกลับมาเขียนคอลัมน์ไปด้วย

ตอนที่เข้าไปยังออฟฟิศผู้จัดการนั้นเอง รุ่นน้องคนหนึ่งก็หอบหิ้วถุงใหญ่ ๆ ภายในมีพ็อคเก็ตบุคจำนวนมาก ซึ่งสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่งมาให้ผม (เพื่อจะได้เขียนแนะนำลงในคอลัมน์)

เป็นหนังสือที่ค่อย ๆ ทยอยส่งมาในช่วงสองสามปีที่ผมหยุดเขียนไปนะครับ

ในจำนวนนั้น ผมพบซองกระดาษสีน้ำตาล ฉับพลันที่เห็นลายมือจ่าหน้า ผมก็ขนลุกซู่ด้วยความปลาบปลื้มใจ

เป็นลายมือที่ผมคุ้นตา เห็นแล้วก็จำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องกวาดสายตาไปยังชื่อผู้ส่ง

เป็นลายมือของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่งหนังสือ “Casino ดอกไม้บาป” มาให้ผม พร้อมกับลายเซ็น ข้อความว่า “นรา ฝากมาให้อ่านด้วยรัก-ขอบใจ” วันเวลาที่ระบุไว้คือ กุมภาพันธ์ 2548

ที่ผมดีใจมากสุดก็คือ เหล่านี้บ่งระบุให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยอ่านข้อเขียนของผม มิหนำซ้ำแทนที่ผมจะโดนเอ็ดว่า “ทะลึ่ง” ท่านกลับแสดงความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยม

ผมเสียอีกนะครับที่เหลวไหลไม่ได้เรื่อง ได้รับหนังสือจากอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์แล้ว ก็อึกอักทำอะไรไม่ถูก กาลเวลาล่วงผ่านจนทำให้ได้รับหนังสือล่าช้า เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ผมไม่ได้เขียนตอบกลับไป แต่เงื่อนไขแท้จริงยิ่งกว่าสิ่งใดคือ ความไม่เข้าท่าชนิดปราศจากข้อแก้ตัวใด ๆ ทั้งสิ้นของผมเอง

เมื่ออาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์จากไป ผมจึงทำได้มากสุดเพียงแค่ เดินทางสู่เชียงใหม่ เพื่อไหว้เคารพแสดงความอาลัย

ระหว่างเดินทาง รวมถึงช่วงอยู่ในงานที่วัดพระสิงห์ เมื่อญาติมิตรหลายท่านทราบว่า ผมไม่เคยพบปะพูดคุยกับอาว์’รงค์ และไม่เคยเดินทางไปเยี่ยมคารวะท่านที่สวนทูนอินเลย คำถามที่ติดตามมาก็คือ ทำไมจึงเดินทางมาเคารพศพของท่าน

เป็นคำถามที่ไม่เคร่งเครียดจริงจังนะครับ หลายท่านที่มาร่วมงานนี้ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนคุยกัน ก็คล้าย ๆ กับผม คือ ไม่เคยมีโอกาสได้พบอาว์’รงค์มาก่อน ทว่าก็เต็มใจขโมยเวลาอันมีอยู่จำกัด เพื่อเดินทางมาแสดงความอำลาอาลัยต่อ “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร”

ส่วนใหญ่แล้วผมก็ตอบสั้น ๆ แบบคิดอะไรไม่ทันในสถานการณ์เฉพาะหน้าไปว่า “มาเพราะรู้สึกว่าต้องมาและควรจะมา”

จนเมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสขบคิดใคร่ครวญถี่ถ้วนดีแล้ว ผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมเดินทางมาเชียงใหม่ก็เพราะรู้สึกคุ้นเคยผูกพันกับอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ จากการอ่าน

ผมอ่านหนังสือของอาว์’รงค์ ทุกเล่มเท่าที่จะเจอวางขายตามร้านหนังสือ ทุกเล่มเท่าที่มีปรากฎอยู่ตามห้องสมุด

สามารถกล่าวได้ว่า นี่คือนักเขียนที่ผมมีโอกาสติดตามผลงานอย่างต่อเนื่องหลากหลายมากยิ่งกว่าท่านอื่นใด

ผมอ่านจนรู้สึกว่า ตนเองสนิทสนมกับอาว์’รงค์ เสมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เกิดความผูกพันทางใจมากมายเกินกว่าที่จะรู้ตัว

จนถึงวันนี้ การที่ผมพลาดโอกาสไม่เคยได้พบกับตัวจริงของอาว์’รงค์ อาจนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากประการหนึ่งในชีวิต และเป็นสิ่งที่ไม่มีวันจะย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ก็นับว่าผมและนักอ่านทุกท่านยังโชคดี ที่อาว์ฝากผลงานเขียนเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาลเข้าขั้นน่าอัศจรรย์

ผมบอกกับตัวเองว่า คงเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง หากว่าตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักอ่าน แล้วไม่เคยผ่านตางานเขียนของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์เลย...

ครับ คืนนี้และคืนต่อ ๆ ไป ผมก็ยังคงนั่งฟังอาว์’รงค์ พูดคุยทางตัวหนังสือ เล่าอะไรต่อมิอะไรอย่างรื่นรมย์และออกรส

(หมายเหตุท้ายข้อเขียน ผมขออนุญาตเชื้อเชิญมิตรรักแฟนเพลงญาติโยมทุกท่าน ร่วมงาน “ในเงาเวลาของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งคุณ “เป็นหนึ่ง” วรพจน์ พันธุ์พงศ์ กัลยาณมิตรของผม ร่วมกับสมัครพรรคพวกที่รักอีกหลายท่านเกินกว่าจะระบุนามได้หมด ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อแสดงความคารวะและรำลึกถึง “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม

ส่วนหนึ่งของงาน เป็นนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ผ่านเลนส์และสายตาของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ และภาพถ่ายของเต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ (คนนี้เป็นน้องรักที่ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสรู้จักคบหากัน พูดแล้วอาจจะโดนครหาว่า “อวยกันเอง” แต่ผมสรุปสั้น ๆ ได้ว่า เต้เป็นคนที่น่าทึ่งมาก)

งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2552 ที่แกลเลอรี people space แพร่งภูธร (หากไปไม่ถูก น่าจะสามารถสอบถามถึงแผนที่และวิธีเดินทางได้จากเว็บไซต์ http://www.onopen.com/ นะครับ)

วันเปิดงานคือ เย็นวันศุกร์ที่ 1 เวลา 18.00 น. เป็นการรวมญาติ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยเกี่ยวกับอา’รงค์ วงษ์สวรรค์

ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ ที่เหลือมีดังนี้

อาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบนักเขียนรางวัลซีไรต์ บินหลา สันกาลาคีรี ในหัวข้อ จากบินหลาถึงพญาอินทรี
-พบธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ในหัวข้อ แสงสุดท้ายที่สวนทูนอิน

อาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ในหัวข้อ คิดถึง’รงค์ วงษ์สวรรค์ คิดถึงสวรรค์แห่งชีวิต

อาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบ (อดีต) คณะบรรณาธิการ open ครบคน ปราบดา หยุ่น, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กับการเปิดตัวหนังสือ “เสียงพูดสุดท้าย” (รวมบทสัมภาษณ์ของ’รงค์ วงษ์สวรรค์) โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (สำนักหนังสือไต้ฝุ่น) และ “ยี่หวาไชนาทาวน์” เรื่องยาวที่ไม่เคยตีพิมพ์รวมเล่มมาก่อนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (openbooks)

อาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบโตมร ศุขปรีชา และชาวคณะ GMbooks กับการเปิดตัวหนังสือ “แฝงพวงองุ่น” โดย’รงค์ วงษ์สวรรค์




(เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2552 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

หุ่นไล่กา (ตอนที่หนึ่ง) โดย "นรา"







เมื่อสองวันที่ผ่านมา ผมมีธุระปะปังต้องแวะเวียนไปยังออฟฟิศของเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งแถว ๆ หลานหลวง ก่อนถึงเวลานัดหมายประมาณสักชั่วโมง ผมจึงแปลงกายเป็น “นักเล่นของเก่า” เดินละเลียดความหลังชมตลาดนางเลิ้ง

ผลก็คือ ไม่ใช่แค่ได้เปิดลิ้นชักความทรงจำหรอกนะครับ แต่เจอเอาโกดังเก็บอดีตขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มเลยทีเดียว

ผมมีความหลังฝังใจมากมายและผูกพันกับแถบถิ่นนั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก (บ้านหลังแรกในชีวิตของผมอยู่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์) แม้จะย้ายหลักแหล่งไปอยู่ที่อื่นในเวลาต่อมา และมีทำเลที่พักขยับเคลื่อนเลื่อนห่างไกลขึ้นเรื่อย ๆ แต่โชคชะตาก็นำพาให้วกกลับเฉียดใกล้อยู่เนือง ๆ ทั้งโดยการเรียนที่พณิชยการพระนคร และการทำงานในหลายวาระโอกาส

ระหว่างเดินเล่นในตลาดนางเลิ้ง ภาพห้องแถวเก่า ๆ ย้อนยุคไปหลายสิบปี ภาพของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันและสุขเศร้าในใจอยู่ลึก ๆ เหมือนได้กลับมาพบเจอญาติผู้ใหญ่ที่ห่างหายไม่เห็นกันเนิ่นนาน

ในรายละเอียดมากมายที่เจอะเจอวันนั้น มีสิ่งหนึ่งซึ่งดูเผิน ๆ ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร แต่กลับชักนำให้ย้อนคิดไปสู่ความหลังอีกอย่าง

ผมเห็นแม่ค้าหาบขายปลาสลิด และที่น่าตื่นตาตื่นใจมากสำหรับผมก็คือ มีไข่ปลาสลิดเยอะแยะเต็มกระจาด

เห็นไข่ปลาสลิดทีไร ผมมักจะนึกไปถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งในหนังโทรทัศน์ชุด “หุ่นไล่กา”

