วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ดอกไม้และก้อนอิฐ โดย "นรา"

เพราะความที่ผมเขียนแต่บทวิจารณ์หนังเสียเป็นส่วนใหญ่ และเขียนต่อเนื่องมาเกินสิบปี อาการเบื่อหน่ายย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ช่วงราว ๆ 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมจึงหนีความจำเจ เลี่ยงไปเขียนบทความลักษณะอื่น ๆ ตั้งแต่แนะนำหนังสือ, บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว, ทดลองเขียนงานในท่วงทำนองของเรื่องแต่ง ฯลฯ

ส่วนใหญ่ของข้อเขียนจำพวก “ไม่เอาหนัง” ของผม ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ผู้จัดการ ซึ่งผมเขียน ๆ หยุด ๆ สลับเวียนไปมาอยู่หลายครั้ง
นี่เป็นปัญหาในเรื่องของการ “ยืนระยะ” และ “ความต่อเนื่อง” นะครับ

พ้นจากการเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องหนังแล้ว งานอื่น ๆ ของผม มักจะไปไม่ค่อยรอด เนื่องจากขาดความชำนาญ ไม่ได้ผ่านการฝึกปรือมาทางด้านนี้โดยตรง

ประการถัดมาคือ พอมีเนื้อหาเปิดกว้างเป็นอิสระ กรอบที่กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าเขียนถึงอะไรก็ได้ กลับกลายมาเป็นอุปสรรค เพราะต้องนึกคิดสร้างประเด็นขึ้นมาท่ามกลางแง่มุมเยอะแยะมากมาย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผมสันทัดจัดเจนสักเท่าไร

เวลาเขียนวิจารณ์หนัง ผมคิดว่าไม่ยาก นอกจากความคุ้นมือทำต่อเนื่องมาพอสมควรแล้ว ลักษณะของการทำงานยังง่ายกว่านะครับ คือ มีหนัง (เรื่องที่จะเขียนถึง) มาเป็นตัวกำหนด การไตร่ตรองค้นหาประเด็นสำหรับนำมาเขียน ก็คิดคำนึงผ่านตัวหนัง ซึ่งเป็นเป้าที่ขมวดแคบชัดเจนกว่า

มิหนำซ้ำ ในการเขียนวิจารณ์หนังนั้น เวลาคิดอ่านเล็งเห็นประเด็นไม่ค่อยชัดเท่าที่ควร ยังสามารถใช้ “ตัวช่วย” นั่นคือ การทำการบ้านค้นข้อมูลมาประกอบการเขียน (หรือสร้างความกระจ่างให้กับตัวผมเองสำหรับลงมือเขียน)

บทความที่มีเนื้อหาเบ็ดเตล็ดกระจัดกระจาย ก็คงใช้วิธีทำการบ้านเข้ามาประคับประคองได้เหมือนกัน แต่อย่างว่าล่ะครับ ปัญหามันอยู่ที่ผมยังไม่เก๋าพอมากกว่า จึงกลายเป็นความกดดันลึก ๆ อยู่ตลอดเวลา

ถัดมาคือ คุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอของตัวงาน ในข้อเขียนประเภทบทวิจารณ์หนังนั้น ผมคิดว่าได้ผ่านขั้นตอนลองผิดลองถูก และรู้ทางหนีทีไล่มาพอสมควร จนกระทั่งมั่นใจว่าสามารถ “เอาอยู่”

เปรียบแล้วก็เหมือนทำกับข้าวนะครับ ผมคุ้นกับการเจียวไข่ จนรู้ว่าจะปรุงอย่างไรให้รสถูกปาก ได้มาตรฐาน แต่สำหรับบทความที่ “ไม่ใช่เรื่องหนัง” อาจเปรียบเหมือนการหัดต้มยำทำแกง ทดลองพลิกแพลงเปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ งานแต่ละชิ้นจึงต้องใช้เวลาเขียนมากกว่าปกติ และพึ่งพาอาศัยการขัดเกลาแก้ไขอย่างหนักหน่วง (เหมือนลองทำอาหารจานเดิมซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ปรับเปลี่ยนเครื่องปรุงส่วนผสม พร้อมกับชิมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะค้นพบรสชาติที่เหมาะสม)