“หุ่นไล่กา” ถือเป็นหนังโทรทัศน์ในดวงใจของคนรุ่นผมและรุ่นใกล้ ๆ กัน โด่งดังเคียงข้างมาพร้อมกับเรื่อง “ขุนแผนผจญภัย” และ “พิภพมัจจุราช” เมื่อไรก็ตามที่พูดคุยกล่าวถึงเรื่องหนึ่ง ก็มักจะต้องพาดพิงเชื่อมโยงสู่อีกสองเรื่องที่เหลือ จึงจะเข้าชุดครบถ้วน และแยกพรากจากกันโดยลำพังได้ยาก

จนถึงทุกวันนี้ผมยังจำเนื้อร้องของเพลงตอนเครดิตไตเติลของหนังทั้ง 3 เรื่องได้ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวหรอกนะครับ ใครต่อใครที่โตทันดู ส่วนใหญ่มักจะจดจำและร้องเพลงเหล่านี้กันได้ทั้งนั้น

เหตุผลก็เพราะทั้ง 3 เรื่อง ล้วนออกอากาศอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะ “หุ่นไล่กา” กับ “ขุนแผนผจญภัย” น่าจะมีอายุบนจอทีวีร่วม ๆ สิบปีเป็นอย่างต่ำ และยึดครองสถิติจำนวนตอนสูงสุดตลอดกาล (ประมาณ 500 ตอนขึ้นไปแน่ ๆ ครับ) ชนิดยากที่จะหาหนังหรือละครโทรทัศน์ยุคหลังเรื่องใดมาลบล้างหรือเทียบเคียงเข้าใกล้

“หุ่นไล่กา” ออกอากาศตอนสิบเอ็ดโมงครึ่งวันอาทิตย์ (ต่อมาในช่วงปีหลัง ๆ อาจมีโยกย้ายเปลี่ยนเวลา อันนี้ผมเริ่มจำได้ไม่แน่ชัด) ทางช่องเจ็ดขาวดำหรือททบ. 5 ในปัจจุบัน

“หุ่นไล่กา” เป็นหนังถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ (และอาจเปลี่ยนเป็นฟิล์มสีในยุคท้าย ๆ) ใครกำกับ ใครเขียนบท ใครแสดงนั้น ยากเกินกว่าผมจะรำลึกนึกถึงได้ รู้และจำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือ สร้างโดยรัชฟิล์มทีวี

แนวคิดหลัก ๆ ของหนังโทรทัศน์เรื่อง “หุ่นไล่กา” มักจะเริ่มต้นด้วยบทสนทนาแบบสภากาแฟ ระหว่างตัวเอกทั้งสาม คือ แม่มด (ซึ่งมีผ้าคลุมศีรษะสีดำทึบ จมูกงองุ้ม หลังโกง เอาเป็นว่าถอดแบบมาจากแม่มดในการ์ตูน “สโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7” น่าจะให้ภาพได้ใกล้เคียงมากสุด) และบริวารคู่ใจทั้งสอง ไอ้ห้อย ไอ้โหน

ไอ้ห้อย (ขอสารภาพว่าผมลำบากใจเหลือเกิน เมื่อต้องเอ่ยนามตัวละครรายนี้ เพราะเกรงผู้อ่านจะนึกเฉไฉไปถึงนักการเมืองคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีนัยยะแอบแฝงในทางนั้นเลยนะครับ) และไอ้โหนนี่เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ และมีเฉพาะส่วนหัว ปราศจากลำตัว

เรื่องราวของ “หุ่นไล่กา” ในแต่ละตอน เริ่มด้วยการพูดคุยกัน จนนำไปสู่การตั้งกระทู้เปิดประเด็น ซึ่งแม่มด ไอ้ห้อย ไอ้โหน มักจะคิดเห็นขัดแย้งไม่ลงรอยกันอยู่เสมอ จึงต้องมีการพิสูจน์ในภาคปฏิบัติ

วิธีพิสูจน์ก็คือ แม่มดใช้เวทมนตร์เสกหุ่นไล่กาให้กลายเป็นคน พร้อมกับมอบของวิเศษประจำตัว (โดยมากมักจะได้แก่พวกเครื่องประดับ เช่น แว่นตา แหวน สร้อยคอ นาฬิกาฯ) จากนั้นก็ส่งไปใช้ชีวิตในเมืองมนุษย์ และเผชิญสถานการณ์สอดคล้องกับหัวข้อที่คุยกันไว้ในตอนต้น

โดยรวมส่วนใหญ่แล้ว บรรดาหุ่นไล่กาทั้งหลาย มักจะบาดเจ็บบอบช้ำเพลี่ยงพล้ำทางใจกลับมา เพราะรู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมมายาของคน และต้องถอดเครื่องประดับคืนของวิเศษให้แก่แม่มด เพื่อขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กาตามเดิม

โครงสร้างคร่าว ๆ เช่นนี้ เปิดช่องเอาไว้กว้างมาก ให้เนื้อหาของแต่ละตอนสามารถพลิกแพลงผูกเรื่องไปได้ต่าง ๆ นานา รวมทั้งสามารถสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมได้สารพัดผ่านอารมณ์ขันอันโดดเด่นลึกซึ้ง

เป็นอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมหยอกล้อแบบนิ่ม ๆ ช่างคิดเฉียบแหลมคมคาย และหนักไปทางเรียกรอยยิ้ม มากกว่าจะเชือดเฉือนเป้าหมายอย่างก้าวร้าวเอาเป็นเอาตาย

พูดอีกแบบก็คือ “หุ่นไล่กา” ดูคล้ายนิทานชาดกสอนใจในเชิงเปรียบเปรย ที่เปลี่ยนมาใช้ฉากหลังเป็นปัจจุบัน เพื่อสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนั้นได้อย่างแยบยล และเข้าขั้นล้ำยุค กระทั่งมานึกทบทวนดูตอนนี้ก็ยังทันสมัย ไม่มีอะไรเก่าเชยเลยสักนิด

แก่นเรื่องหลัก ๆ ของ “หุ่นไล่กา” สามารสรุปความคิดรวบยอด ผ่านเนื้อร้องในเพลงช่วงเครดิตไตเติลเอาไว้ว่า “มองดูโลกสิเจริญไกล มีน้ำมีไฟมีตึกงาม มองดูกายคนเด่นงามดี มองดูใจสิกลับเลวทราม แก่งแย่งชิงดีกัน กล้าถึงกับจะทำ ห้ำหั่นกันวอดวาย ตัวฉันเป็นเพียงหุ่นไล่กา มีหญ้ามีฟางเป็นร่างกาย ไม่มีสมองที่จะคิด ไม่มีชีวิตเช่นใคร ๆ ฉันไปอยู่กับคน ฉันยังทนไม่ไหว อาย อาย อาย อาย ฉันอาย ฉันอาย ฉันอาย ขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กา ยืนเฝ้าท้องนาสุขสบาย ไม่เอาแล้วคน ฉันทนไม่ไหว”

ดังที่บอกเล่ากล่าวไว้แต่ต้นว่า “หุ่นไล่กา” สร้างและฉายยาวนาน มีจำนวนตอนมากมายมหาศาล จึงเป็นเรื่องเหลือที่จะจดจำรายละเอียดได้หมดครบถ้วน มิหนำซ้ำในยุคนั้น บ้านผมยังไม่มีปัญญาซื้อโทรทัศน์ไว้ประจำครัวเรือน ต้องอาศัยดูจากเพื่อนบ้าน ผมก็เลยติดตามอย่างแหว่งวิ่นขาดเป็นห้วง ๆ ยิ่งในยุคท้าย ๆ ผมก็ยิ่งพลัดห่างร้างไกลจากหนังโทรทัศน์ชุดนี้หนักกว่าเดิม เพราะต้องย้ายบ้าน ไม่มีทีวี และไม่รู้จักคุ้นเคยกับใครพอที่จะไปขอติดตามดูได้อีก

ทั้งหมดทั้งปวงของ “หุ่นไล่กา” ผมจึงจำรายละเอียดได้เพียงแค่ 3 ตอน

ตอนแรกที่ยังจดจำได้ก็คือ เรื่องราวว่าด้วยไข่ปลาสลิด แม่มดเสกหุ่นไล่กา ไปใช้ชีวิตเป็นมหาเศรษฐี โดยที่ของวิเศษประจำตัว ได้แก่ เงินจำนวนมหาศาล (เงื่อนไขก็คือว่า หากเงินหมดเมื่อไร จะต้องกลับมาเป็นหุ่นไล่กาตามเดิม)

เมื่อแปลงร่างเป็นมนุษย์ คุณเศรษฐีก็ซื้อบ้าน ซื้อรถ และมีข้าใช้สอยบริวารให้สมฐานะ ดำรงชีวิตอย่างสุขสบายโดยมิได้ประกอบอาชีพการงานใด

เรื่องมาขับเคลื่อนเมื่อวันหนึ่งบ่าวคนสนิท ทำกับข้าวที่ปรุงโดยมีไข่ปลาสลิดเป็นวัตถุดิบ ท่านเศรษฐีหุ่นไล่กาได้ลิ้มรสอันโอชะเข้า ก็เกิดติดอกติดใจขนาดหนัก ถึงขั้นออกคำสั่งระบุว่า ทุกมื้อถัดจากนี้ไป ขอเลือกจำเพาะเจาะจงกินแต่ไข่ปลาสลิดที่นำมาต้มยำทำแกงพลิกแพลงเป็นอาหารสารพัดอย่างเท่านั้น

แรกเริ่ม เจ้าคนใช้ก็ชี้แจงว่า ปลาสลิดนั้นใช่ว่าจะมีไข่ทุกตัว และตัวที่มีก็ใช่ว่าจะประกอบไปด้วยไข่ในปริมาณมากมาย ท่านเศรษฐีจึงออกคำสั่งตัดรำคาญว่า ให้ซื้อปลาสลิดแบบเหมากว้านตามตลาด และเลือกเฟ้นไข่ให้มีพอนำมาจัดสำรับกับข้าวทุกมื้อ