ข้อจำกัดทางด้านเวลาในการเขียนและส่งต้นฉบับ คงเป็นสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้บางครั้งผมมีโอกาสแก้ไขทบทวนได้ไม่ถี่ถ้วน และจำต้องส่งตามกำหนด ทั้งที่คุณภาพของงานยังไม่เข้าที่ลงตัว

งานเขียนในช่วง “ฝึกหัด” ทำนองนี้ของผมที่ปรากฎในผู้จัดการ จึงมีทั้งชิ้นที่เกิดเสียงตอบรับดีเกินเหตุและติดลบ สลับไปมาอยู่ตลอดเวลา เป็นมาตรฐานที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ค่อยสม่ำเสมอ

บ่อยครั้งบางชิ้นที่เขียนออกมาน่าพึงพอใจ ก็กลายเป็นความกดดันสำหรับชิ้นที่จะเขียนติดตามมาได้เหมือนกัน ในทางตรงข้าม ชิ้นที่โดนตำหนิติเตียนจากผู้อ่าน ก็สร้างความกดดันอีกแบบ คือ ทำให้ผมสูญเสียความเชื่อมั่น และกำลังใจถดถอย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความกดดันสูงสุด คือ ปัญหาทางด้านเวลาการทำงาน ซึ่งผมต้องเขียนส่งสัปดาห์ละครั้ง

เรื่องของเรื่องคงไม่สู้หนักหนากระไรนัก หากผมมีภาระต้องสะสางจัดการเพียงเท่านี้ ทว่าในความเป็นจริง ระหว่างสัปดาห์ผมมีงานเขียนปกติอีกสองถึงสามชิ้น และมีเวลาสำหรับลงมือเขียนบทความที่ไม่เกี่ยวกับหนังเพียงแค่วันเดียว

สภาพที่เกิดขึ้นจึงเหมือนหนังเรื่องเดิมฉายซ้ำ คือ ผมใช้เวลาช่วงเย็นระหว่างจันทร์ถึงศุกร์ (หลังจากเสร็จงานเขียนอื่น ๆ ตามปกติแล้ว) เพื่อคิดประเด็นต่าง ๆ ล่วงหน้า พร้อม ๆ กับคำถามชวนสติแตกว่า “อาทิตย์นี้จะเขียนอะไรดีหว่า”

บางสัปดาห์โชคดี ก็นึกเรื่องนึกประเด็นออกได้เร็วหน่อย มีเวลาสำหรับทดลองคิดทดลองเขียนในหัว ลำดับวางเค้าโครงต่าง ๆ ในใจ แต่โชคไม่ดีเช่นนั้นเสมอไปหรอกครับ ส่วนใหญ่บ่อยครั้งผมมักจะควานหาเรื่องที่จะเขียนเจอในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ผมจะต้องเขียนให้เสร็จและส่งงานตามกำหนด

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ข้อเขียนแต่ละชิ้นของผม มักขึ้นต้นด้วยความรู้สึกหวั่น ๆ ว่า มีเรื่องจะเขียนได้สั้นเกินไป แต่พอลงมือได้สักพักจนสำเร็จลุล่วง ความคิดและรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นระหว่างทาง มักจะทำให้มันเสร็จสิ้นลงโดยมีความยาวมากเกินเนื้อที่ไปเยอะ จนกระทั่งต้องตัดทอนให้พอเหมาะ

และผมพบว่า บ่อยครั้งการตัดทอนรายละเอียดบางประการออกไป ทำให้การอธิบายของผมไม่กระจ่างเพียงพอ สิ่งที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน จึงเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งนำไปสู่ความเห็นในเชิงลบ ชนิดที่ผมเองก็คาดคิดไม่ถึง

คอลัมน์ “เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ” ของผมในผู้จัดการนั้น ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐสลับกัน แต่ที่แน่ ๆ มันเป็นหนึ่งในงานหนักสาหัส ตื่นเต้นเร้าใจ และกดดันมากสุดเท่าที่ผมเคยเจอมา มีทั้งทุกข์และสุขแรง ๆ ปะปนจนไม่อาจแยกแยะออกจากกัน