เหตุการณ์ก็เป็นเช่นนี้เรื่อยมา ท่านเศรษฐีกินไข่ปลาสลิดต่อเนื่องติดพันทุกมื้อโดยไม่รู้เบื่อ นานวันเข้ารายจ่ายแบบ “ใช้เยอะเพื่อสิ่งเล็กน้อย” ก็กลายเป็นการล้างผลาญ จนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ค่อย ๆ วอดวายหายหดทีละน้อย วันหนึ่ง “ต้นทุน” ที่แม่มดให้มาก็หมดเกลี้ยง

ผมจำตอนจบไม่ได้ว่า ท้ายสุดแล้วท่านเศรษฐี ต้องระทมซมซานกลับมาเป็นหุ่นไล่กาหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ มีการหักมุมพลิกผันในบั้นปลาย

วันที่เศรษฐีตกเป็นฝ่ายสิ้นเนื้อประดาตัว ความจริงอีกอย่างก็ปรากฎคือ เจ้าคนใช้ผู้นำเสนอเมนูไข่ปลาสลิด กลายเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย

เปล่าทรยศคดโกงหรอกนะครับ คุณพี่เขาแค่นำเอาปลาสลิดที่เป็นส่วนเกินทิ้งขว้าง ย้อนคืนกลับไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด จากนั้นก็เก็บเล็กผสมน้อยหยอดออมสินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีฐานะความเป็นอยู่สวนทางตรงข้ามกับเจ้านาย

ท้ายสุดคนใช้นำเงินของตนมามอบให้เศรษฐี จากนั้นฝ่ายนายจ้างจะรับเงินไว้แล้วใช้ชิวิตต่อตามเดิม หรือปฏิเสธเพราะรู้สึกละอายใจ จึงกลับมาเป็นหุ่นไล่กา ผมก็ออกจะจำได้เลอะเลือนเต็มที อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจำผิดหมดเลยก็ได้นะครับ

“หุ่นไล่กา” ตอนดังกล่าว จะมีแง่คิดอันใดต่อผู้ชมนั้น ในวัยเด็กผมคงเข้าใจไม่แจ่มแจ้งนักหรอก เป็นเรื่องที่ผมมาตรองไตร่ใคร่ครวญคิดได้ก็ต่อเมื่อเติบโตแล้ว

ช่วงที่เพิ่งผ่านตา รวมทั้งตลอดระยะเวลาอีกนานทีเดียว ความทรงจำฝังใจของผมเกี่ยวกับ “หุ่นไล่กา” ตอนนี้มีเพียงแค่ว่าไข่ปลาสลิดเป็นอาหารวิเศษที่ผมอยากกินเหลือเกิน และพยายามจะจินตนาการนึกหน้าตาว่ามันเป็นอย่างไร? มีรสชาติเช่นไร?

ความคิดเช่นนี้ ทำให้ผมดื่มด่ำซาบซึ้งเป็นพิเศษทุกครั้งที่กินปลาสลิด และพยายามควานคว้าค้นหาดูว่า จะมีไข่หลงหูหลงตาซุกซ่อนอยู่ตรงไหนบ้างหรือเปล่า? เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบโปรดปรานการกินปลาสลิดจนถึงทุกวันนี้ นอกจากรสชาติอันเอร็ดอร่อยแล้ว ก็น่าจะเป็นด้วยอิทธิพลอันล้นเหลือจาก “หุ่นไล่กา” ตอนดังกล่าวนี่แหละ

จนถึงปัจจุบัน ผมยังไม่เคยมีโอกาสลองลิ้มชิมรสไข่ปลาสลิดเลย แรกเริ่มเป็นเพราะรู้สึกว่าราคาคงจะแพงเกินฐานะ ทำให้ครอบครัวที่ขัดสนอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ทรุดหนักลงอีก ต่อมาความคิดดังกล่าวก็ค่อย ๆ คลี่คลายหายไป และเกิดเหตุผลใหม่ให้ผมไม่นึกอยากขึ้นมาทดแทน

กล่าวคือ หลายปีที่ผ่านมา ผมจินตนาการถึงไข่ปลาสลิดอยู่เนือง ๆ จนมาถึงตอนนี้ รสชาติของมันคงจะเลยเถิดไปไกลอร่อยเกินความเป็นจริงอยู่เยอะ ผมจึงไม่อยากทำอะไรที่หักหาญกระทบรบกวนความฝันแบบเด็ก ๆ ของตนเอง

เป็นความฝันแบบเด็ก ๆ ที่ผมนึกถึงทีไรก็มีทั้งความสุขใจและหม่นเศร้า ด้านหนึ่งมันเชื่อมโยงผมไปถึงหนังโทรทัศน์ที่ผูกพันสนิทแนบแน่นประทับใจ และมีส่วนปลูกฝังจิตสำนึกดีงามหลายอย่างทั้งทางตรงทางอ้อม อีกด้านหนึ่งก็เตือนให้ผมไม่ลืมเลือนความยากเข็ญของครอบครัวครั้งวัยเยาว์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนึกคิดต่อเนื่องไปถึงความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำของเตี่ยและแม่ในครั้งนั้น



(เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

บทเรียนจากไร่อ้อย โดย "นรา"


1

ผมตั้งสัตย์ปฏิญาณตนเอาไว้ว่า จะตัดใจเด็ดเดี่ยวไม่เที่ยวแวะไปเยี่ยมชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ด้วยเหตุผลรวบรัดสองสามประการ

อันดับแรก ลำพังแค่จำนวนหนังสือทั้งหมดที่บุกรุกยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในบ้านตอนนี้ ต่อให้ผมอ่านแบบโหมกระหน่ำเอาเป็นเอาตายวันละหนึ่งเล่ม อย่างเร็วสุดก็ต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี จึงจะผ่านตาครบถ้วน (เขียนถึงตรงนี้ผมก็ท้อและปลงตกขึ้นมาฉับพลัน)

ถัดมาคือ ระยะหลัง ๆ เวลาเดินตรวจราชการตามร้านขายหนังสือทั่วไป ไม่ค่อยจะมีงานดี ๆ เผยแพร่วางจำหน่ายมากนัก หรือถ้าหากจะมี ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่งานในแบบที่เฉียดใกล้ตรงกับความสนใจของผมเลยสักนิด ความตื่นเต้นที่มีต่องานสัปดาห์หนังสือหนนี้จึงจืดจางลดทอนลงไปเยอะ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญสุดคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมมักจะเกิดอาการเลือดเข้าตา ซื้อหนังสือแบบไม่ยั้งมือและไม่ยั้งคิด คราวละหนึ่งกระเป๋าเดินทางใบเบ้อเริ่มเทิ่ม

แย่กว่านั้น งานสัปดาห์หนังสือทุกครั้ง ผมไม่ได้แวะไปแค่วันเดียว แต่ไปทุกวันที่ว่างและมีโอกาส

จบงานแต่ละครั้ง จึงซื้อหนังสือรวมแล้ว สามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางใบเขื่องได้ 5-6 ใบ

ปีนี้ผมจึงพยายามหักห้ามใจ ว่าจะงดเว้นสักครั้ง เพื่อดำรงตนเป็นคนประหยัด

แต่เมื่อถึงเวลาที่งานสัปดาห์หนังสือเริ่มต้นขึ้นจริง ๆ ผมก็เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวกระวนกระวายกระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุข หงุดหงิดงุ่นง่านอยู่หลายชั่วโมง (เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยหัวใจว้าวุ่น) จนท้ายที่สุดก็ตบะแตก “ต้องเสียสัตย์เพื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ”

ผมเคยลองคำนวณราคาหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ในครอบครองเล่น ๆ โดยคิดราคาตามหน้าปก ไม่บวกมูลค่าในความเป็นหนังสือเก่าหรือหายาก (ซึ่งหลายเล่มซื้อมาแพงกว่าราคาตามหน้าปก) สรุปได้ว่า น่าจะหมดเงินไปราว ๆ 2-3 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

เรื่องการซื้อหนังสือแบบบ้าระห่ำไม่ลืมหูลืมตาของผม สามารถมองได้สองมุม ด้านหนึ่งคือความจำเป็นในการเติมอาหารสมอง เป็นการตระเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับทำงานเขียน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็อาจนับเข้าข่ายใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายเหลวแหลกฟุ่มเฟือยได้เหมือนกัน

2

ผมนั้นไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจสตางคะการเลยสักนิด ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ดำรงชีพโดยยึดหลักง่าย ๆ แค่ว่า ใช้เงินอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแค่ให้ไม่เกินเลยรายรับ มีเหลือเก็บออมบ้างเล็กน้อย และระมัดระวังไม่ให้เป็นหนี้ใคร

พูดอย่างถึงที่สุด ถือได้ว่า ผมยังคงใช้สอยอย่างติดประมาทอยู่นะครับ แค่วาสนาดีอยู่บ้างที่รายจ่ายมีจำกัด

จนเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผมจึงได้รู้ซึ้งในรสพระธรรม เมื่อจู่ ๆ รายรับนั้นเกิดติดขัดไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร หนังสือที่ผมเขียนให้ ฉบับหนึ่งติดค้างค่าเรื่องอย่างต่อเนื่องยาวนาน (คิดเป็นจำนวนเงินแล้วก็เยอะจนน่าตกใจ) อีกฉบับหนึ่งทยอยจ่ายเงินล่าช้าร่วม ๆ ครึ่งปี

เท่านั้นยังไม่พอ เกิดรายจ่ายฉับพลันกระทันหัน คือ แม่ผมป่วยไข้ตามประสาผู้สูงอายุ จนต้องเข้าโรงพยาบาลติดกันสองสามครั้งในช่วงไม่กี่เดือน บวกรวมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ผลก็คือ จากที่เคยมีเงินเก็บออมก้อนหนึ่ง ผมกลับกลายเป็นมีหนี้สินจำนวนตัวเลขเท่า ๆ กับที่เคยมีเงินฝากธนาคาร

ผมนั้นมึนตึ้บไประยะหนึ่งเลยทีเดียว พยายามทบทวนดูว่า วางแผนใช้ชีวิตผิดพลาดตรงไหน ก็พบว่า ทุกอย่างดำเนินไปถูกต้องเป็นปกติพอตามอัตภาพ หากจะมีรูรั่วรอยโหว่อยู่บ้างก็คือ ผมลืมนึกถึงปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง

พูดง่ายๆ ผมนั้นใช้ชีวิตแบบมีการวางแผน แต่ที่ผิดพลาดคือ ปราศจากแผนสำรอง แผนสอง แผนสาม ตระเตรียมไว้สำหรับรับมือกรณีฉุกเฉิน

ถึงที่สุด ผมผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้วนะครับ โดยใช้เวลาราว ๆ ครึ่งปี ในการสะสางหนี้สินต่าง ๆ จนหมด และเริ่มต้นเก็บออมได้อีกครั้ง

บทเรียนที่ผมได้รับก็คือ ไม่ว่าอะไรรอบข้างจำย่ำแย่เลวร้ายแค่ไหน อันดับแรกสุด ห้ามใจเสียและท้อแท้สิ้นหวังเด็ดขาด

ขมขื่นเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งที่รู้สึกกันได้นะครับ และสามารถระบายความอัดอั้นด้วยการปรับทุกข์กับเพื่อนฝูง แต่ไม่ควรจมดิ่งอยู่ในอารมณ์หดหู่หมดหวัง กระทั่งสูญเสียกำลังใจโดยสิ้นเชิง

ที่กล่าวกันว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้นั้น เป็นจริงทุกประการ (ไอแซ็ค อาชิมอฟนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ยังตอกย้ำอีกว่า “อะไรที่เกินเลยสติปัญญามนุษย์จะสามารถแก้ไขได้ เราไม่เรียกสิ่งนั้นว่าปัญหา”)

เรื่องที่น่ากลัวก็คือ เวลาเจออะไรร้าย ๆ เรามักจะนึกจินตนาการเลยเถิดไปเสียใหญ่โต และนึกเปรียบเทียบ (กับสิ่งที่ดีกว่า/เหนือกว่า) จนถลำลึกสู่ภาวะเสียขวัญขั้นรุนแรง

สเต็ปของการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ผมคิดว่ามันควรเริ่มต้นที่การมีความหวังเสียก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ ตั้งสติ ทำใจนิ่ง ๆ ไม่ตื่นตระหนก ค่อย ๆ นึกย้อนทบทวนหาสาเหตุต่าง ๆ แล้วจึงลงมือจัดการแก้ไขคลี่คลาย

กรณีของผม จุดใหญ่ใจความแห่งปัญหา มีเพียงแค่ว่า จู่ ๆ รายจ่ายเพิ่มพูนมากขึ้นสวนทางกับรายรับที่ถดถอยน้อยลง

วิธีแก้จึงต้องใช้เงินให้น้อยลง หาเงินให้มากขึ้น

ทำได้ยังไงหรือครับ? ก็แค่ประหยัดและทำงานหนักกว่าเดิมเท่านั้นเอง

เมื่อตอนที่นำพาตนเองเข้าสู่มาตรการมัธยัสถ์ ผมได้พบว่า ที่แล้ว ๆ มาผมใช้ตังค์เหลวไหลอีลุ่ยฉุยแฉกโดยไม่รู้ตัวอยู่เยอะ เช่น กินข้าวมื้อละแพง ๆ หลายร้อยบาท ซึ่งในช่วงรัดเข็มขัดเทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทุกอย่างต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมรายจ่ายเบ็ดเตล็ดอีกเป็นเงินจำนวนมาก

ผมประหยัดด้วยการค่อย ๆ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปทีละอย่างสองอย่าง กินอยู่ให้สอดคล้องกับฐานะการเงิน และควบคุมดูแลระมัดระวังค่าใช้จ่ายให้ลงตัวกับเงินค่าเรื่องที่ได้มา

ทำเช่นนี้อยู่ไม่กี่เดือน รายรับที่ลดน้อยลงก็เพียงพอครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ส่วนเรื่องทำงานหนักนั้น มีหลักง่าย ๆ แค่ว่า เพิ่มจำนวนชิ้นงานเยอะกว่าเดิม (เล็กน้อย) เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น และให้เวลาความใส่ใจกับการทำงานทุกครั้งอย่างถี่ถ้วนกว่าเดิมอีกเท่าตัว

พูดง่าย ๆ คือ ไม่ได้เขียนต้นฉบับแค่ให้พอมีส่งตามกำหนด แต่ควรจะเป็น “งานปั้น” ที่ทุ่มเทจนสุดฝีมือ และหลีกเลี่ยง “งานเผา” เอาตัวรอด

เรื่องทำงานหนัก ผมไม่แน่ใจหรอกนะครับว่าหากประกอบอาชีพอื่น ๆ ผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง? เนื่องจากอ่อนหัดขาดประสบการณ์ แต่สำหรับงานเขียนที่ผมคลุกคลีมานานพอสมควร ผมรู้ว่าสิ่งที่สามารถและอยู่ในวิสัยพึงกระทำได้คือ เขียนให้เยอะขึ้น และเขียนให้เนี้ยบขึ้น

ข้อดีของอาชีพนักเขียน อาจอยู่ตรงนี้เอง คือ สามารถผลิตงานนอกเหนือ “การว่าจ้าง” ได้ตลอดเวลา

ช่วงที่เผชิญวิกฤติย่ำแย่ นอกจากผมจะหาสนามให้ตนเองมีงานเขียนเพิ่มขึ้น เพื่อประคับประคองรายรับรายจ่ายให้พอเหมาะแล้ว ผมยังสามารถหยิบงานเก่ามาขัดเกลาแก้ไขสำหรับรวมเล่ม (ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง) ควบคู่ไปกับการเขียนงานจำนวนหนึ่งเก็บไว้สำหรับอนาคต

ผลสืบเนื่องอีกอย่างที่เกี่ยวโยงโดยอัตโนมัติก็คือ ยิ่งทำงานเขียนหนังสือต่อเนื่องถี่ขึ้นมากเท่าไร โอกาสและเวลาที่จะออกไปเสียเงินนอกบ้านก็ลดน้อยลง ในสัดส่วนสวนทางกันมากเท่านั้นตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าผมจะมีอายุล่วงเลยวัยเด็กไปเยอะแล้ว แต่คำขวัญวันเด็กประเภท “ขยัน ประหยัด มีวินัย ใฝ่คุณธรรม” ยังคงเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ผลเสมอ

ที่สำคัญคือ โปรดอย่าลืมคำว่า “ความหวัง” นะครับ ผมนั้นถึงขั้นเชื่อโดยเคร่งครัดว่า มนุษย์เราสูญเสียอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรทำความหวังหล่นหายไปจากใจโดยเด็ดขาด

ผมนั้นชอบบทพูดคมคายจากตอนหนึ่งในหนังญี่ปุ่นเรื่อง Breath In, Breath Out เหลือเกิน กล่าวคือ หลังเกิดเหตุวิกฤติจนทำให้ตัวละครทั้งหมด “ล้มทั้งยืน” และตกอยู่ในห้วงยามพ่ายแพ้ บาดเจ็บทางใจเข้าขั้นสาหัส ผู้เฒ่าตายายเจ้าของไร่อ้อย ก็ค่อย ๆ ปลอบโยนทุกคนอย่างมีเมตตาและเข้าใจชีวิตว่า

“เสียหายแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก เพราะที่นี่เราสามารถเริ่มต้นลงมือสร้างทุกสิ่งขึ้นมาใหม่ได้เสมอ”

3

งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด ผมสงบเสงี่ยมเจียมตัวและจับจ่ายใช้สอยอย่างสุขุมขึ้นเยอะ ไม่ได้พกพาอารมณ์เสี่ยสั่งลุย ซื้อล้างผลาญราวกับจะไปเปิดร้านหนังสือ เหมือนอย่างที่เคยประพฤติปฏิบัติประจำ

ซื้อแค่พอระงับดับความพลุ่งพล่านในใจไปหนึ่งกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เท่านั้นเอง และแวะเวียนไปเพียงแค่วันเดียว จากนั้นก็วิ่งไล่เตะตัวเองให้นั่งลงหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน (ทุกครั้งที่ครั่นเนื้อครั่นตัวอยากไปอีก)

ถึงผมจะผ่านพ้นห้วงยามวิกฤติไปแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องจำ ห้ามลืมเลือน และพึงใช้ชีวิตถัดจากนั้นด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท

ที่สำคัญ ระหว่างเดินในงานสัปดาห์หนังสือ จู่ ๆ ผมก็โดน “ผีนักวิชาการ” ผู้สันทัดจัดเจนทางเศรษฐศาสตร์และโหราศาสตร์เข้าสิง จนเกิดความรู้สึกว่า ภาวะทางเศรษฐกิจบ้านเราในปีนี้ มีแนวโน้มส่อสัญญาณแสดงอาการที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้ช่วงฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

กลับมาถึงบ้าน ผมจึงรีบลงมือเขียนเรื่องนี้ เพื่อบอกกล่าวต่อมิตรรักแฟนเพลงทุกท่านว่า ได้เวลาที่จะต้องมีวินัย, ประหยัดและทำงานหนัก (ด้วยอารมณ์สนุกครึกครื้นและรักชอบในสิ่งที่ทำ) กันอีกแล้วล่ะครับ



(เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จนถึงวันนี้ ถือว่าไม่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผมเดาแม่น
เศรษฐกิจย่ำแย่จริงตามคาด
อย่างไรก็ตาม ในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ ผมไปหลายวัน และสิ้นเนื้อประดาตัวหมดเงินไปเยอะทีเดียว ด้วยเหตุผลต่างจากปีอื่น ๆ คือ มีหนังสือเก่าจำนวนมากที่ต้องเสาะหาสำหรับงานเมกะโปรเจกต์ แต่ละเล่มราคาค่อนข้างแพงไปตามระดับ "ความหายาก" ผมจึงมีแผลเหวอะหวะจากการโดนพ่อค้าหนังสือเก่า "ฟัน" บวกกำไรเพิ่มเติมเกินราคาหน้าปกไปไกล อยู่หลายสิบแผล)




















ใครหนอจะกินน้ำก่อนใคร โดย "นรา"


มีคนถามผมบ่อย ๆ ว่า ดูและเขียนถึงหนังมาเยอะแล้ว เคยคิดอยากจะกำกับหนังเองบ้างไหม?