นี่ยังไม่นับรวมความกดดันจากการแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านทางเว็บไซต์ ที่แตกต่างสุดขั้วเป็นสองทาง มีทั้งผู้อ่านที่เป็นมิตรเปี่ยมด้วยทัศนคติอัธยาศัย ชนิดกล่าวคำขอบคุณซาบซึ้งใจอย่างไรก็ไม่เพียงพอ และมีทั้งผู้อ่านสาขาบู๊โลดโผน ซึ่งแสดงความคิดเห็นชนิดที่ผมอ่านแล้ว ก็อยากย้อนเวลาถอยหลังกลับไปเลือกใหม่ เพื่อที่จะ “ไม่รับรู้” ใด ๆ ทั้งสิ้น

ผมนั้นเป็นโรคขี้น้อยใจติดอันดับโลกนะครับ หากเป็นสมัยเพิ่งทำงานใหม่ ๆ โดนตำหนิติเตียนแรง ๆ ผมก็คงปล่อยหมัดบวกสวนกลับทันทีทันควันเหมือนกัน

แต่ผมก็ไม่เคยเข้าไปชี้แจง แก้ตัว โต้เถียง ตอบกลับ หรืออธิบายผ่านบทความชิ้นถัด ๆ มา เหตุผลก็เพราะ งานของผมควรจะอยู่ในตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งผู้อ่านสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และผมก็ควรจะน้อมรับฟังทั้งคำชมคำด่าทุกระดับความดุเดือด

ที่สำคัญคือ งานชิ้นใดก็ตามที่ก่อให้เกิดความเห็นในทางลบ มันอาจมีปัญหาบางอย่างที่ผมมองไม่เห็น นึกไม่ถึง ปรากฎซ่อนอยู่ในนั้น หน้าที่ของผมจึงอยู่ที่ต้องควานหาต้นตอสาเหตุให้เจอ เพื่อแก้ไขปรับปรุงมิให้ผิดพลาดซ้ำอีก

ยิ่งไปกว่านั้น การถกเถียงกับผู้อ่าน ไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ภาวะ “เรื่องที่ยืดเยื้อและไม่จบ”

ที่ผ่าน ๆ มา เจอะเจอการด่าทอหนัก ๆ รุนแรงคราวใด ผมก็จะอ่านทวนงานของตนเอง บางครั้งก็พบว่าเป็นความบกพร่องของผม บางครั้งก็เป็นทัศนคติต่อโลกและชีวิต ระหว่างผมกับผู้อ่านที่ขัดแย้งไม่ตรงกัน

กรณีที่ผมทบทวนถี่ถ้วนจนเชื่อและมั่นใจว่า งานชิ้นที่โดนด่าเละเทะของผมถูกต้องดีงามแล้ว ผมก็ได้แต่ท่องคาถาปลอบใจตนเองว่า ถึงที่สุด ผมก็เป็นเพียงชีวิตเล็ก ๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอันใด เมื่อเทียบกับโลกและจักรวาลทั้งหมด

เมื่อคิดและมองให้ตัวตนของผมนั้นมีขนาดเล็กลง คำด่าที่แสดงอารมณ์ ขาดความเป็นเหตุและผล ก็ยิ่งลดทอนกลายเป็นธุลีที่มองไม่เห็น

ผมเชื่อเสมอมานะครับว่า การเขียนหนังสือคือหนทางหนึ่งในการขัดเกลาตนเองไปสู่หนทางแห่งการเป็นคนดี ดอกไม้และก้อนอิฐจากผู้อ่าน ก็เป็นขั้นตอนบทเรียนไปสู่การฝึกฝนความหนักแน่นในจิตใจ ไม่ให้เผลอไผลหลงปลื้มไปกับคำชื่นชม และไม่หวั่นไหวสั่นสะเทือนจนเกินควรกับคำตำหนิ