ผมก็ตอบไปบ่อยเท่า ๆ กันว่า ไม่คิด เพราะทำไม่เป็น และปราศจากความรู้โดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีบางวาระโอกาสอยู่เหมือนกัน ที่ผมแอบนึกเพ้อฝันเล่น ๆ ในใจว่า ถ้าได้ทำหนัง ผมอยากจะทำเรื่องอะไร?

มีอยู่ 2-3 เรื่องที่ผมอยากทำ หรืออยากเห็นใครก็ได้สร้างออกมาให้ดู (อย่างหลังนี่น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่านะครับ)

สองเรื่องแรก คือ การดัดแปลงงานเขียน “บ้านเกิดและเพื่อนเก่า” ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ และ “ดวงจันทร์ที่จากไป” ของคุณบินหลา สันกาลาคีรี ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมประทับใจ

ส่วนลำดับสุดท้ายเป็นเรื่องราวประวัติบุคคลที่มีตัวตนจริง นั่นคือ ชีวิตของยายทองอยู่ รักษาพล แม่เพลงพื้นบ้าน

ผมรู้จักเรื่องราวของยายทองอยู่เป็นครั้งแรก เมื่อราว ๆ ปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่ยายเสียชีวิตไปแล้วสองปี จึงไม่ทันมีโอกาสได้ดูการแสดง อันเป็นที่ลือลั่นเล่าขานกันว่า “สนุกถึงอกถึงใจ” เหลือเกิน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในชีวิตที่ผมรู้สึกเสียดาย และคิดว่าวาสนาของผมน้อยไปหน่อย

ผมรู้จักยายทองอยู่ จากการอ่านหนังสือ “สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” ของคุณเอนก นาวิกมูล ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของยายทองอยู่

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองภาค ส่วนแรกคือ การอธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน ส่วนหลังเป็นรวมบทความของนักเขียนหลาย ๆ ท่าน บอกเล่าถึงประวัติ, เหตุการณ์ และความประทับใจที่ได้รับจากการมีโอกาสรู้จักคลุกคลีกับยายทองอยู่

ความรู้เกี่ยวกับยายทองอยู่ของผมจึงมีน้อยนิดแค่เพียงเศษเสี้ยว แต่ก็เยอะเกินพอที่จะทำให้ผมตกหลุมรักและรู้สึกจับอกจับใจต่อชีวิตอันน่าทึ่งของ “แม่เพลงห้าแผ่นดิน” ท่านนี้

ชีวิตของยายทองอยู่นั้น โลดโผนเปี่ยมสีสัน มีอารมณ์สุข โศก ทุกข์ยาก ครบถ้วนทุกรสชาติ และเต็มไปด้วยเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันน่าทึ่งมากมาย

ยายเกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436
ก่อนหน้าที่ยายจะเกิด โรคฝีดาษระบาดครั้งใหญ่ที่นครนายกอยู่นาน ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันไปมากมาย จนในที่สุดเหตุการณ์ก็กลับเป็นปกติ หลังจากนั้นยายก็เกิด และได้รับการตั้งชื่อว่า “ทองอยู่” เพื่อเป็นเคล็ด

วีรกรรมโลดโผนครั้งแรกของยายก็คือ การตัดสินใจหนีออกจากบ้านเมื่อตอนอายุเก้าขวบ เพื่อจะไปหัดเพลง ด้วยใจรักอย่างแรงกล้าและมุ่งมั่น

ยายออกจากบ้านแต่เช้า เอาไข่ต้มห่อพกมาด้วย ไม่ใช่เพื่อกินประทังหิวระหว่างเดินทาง แต่เพื่อบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ไปถึงบ้านหลวงโสภา ตัวเมืองนครนายก (ซึ่งที่นั่นมีการว่าจ้างครูมาหัดเพลงให้แก่เด็ก ๆ อย่างเป็นจริงเป็นจัง) โดยอย่าให้ใครมาตามตัวตัวกลับบ้านได้

เมื่อไปถึงที่หมายได้สักครู่ พ่อของยายก็ตามมาทันและจะพากลับบ้าน แต่หลวงโสภากับครูเพลงได้หว่านล้อมโน้มน้าว ขอให้ยายทองอยู่ได้มีโอกาสฝึกหัดเรียนรู้ตามที่ปรารถนา โดยตกลงกันว่า เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้วค่อยเลิก พ่อจึงยินยอมปล่อยตัว

ผลก็คือ นับตั้งแต่นั้นมา ยายทองอยู่ได้คลุกคลีอุทิศตนเป็นแม่เพลง โดยไม่เคยเลิกร้างห่างหาย ไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคกีดขวาง หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากในการยังชีพหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ตาม

อาจกล่าวได้ว่า ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกเนิ่นนานถึง 83 ปี (ยายทองอยู่เสียชีวิตเมื่ออายุ 92) เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยเจตนารมณ์เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เพื่อเป็นแม่เพลง

เรื่องราวในชีวิตของยายทองอยู่ เข้มข้นยิ่งกว่านิยาย มีทั้งผิดหวัง สมหวังในด้านความรัก ถูกผู้ชายฉุดเอาทำเมีย ลูกเต้าล้มหายตายจากตั้งแต่อายุยังเยาว์ เคยไปเล่นเพลงให้ไอ้เสือดุ เข้ามาเสี่ยงโชคในกรุง อดมื้อกินมื้อ หมดเนื้อหมดตัวเพราะถูกโกง และลุกขึ้นสู้ใหม่ได้อีก ฯลฯ จนมีคนนิยามว่ายายทองอยู่เป็น “นายของชีวิต”

ผมคิดว่า แก่นสารสำคัญในชีวิตของยายทองอยู่ นอกจากหัวใจอันเด็ดเดี่ยวในการมุ่งตามความใฝ่ฝันของตนเองให้ถึงที่สุดแล้ว เคียงข้างกับเรื่องราวของยาย ยังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงเวลาอันยาวนาน จากอดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งทัศนคติและวิธีคิดของยายทองอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยจิตวิญญาณและภูมิปัญญาแบบไทยแท้ ซึ่งนับวันจะยิ่งพบเห็นได้ยาก

เท่าที่ผมอ่านบทความหลาย ๆ ชิ้น พอจะสรุปภาพคร่าว ๆ ของยายทองอยู่ได้ว่า เป็นคนร่ำรวยอารมณ์ขัน ใจนักเลง ฉลาด ตัดสินใจเฉียบขาด ไหวพริบดี ความจำยอดเยี่ยมเป็นเลิศ และเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยหวั่นไหวไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้าง

ประวัติชีวิตส่วนใหญ่ของยายทองอยู่ในวัยสาวและวัยกลางคน อาจจะกระท่อนกระแท่นปะติดปะต่อได้ยาก แต่เรื่องราวช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณของยายเริ่มได้รับการเผยแพร่ จนกระทั่งเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้าง เหตุการณ์ระยะนี้ได้รับการบันทึกเอาไว้ค่อนข้างเด่นชัด

มีเกร็ดเล่าลือสองสามเรื่องเกี่ยวกับยายที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ

เรื่องแรกก็คือ ยายเก็บหมาตัวหนึ่งมาเลี้ยง เป็นหมาตัวเมีย หน้าตาตลกน่าสงสาร ร่างอ้วนเตี้ย ขาคอก ซึ่งมีคนนำมาทิ้งไว้ตั้งแต่ยังเป็นลูกหมา ยายตั้งชื่อมันว่า บุญทิ้ง และมักจะเรียกว่า อีทิ้ง

ยายรักและผูกพันกับอีทิ้งมากถึงขนาด กิน นอน ดูแลกันและกันอย่างใกล้ชิด ถึงขนาดเวลามันป่วย ยายก็เจียดรายได้ที่มีอยู่ไม่มากนัก จับอีทิ้งยัดใส่กระเป๋าเดินทาง หอบหิ้วกระเตงไปหาหมอ

จนเมื่อมันตาย ยายก็จัดการฝังศพมันเป็นอย่างดี ถึงขั้นจะไปนิมนต์พระมาสวดศพให้ แต่พระท่านทราบเสียก่อนจึงไม่ยอมรับนิมนต์ จึงได้เพียงแต่ทำบุญอุทิศส่วนกุศล และอธิษฐานขอให้อีทิ้งมาเกิดเป็นลูกยายในชาติหน้า

เรื่องถัดมาคือ วีรกรรมแบบ “ขาลุย” ของยายทองอยู่ ซึ่งมองเผิน ๆ ก็อาจเหมือนเหตุการณ์แบบ “บ้านนอกเข้ากรุง” ทำเปิ่น ไม่ทันโลก แต่แท้จริงแล้ว ผมกลับคิดว่า ยายทองอยู่เป็นคนทันสมัย (ยายอ่านหนังสือไม่ออก ตามประสาคนชนบทยุคเก่าก่อนที่ไม่ได้ร่ำเรียน ทว่ายายติดตามข่าวสารบ้านเมือง ความเคลื่อนไหวของโลก ผ่านการฟังวิทยุ) การไม่รู้จักเทคโนโลยีหรือความเจริญบางอย่างในเมืองหลวง ไม่ใช่เพราะความล้าหลัง แต่เป็นเพราะแกไม่สนใจและไม่เห็นเป็นสิ่งสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ยายมักจะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถเมล์สาย 39 แต่ไม่เคยรู้ตัวเลขเบอร์ที่หน้ารถ ไม่เคยจำสีสันรูปทรงลักษณะของตัวรถ

ยายขึ้นรถเมล์ทุกคันที่มาถึง แล้วถามคนขับว่าสาย 39 ใช่ไหม ถ้าใช่ก็โดยสารต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าขึ้นผิดก็ลงเดิน (เพื่อจะขึ้นรถคันใหม่ จนกว่าจะถูกต้อง)

ด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ ยายสามารถเดินทางไปไหนมาไหน ทั้งใกล้และไกลอย่างโชกโชนโดยไม่เคยหลงทาง

ครั้งหนึ่งยายทองอยู่เดินทางไปแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ยายเข้าไปในลิฟต์ และเมื่อประตูปิด ยายก็อยู่ในนั้นโดยไม่ขยับไปไหน และสงบนิ่ง ไม่ตื่นตระหนกตกใจ จนกระทั่งมีพนักงานส่งของเข้ามา จึงกดปุ่มส่งยายจนถึงที่หมาย

ผมเดาเอาว่า ขณะติดอยู่ในลิฟต์ ยายน่าจะมั่นใจมากว่า ประเดี๋ยว คงมีคนมาให้บริการอำนวยความสะดวก

เล่ากันว่า เมื่อมีคนพายายทองอยู่ไปเที่ยววัดพระแก้ว ยายเจอะเจอนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พลันก็ตรงรี่เข้าทักทายแสดงน้ำใจในฐานะเจ้าของบ้านที่มีต่อแขกผู้มาเยือนว่า “มอย ยู คัม” เสร็จแล้วก็เดินจากไป ปล่อยให้ฝรั่งรวมทั้งคนที่เผอิญผ่านมาได้ยินได้ฟัง ยืนงงสงสัยว่ายายพูดอะไร (จริง ๆ แล้วยายตั้งใจจะกล่าว “เวลคัม)
มีภาพประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจเกี่ยวกับยายทองอยู่ (ซึ่งผมเสียดายมาก ที่ไม่สามารถนำมาลงประกอบบทความชิ้นนี้ ด้วยข้อขัดข้องทางเทคนิค) ยายได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินอาวุโสดีเด่น สาขาเพลงพื้นบ้าน และรับโล่เกียรติยศจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

จู่ ๆ ยายก็ทำในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง และฮือฮาไปตาม ๆ กัน ด้วยการดึงพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ มาจูบซ้ายจูบขวาอยู่หลายฟอด สมเด็จพระเทพฯ ถึงกับทรงแย้มพระสรวล และได้ตรัสรับสั่งกับยายหลายคำ (ซึ่งยายสารภาพในเวลาต่อมาว่า จำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากมัวแต่ตื่นเต้นปิติยินดี)

ในหนังสือ “สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” มีลงล้อมกรอบคำให้สัมภาษณ์ บทเพลงที่ยายเคยร้อง มีเพลงหนึ่งซึ่งผมอ่านแล้วก็รักมาก และขออนุญาตนำมาลงซ้ำในที่นี้ เนื้อร้องมีอยู่ว่า

“เอย... ฉันจะเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ฉันจะไหว้เทวัญ ขวาซ้าย
วันนี้เราจะสมัคร เราจะมาผูกรัก กับพี่ชาย
ถ้าแม้นว่าใครนี้พี่จ๋า หากว่าไม่รักข้า เต็มใจ
ให้ชีวิตก็มันวายตายเป็นผี ให้มันตายเดี๋ยวนี้ ลงไป
มากินเกลือกันเสียคนละชาม ใครหนอจะกินน้ำก่อนใคร (เอ่ชา)
“ใครหนอจะกินน้ำ ก่อนใคร เรามาลองชั่งความรัก
เถอะของใครจะหนัก กว่าใคร
เราไปซื้อนุ่นสักสองชั่งจีน เราไปซื้อหิน ชั่งไทย
มาชั่ง ความรัก ว่าของใครจะหนักกว่าใคร
นุ่นจม หินลอย พ่อชื่นใจฉันจะคอยดูใจ (เอ่ชา)”

ใครจะรู้สึกเช่นไรไม่ทราบ แต่ผมอ่านแล้วก็รู้สึก “จี๊ด” อย่างแรง นี่เป็นเพลงรักที่โรแมนติกเจืออารมณ์นักเลงโบราณแบบไทย ๆ เรียบง่าย คมคาย และลึกซึ้ง

ยายทองอยู่เริ่มล้มป่วยเมื่อเดือนสิงหาคม 2527 แรกเริ่มแกนอนซมกินอะไรไม่ได้อยู่ที่บ้านนานนับเดือน กว่าจะมีผู้พบเห็นนำส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็วนเวียนรักษาตามที่ต่าง ๆ กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2528

ในช่วงท้าย ๆ สองสามเดือนก่อนที่ยายจะเสียชีวิต ยายทองหล่อ ทำเลทอง แม่เพลงอีกท่านที่เป็นเพื่อนสนิทและเป็นคู่หูในการแสดงมาช้านาน ได้แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ช่วงหนึ่งยายทองหล่อร้องเพลงฉ่อยให้ฟัง ยายทองอยู่ค่อย ๆ จับมือเพื่อน น้ำตาไหล มุมปากสั่นระริก พลันยายทองหล่อก็ร้องไม่ออก..และร่ำไห้

ในหนังที่ผมจินตนาการไว้เล่น ๆ เรื่องราวของยายทองอยู่จะจบลงตรงนี้ เป็นภาพนิ่งขณะนอนป่วยกุมมือยายทองหล่อ พร้อม ๆ กับดนตรีบรรเลงท่วงทำนองหวานเศร้า จากนั้นก็จะแทรกด้วยเสียงร้องเพลงพื้นบ้านเมื่อครั้งอดีตของยายทองอยู่ในท่วงทำนองเนื้อร้องร่าเริงมีชีวิตชีวาเข้ามาทดแทน และทิ้งท้ายด้วยบทสนทนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีคนถามยายว่า “ยายจ๋า...ในชีวิตนี้ ยายรักอะไรมากที่สุด”

คำตอบของยายนั้นสั้นกระชับแค่ว่า “ข้ารักเพลง”



(เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)




เรื่องผีในคืนวันฮัลโลวีน โดย "นรา"


เมื่อคืนวันฮัลโลวีนที่เพิ่งผ่านพ้น แถวบ้านผมฝนตกกระหน่ำหนักและนานต่อเนื่องราวกับฟ้ารั่ว แถมยังมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง รวมทั้งฟ้าผ่ามาเป็นระยะ ๆ คอยเสริมสร้างบรรยากาศในซอยเปลี่ยวให้ใกล้เคียงกับหนังสยองขวัญยิ่งขึ้นไปอีก

ผมเหลียวมองออกทางนอกหน้าต่าง ก็พบว่ามืดสนิทและวังเวง เสาไฟฟ้าที่อยู่เยื้องถัดไปเล็กน้อย ดับลงเหมือนเช่นทุกครั้งที่เจอลมฝนเล่นงาน มิหนำซ้ำไฟฟ้าในบ้านก็ออกอาการวูบวาบ มีไฟตกส่อสัญญาณไม่สู้จะดีนัก ก่อนจะดับให้ใจเสียประมาณหนึ่งวินาที แล้วติดขึ้นใหม่

ราว ๆ สี่ทุ่มครึ่ง กริ่งโทรศัพท์ก็กรีดร้องดังขึ้นอย่างกะทันหัน ทำเอาผมสะดุ้งตกใจ เมื่อรับสายก็ได้ยินเสียงพูดช้า ๆ เนิบ ๆ แผ่ว ๆ และแหบ ๆ ฟังดูเย็นยะเยือกของผู้ชายคนหนึ่ง “พี่...นา..รา...อยู่...มั้ย...คร้าบ...นี่...ผม...เอง...น้า...” (ขออภัยด้วยครับ ที่ถอดสำเนียงออกมาเป็นตัวหนังสือแล้วไม่น่าสะพรึงกลัวเท่าของจริง โปรดใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการอ่าน เพื่ออรรถรสที่แซ่บซึ้งยิ่งขึ้น)

ขณะกำลังนึกทบทวนว่า ผู้โทรศัพท์มาหาผมเป็นใคร เสียงดังกล่าวก็พูดต่อไปอีก “ไม่...ได้...เจอ...กัน...นาน...เหงา...มั้ย...อั๊ย...อั๊ย...อั๊ย...” ท้ายคำพูดมีเสียงก้องสะท้อนด้วย ผมคงไม่ได้หูแว่วไปเองหรอก

“ประทานโทษ ผมไม่อยู่ ไม่ทราบว่ามีธุระอะไรจะฝากไว้” ผมพูดตัดบทไม่ให้การสนทนายืดเยื้อ เพราะฟังจากน้ำเสียงแล้ว มีแนวโน้มสูงยิ่งว่า ถ้าไม่เจอผีหลอกสด ๆ ร้อน ๆ ทางโทรศัพท์ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า กำลังเผชิญเสียงแบบไม่เห็นหน้ากับพวกโรคจิต

“พี่...อย่า...มา...ทำ...เป็น...ตลก...ฝืด...นี่...ผม...เอง...ตึ๋ง...เอง...คร้าบ...พี่...” ฆาตกรโรคจิตเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของมัน ตึ๋งเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่ไม่ได้เจอกันประมาณเกือบ ๆ ปีแล้ว

“ไอ้ตึ๋ง มึงเล่นบ้า ๆ อะไรหยั่งงี้วะ โทรมาดึกดื่นแล้วยังแกล้งดัดเสียงอีก” ผมโวยวายเพื่อกลบเกลื่อนความกลัว

“เปล่า...ดัด...น้า...พี่...จริง...จริง...น้า...ผม...เป็น...หวัด...เจ็บ...คอ...แค่ก...แค่ก...” ตึ๋งสารภาพถึงเหตุผลที่มาของสำเนียงเสียงพูดแปลก ๆ พร้อมทั้งส่งเสียงไอเป็นหลักฐาน

“เอ็งสบายดีหรือเปล่า เออ เอ็งไม่ต้องตอบหรอก เอ็งเป็นหวัด ไม่ค่อยสบาย ขอเปลี่ยนคำถาม ที่โทรมานี่มีธุระอะไร?”

“วัน...นี้...วัน...ฮาล...โล...วีน...ผม...ก็...เลย...นึก...ถึง...พี่...อยาก...คุย...ด้วย...”