ความรู้สึกดีใจเสียใจอันเกิดจากเสียงตอบรับที่มีต่องานเขียน เกิดขึ้นได้เสมอนะครับ สิ่งที่ผมพยายามจะเรียนรู้ก็คือ วิธีรับมือเพื่อให้อยู่ตรงจุดกึ่งกลาง ใช้เสียงชื่นชมเป็นกำลังใจสำหรับเขียนงานให้ดีขึ้น โดยไม่หลงระเริงลืมตัว พร้อม ๆ กันนั้นก็ใช้เสียงติเตียนเป็นกระจกส่องหาข้อบกพร่องเพื่อแก้ไขปรับปรุง โดยไม่สูญเสียความเชื่อมั่น หรือตกอยู่ในอารมณ์หม่นหมองท้อแท้

ผมยังทำได้ไม่สำเร็จบรรลุเต็มร้อยหรอกนะครับ แต่ก็กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ผมมีภูมิต้านทานแข็งแรงดีขึ้นและ “นิ่ง” กว่าเดิมเยอะเลย


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

6 ความคิดเห็น:

buaying846 กล่าวว่า...

หวัดดีค่ะคุณนรา

อ่านบทความของคุณใน manager วันนี้ แล้วเห็นว่าคุณมี blog เลยแวะมาดูค่ะ ยังไม่ได้อ่านบทความทั้งหมดใน blog ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา

จริงๆ แล้วเพิ่งจะอ่านบทความของคุณได้ไม่นาน ใน manager นี่ก็ซักพักก่อนที่คุณจะเปลี่ยนแนวการเขียนภายใต้ชื่อ column ใหม่ว่าเป็ดย่างนอกเครื่องแบบ อ่านแล้วนิยมในแนวความคิดค่ะ ถึงแม้ว่าจะรู้สึกว่าชื่อเป็ดย่างนี้มันอ่านแล้วแปลกๆ ก็ตาม ^^

ไว้จะแวะมาอ่าน blog เรื่อยๆ ค่ะ

PS: หนังสือที่คุณเขียนถึงใน manager วันนี้ อ่านแล้วอยากหามาอ่านบ้าง ไว้ต้องรอกลับเมืองไทยเสียก่อน ปีหน้านี่หวังว่าคงจะยังพอหาอ่านได้นะคะ

Somboon กล่าวว่า...

ยังติดตาม บทความดีๆ สม่ำเสมอ เมื่อมีโอกาส

กับการอ่านที่ไม่ต้องเตรียมตัวว่าจะได้อะไร จากการอ่าน แต่ได้โดยไม่ได้กะเกณฑ์

คุณนรา ใช่พี่จ๋อยป่าวครับ(ถ้าไม่ใช่ต้องขอโทษด้วย)

แหบ

baipai2001 กล่าวว่า...

ตามมาอ่านจากเว็บผู้จัดกวนนะคะ

narabondzai กล่าวว่า...

ขอบคุณ คุณ buaying846 ในฐานะความเห็นแรกสุดของบล็อกนี้

ขอบคุณ คุณน้องแหบ นี่พี่จ้อยเอง ไม่ได้เจอกันหลายปี
หวังว่าคงสบายดี มีข่าวคราวอะไรเล่าสู่กันฟังบ้างนะ

ขอบคุณ คุณ baipai2001 หลังจากเข้าไปโผล่ในบล็อกของคุณแล้ว ผมก็หาวิธีเข้ามาตอบในบล็อกนี้สำเร็จจนได้
"นรา"

baipai2001 กล่าวว่า...

เออ พอดีเป็นบล็อกการบ้านเขียนความเรียงที่อ่านแล้วเพื่อนบอกว่างงแตกที่สุด
ปฮ. ขอบคุณคะที่มีทำให้มีความสุขในการอ่าน

Somboon กล่าวว่า...

ข้าวหน้าเป็ด มันก็คงต้องมากับ น้ำแกงมะรูมล่ะมั่งน่ะ และอีกหน่อยมันคงมีเป็ดไทย คล้ายๆ กับ ไก่ไทยด้วยสิ น่าจะเป็นอีกบรรยากาศนึงได้ดี อ่ะอ่ะอ่ะ