“นึกถึงทำไมวะ” ผมถามพร้อมทั้งแอบเดาในใจว่า สงสัยมันจะชวนออกไปท่องตะลุยราตรี

“เพราะ...หน้า...ตา...พี่...จะ...ไป...เที่ยว...ไหน...ก็...ไป...ได้...เลย...ไม่...ต้อง...ใส่...หน้า...กาก...ปลอม...ตัว...เหอะ....เหอะ...แค่ก...แค่ก...” ตึ๋งอธิบายเสร็จก็ถือโอกาสหัวเราะชอบใจ และไอส่งท้ายเป็นของแถมทางรูหู

“หยุดเลย เอ็งไม่ต้องอธิบายเหตุผลละเอียดนักก็ได้ ขอตัดเข้าประเด็นเลยก็แล้วกัน เอ็งโทรมาทำไม?”

“คือ...ว้า...ผม...สง...สัย...เลย...อยาก...ถาม...พี่...ว้า...พี่...เชื่อ...ว้า...ผี...มี...จริง...รื้อ...เปล่า...?” ตึ๋งเฉลยข้อข้องใจด้วยคำถามที่ทำเอาผมแทบหงายหลัง

“ไม่...ต้อง...ตอบ...ตอน...นี้...ก็...ได้...คิด...ซัก...หน่อย...ฮาล...โล...วีน...ปี...หน้า...ผม...ค่อย...โทร...มา...ถาม...ใหม่...” ว่าแล้วคุณตึ๋งก็วางหูโทรศัพท์จบการสนทนาลงดื้อ ๆ ห้วน ๆ เช่นเดียวกับตอนที่มันโทรมา (ผมเกิดจินตนาการเพิ่มเติม เห็นภาพไอ้ตึ๋งวางหูโทรศัพท์ เอามือปิดปากหัวเราะ หันมาทำหน้าเจ้าเล่ห์ยิ้มให้กับกล้อง)

หลังจากสงบสติอารมณ์จนหายตกใจกลัวแล้ว ผมก็ตัดสินใจเขียนถึงเรื่องนี้ จะเรียกว่าเป็นบทความ “ผีประทาน” ก็ได้เหมือนกัน หากเราจะนับอนุโลมว่าไอ้ตึ๋งเป็นผี

ผมเก็บเอาคำถามของคุณพี่ตึ๋งมานั่งคิดต่อ (ควบคู่กับวางแผนว่า จะต้องหาโอกาสโทรศัพท์ไปแกล้งมันบ้างเป็นการล้างแค้น) ตอบไม่ได้หรอกนะครับว่า เชื่อหรือไม่ในเรื่องภูติผีปีศาจ แต่มั่นใจเต็มร้อยว่า ผมเป็นคนกลัวผี และยินดีมากจากใจจริง ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ต้องเจอะเจอกันเลยตลอดชีวิต

ตัวผมเองนั้นไม่เคยมีประสบการณ์พบพานเรื่องผีลี้ลับใด ๆ ทั้งสิ้น (เหตุการณ์ที่พอจะนับได้ว่า ใกล้เคียงกับการโดนผีหลอกมากสุดก็คือ ได้เจอและรู้จักกับไอ้ตึ๋งนี่แหละครับ) ประมาณว่า คลื่นสัญญาณอยู่คนละขั้ว ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้

อย่างไรก็ตาม ผมรู้จักเพื่อนรุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน และรุ่นน้องหลายราย ต่างบอกเล่าและยืนยันว่า เคยเจอสิ่งไม่มีชีวิต แต่มีวิญญาณที่เรียกว่า “ผี”

มีทั้งประเภทเจอไม่กี่ครั้ง เจอแบบก้ำกึ่งคลุมเครือ (และสามารถวินิจฉัยได้ทั้งในทางวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์) เจอแบบถี่และบ่อย เจอจะแจ้งรุนแรงชนิดที่เป็นผมก็คงจะจับไข้หัวโกร๋น

ในบรรดาคำบอกเล่าทั้งหมด เพื่อนรุ่นพี่ของผมรายหนึ่งได้ถ้วยชนะเลิศ เพราะพบเห็นเป็นประจำทุกค่ำคืนและชัดแจ๋ว

เพื่อนรุ่นพี่ท่านนี้ เป็นเด็กต่างจังหวัด ทุกคืนหลังจากปิดไฟเข้านอน แล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง พี่เขาจะเห็นต้นมะม่วงสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านตะคุ่ม ๆ อยู่ท่ามกลางความมืด ห่างออกไปประมาณ 10 กว่าเมตร

ของแถมก็คือ แต่ละคืนบนต้นมะม่วงจะมีโครงกระดูกร่างคนมานั่งเข้าเวรอยู่เป็นประจำ ที่เด็ดกว่านั้น ท่านผียังจ้องมองมาตรงที่พี่เขานอนอยู่ซะด้วย

ครั้งแรกสุดที่เห็น พี่เขากลัวจนไม่กล้าพูดอะไรออกมา ได้แต่นอนจ้องไปเรื่อย ๆ กระทั่งเคลิ้มหลับ

คืนต่อมาและต่อมาเป็นเวลาอีกหลายปี พี่เขาก็ยังคงพบเห็นภาพเดิม ๆ บนต้นมะม่วง ในที่สุดก็คุ้นและชิน จากที่กลัวสุดขีดก็คลี่คลายเป็นเฉย ๆ (ผมฟังเรื่องนี้แล้ว ก็สรุปได้อย่างเดียวว่า ถ้ามันเกิดขึ้นกับตัวผม ก็คงจะย้ายบ้านหนีทันที)

รุ่นพี่คนนี้สังกัดอยู่ในบุคคลจำพวก คลื่นแรงชัดสัญญาณฉับไวกับเรื่องผีลี้ลับนะครับ เท่าที่ผมทราบ จนถึงปัจจุบันพี่เขาก็ยังพบเผชิญกับประสบการณ์หวิวสยิวทรวงอยู่เนือง ๆ จนนับเป็นเหตุการณ์ปกติอย่างหนึ่งในชีวิต

อย่างไรก็ตาม คำบอกเล่าเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ผมฟังมาอีกที ไม่อาจพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าเท็จจริงเป็นยังไง

พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าวัดประเมินเอาจากตัวผมเป็นเกณฑ์ ผีก็ไม่มีอยู่จริง แต่พอฟังจากคนรอบข้าง ผีก็คงมีจริงและมีเยอะซะด้วย

ผมจึงไม่สามารถฟันธงว่า ผีมีจริงหรือไม่ และพูดได้แค่ว่า เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ ตลอดจนไม่เคยมุ่งหวังจะค้นหาคำตอบ

ที่แน่ ๆ ผมเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปตามวัดวาอารามต่าง ๆ, อนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญหลาย ๆ ท่านในประวัติศาสตร์, พระพรหม, พระพิฆเณศ, ศาลเจ้า หรือแม้กระทั่งพระภูมิเจ้าที่ ฯลฯ

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ท่านเหล่านี้จะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใด ๆ บ้างหรือไม่ แต่ในใจก็ได้นับถืออย่างเต็มเปี่ยมว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ ในฐานะสัญลักษณ์ของความดีงามหรือคุณค่าบางประการ การเคารพนับถือกราบไหว้ จึงทำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง มากกว่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ติดพ่วงตามมา

ผมเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง ก็เพราะเมื่อไรก็ตามที่ได้ไหว้เคารพพระพุทธรูปต่าง ๆ ผมจะรู้สึกว่าจิตใจสงบนิ่งขึ้น เกิดสำนึกไปในทางใฝ่ดี รู้ตระหนักว่า อะไรควรทำ อะไรพึงหลีกเลี่ยง ไม่ได้มุ่งบูชาเพื่อจะบนบานศาลกล่าวหวังโชคลาภในทางลัด

ผมได้รับการสั่งสอนตลอดมา ให้เชื่อในเรื่อง พึ่งพาตนเอง อยากได้อะไรก็ให้มุมานะค่อย ๆ สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรง สิ่งใดก็ตามที่เคารพนบไหว้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งต้องสมควรนอบน้อม ไม่ไปรบกวนพึ่งพาให้ท่านคอยช่วยเหลือ

พูดเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่า ตลอดทั้งชีวิตผมจะไม่เคยพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยามทุกข์เลยนะครับ เคยอยู่เหมือนกัน ตอนที่แม่ผมล้มป่วยนั้น นอกจากจะดูแลรักษาพยาบาลกันตามวิถีทางการแพทย์แล้ว ผมก็ไปไหว้อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ที่พณิชยการพระนคร สถานศึกษาเก่าของผม

ไหว้เสร็จผมก็โล่งอกสบายใจ เกิดกำลังใจขึ้นมาฉับพลัน และคิดว่าเพียงเท่านี้ เสด็จเตี่ยก็แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว (หลังจากนั้นอีกสักพัก อาการป่วยของแม่ผมก็ทุเลา และค่อย ๆ มีสุขภาพแข็งแรงดีขึ้นตามลำดับ)

ผมขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง ในยามชีวิตประสบเหตุเดือดร้อน เสมือนเป็นอีกที่พึ่งหนึ่งทางใจ และพยายามจะให้อยู่ในขอบเขตเท่าที่จำเป็นเพียงเแค่นี้

นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผมยังเชื่ออีกด้วยว่า “เวรกรรมมีจริง” และ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

เป็นความเชื่อที่สามารถตัดรายละเอียดเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรืออำนาจพิเศษนอกเหนือธรรมชาติออกไปก็ได้เหมือนกัน

พูดให้ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์สักหน่อยก็คือ มันเป็นเรื่องของ action และ retion มีการกระทำใด ๆ เกิดขึ้น ก็ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองติดตามมา

เรามักจะประเมินผลลัพธ์ของการทำดีทำชั่วคลาดเคลื่อน โดยมองเฉพาะแค่ฐานะมั่งคั่งร่ำรวยล้นฟ้า แต่ข้ามรายละเอียดทางด้านทุกข์สุขในใจ กระทั่งคิดไขว้เขวไปว่า “ทำชั่วแล้วกลับได้ดี”

เชื่อผมเถอะครับว่า เงินซื้อได้เต็มที่ก็แค่ความสะดวกสบายทางด้านวัตถุเท่านั้นเอง และบ่อยครั้งความสะดวกสบายกับความสุข ก็เป็นคนละเรื่องที่แตกต่างห่างกันอยู่ไกล แค่พอมีกินมีใช้โดยไม่เดือดร้อน มีวิธีคิดทัศนคติที่ดี ก็สามารถมีความสุขตามอัตภาพได้แล้วล่ะ

ทุกข์สุขของชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในใจ แค่คิดดีหรือคิดชั่วขึ้นมาเพียงแวบเดียว ผลลัพธ์ก็สามารถเกิดขึ้นกับตัวได้อย่างฉับไว ตรงนี้ล่ะครับที่ทำให้ผมเชื่อว่า “เวรกรรมมีจริง” และ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

วันนี้อาตมา...ขอโทษทีครับ...เพลินไปหน่อย ผมขึ้นต้นด้วยเรื่องไอ้ตึ๋ง แต่แล้วก็มาจบลงด้วยการขึ้นธรรมาสน์เทศน์ได้ยังไงก็ไม่รู้




(เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")










วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคุ้ยเขี่ย โดย "นรา"


วันนี้ขออนุญาต “ขายของ” กันอีกครั้ง

ผมเพิ่งมีพ็อคเก็ตบุครวมเล่มล่าสุดออกมาสด ๆ ร้อน ๆ ปนชื้น ตามสภาพอากาศประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร ชื่อ “คุยคุ้ยเขี่ย” และกำลังวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

งานชิ้นนี้ถ้าเปรียบเป็นเพลง ก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่อัลบั้มเดี่ยว แต่เข้าข่ายจับคู่รวมกันเฉพาะกิจ เขียนร่วมกับคุณน้องเผ่าจ้าว กำลังใจดี เพื่อนผู้มีรสนิยมในการดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสือ และมีทัศนคติอุปนิสัยกวนตีนคล้าย ๆ ผม

ชะรอยว่าชาติที่แล้ว คุณเผ่าจ้าวกับผม คงเคยทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน และอธิษฐานผิดพลาดทางเทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่ง ชาตินี้เราทั้งสองจึงดันเกิดมาเป็นผู้ชาย และมีรสนิยมรักเพศตรงข้าม ก็เลยอดเป็นเนื้อคู่ตุนาหงัน (ว่าแต่ว่า ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็ขอให้เป็นเหมือนชาตินี้ คือ ต่างคนต่างเร่ร่อนค้นหานางเอกในชีวิตจริงตามยถากรรม มันดีอยู่แล้วนะครับ อย่าไปเปลี่ยนอะไรให้สยองขวัญกว่านี้เลย)

ด้วยเหตุผลทางไสยศาสตร์ตามนี้ ผมกับคุณเผ่าจ้าวจึงคบหาสนิทสนมเรื่อยมา โดยต่างฝ่ายต่างงง ๆ กันอยู่ว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตแน่นแฟ้นย่ำปึ้กตั้งแต่ตอนไหน

โชคดีอยู่อย่างที่คุณเผ่าจ้าวกับผมนั้น นาน ๆ ถึงได้เจอะเจอกันสักครั้ง ส่วนใหญ่จะสื่อสารกันแบบโฟนอินทางโทรศัพท์ โอกาสที่จะเกิดข่าวลือและโดนปาปารัซซีแอบถ่ายภาพสวีตหวิวสยิวทรวงมาเผยแพร่ จึงเป็นอันรอดไปได้อย่างหวุดหวิดฉิวเฉียด

“คุยคุ้ยเขี่ย” เกิดขึ้น เมื่อวันดีคืนดี ผมนึกครึ้มอีท่าไหนก็ไม่รู้ จึงออนไลน์ทาง msn ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นานทีปีหน ผมจึงจะทำสักครั้ง (เปรียบเป็นสถานที่ msn ของผม ก็หญ้ารกรุงรัง ฝุ่นเขรอะ ว่างโล่งวังเวงเหมือนบ้านร้างนะครับ)

เหตุประจวบเหมาะก็คือ วันนั้น อีตาคุณน้องเผ่าจ้าวก็ดันออนไลน์มาชนกันโครมเบ้อเริ่ม เลยได้แลกเปลี่ยนสนทนาคุยกัน

คุยไปคุยมา ทั้งคุณเผ่าจ้าวและผมต่างรู้สึกว่า “สนุกดี” และน่าจะคุยกันให้เป็นกิจลักษณะมากกว่านี้ เรื่องจึงคลี่คลายมาเป็นว่า นับแต่นั้นเราทั้งสองก็ช่วยกันทำมาหากิน กลายเป็นข้อเขียนในคอลัมน์ “คุยคุ้ยเขี่ย” ในนิตยสาร DDT จนได้บทความจำนวนมากพอที่จะรวมเล่ม พร้อม ๆ กับที่หนังสือ DDT ปิดตัวลงพอดิบพอดี (ไม่คุณเผ่าจ้าวก็คงเป็นผมนี่แหละ ที่เข้าข่าย “อีแร้ง” หรือตัวนำโชคร้าย)

ลักษณะของคอลัมน์ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจาก “ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน” รวมบทความโต้ตอบแลกเปลี่ยนเขียนจดหมายคุยกันระหว่างสองนักเขียนซีไรท์ คือ คุณปราบดา หยุ่นและคุณวินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้นให้แก่ผมและคุณเผ่าจ้าว

หลังจาก “คุยคุ้ยเขี่ย” ได้ตีพิมพ์ลงใน DDT ไปสักพัก ผมกับคุณเผ่าจ้าวได้มีโอกาสคุยกัน เราต่างรู้สึกตรงกันว่า เขียนด้วยความผ่อนคลาย ไม่ค่อยรู้สึกว่า “เป็นงาน” เหมือนดังข้อเขียนอื่น ๆ ตามปกติ

เรื่องต่าง ๆ ที่คุณเผ่าจ้าวกับผมคุยกัน จึงค่อนข้าง “สด” คือ นึกอะไรขึ้นมาได้และเป็นหัวข้อที่อยากคุย ก็ว่ากันไปตามนั้น ตามความเข้าใจของแต่ละคน หรือสถานการณ์ห้อมล้อมทางสังคมขณะลงมือเขียน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายบทหลายตอน เราคุยกันในประเด็นล่อแหลมเฉียดคุกใกล้ตะรางอยู่สักหน่อย (คุณเผ่าจ้าวชอบกินอาหารมังสวิรัติ ส่วนผมชอบซัดข้าวต้มกุ๊ย อันนี้ระบุไว้เผื่อพลาดพลั้งดวงซวยขึ้นมา ญาติโยมจะได้ซื้อไปเยี่ยมได้ถูกต้องตรงตามรสนิยม)

ตอนที่คุณเผ่าจ้าวบอกผมว่า “เอาละนะ” จะรวมเล่ม “คุยคุ้ยเขี่ย” แล้วล่ะ สารภาพตามตรงว่า ผมเองก็ไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพมากนัก เพราะจุดเริ่มต้นและกรรมวิธีการเขียน ผิดแผกไปจากงานรวมเล่มอื่น ๆ ของผมที่เคยมีมา

มันเป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้แก่ตัวผมเอง หลีกหนีความจำเจหลาย ๆ อย่างจากราชการประจำ ไม่ใช่บทความที่เขียนขึ้นด้วยจุดมุ่งหมาย “ตั้งใจปั้น” อย่างประณีตบรรจง

เปรียบเป็นการวาดรูป ก็เหมือนงานสเก็ตช์ลายเส้นฉับไว เห็นเป็นแค่เค้าโครงคร่าว ๆ ไม่ได้แรเงา ระบายสี แต่งเติมรายละเอียดจนสวยงามเหมือนจริง

ผมก็เลยหวั่น ๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากบทความแต่ละชิ้นนั้น เมื่อเขียนเสร็จและส่งไปแล้ว ก็แทบไม่เคยนำมาอ่านทบทวนซ้ำเลย แต่คุณเผ่าจ้าวซึ่งได้อ่านทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน ก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า พออ่านรวม ๆ แล้ว “โอเคนะพี่”

จนกระทั่งผมได้มีโอกาสอ่านต้นฉบับทั้งหมดเพื่อตรวจปรู้ฟก่อนส่งโรงพิมพ์ ผมก็โล่งอก เพราะเห็นว่า คุณภาพโดยรวมอยู่ในขั้นน่าพึงพอใจ และดีกว่าที่ผมรู้สึกวิตกจริตล่วงหน้าไว้ก่อนเยอะทีเดียว

ฟาร์มวัวยังไม่ทันหาย ฟาร์มอายก็เข้ามาแทรก พอพ้นจากปัญหาประสาทรับประทานเรื่องคุณภาพของตัวงานไปแล้ว ก็มีเรื่องระทึกเร้าใจอันใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ คุณน้องเผ่าจ้าวชวนผมไปงานสัปดาห์หนังสือ

ไม่ได้ชวนกันไปเดินเล่นละลายทรัพย์หรอกนะครับ แต่ชวนไปประจำการที่บูธ w 27 ของสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด (ซึ่ง “คุยคุ้ยเขี่ย” นำไปฝากขายที่นี่) เพื่อพบปะมิตรรักแฟนเพลง

คุณเผ่าจ้าวบอกกับผมว่า ไม่กล้าใช้คำว่า ไปแจกลายเซ็น ซึ่งผมก็เห็นพ้องทุกประการ จึงตกลงกันว่า เราจะเจอกันเองตามประสานักเขียนสติไม่ค่อยเรียบร้อย (ซึ่งอยากเจอคนอ่านเหลือเกิน) ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2552 เวลาบ่ายสองโมง

เรื่องเกี่ยวกับการ “ขายของ” ก็มีเท่านี้แหละครับ พี่น้องเอ๊ย!!!



(เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2552 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)