วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หายใจลึก ๆ หายใจฮึด ๆ โดย "นรา"


ช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมเริ่มต้น “ถือศีลอด” โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องพาดพิงถึงแง่มุมทางศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนตัวล้วน ๆ เลย

กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผมไปมีภาระรายจ่าย เป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร เพื่อป้องกันระบบการเงินไม่ให้สั่นสะเทือนได้รับผลกระทบจนเกินไป ผมจึงต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดกับตนเองเล็กน้อยประมาณสัก 2-3 เดือน

อันนี้เป็นสูตรเฉพาะตัวที่ผมยึดมั่นเสมอมาในช่วงหลัง ๆ

ผู้ที่ชี้ทางสว่างให้แก่ผมในเรื่องนี้ ไม่ใช่นักวิชาการที่ไหนหรอกนะครับ แต่เป็นผู้กำกับหนังชื่อคุณเป็นเอก รัตนเรือง

ตอนช่วงใกล้ส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา (2550-2551) ผมบังเอิญเจอคุณเป็นเอกแถว ๆ สะพานลอย หน้าห้างสรรพสินค้าหรูหราแถว ๆ ถนนสุขุมวิท

ผมกับคุณเป็นเอก มักจะเดินโต๋เต๋มาเจอกันตรงบริเวณสะพานลอยแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง จนท้ายที่สุดต่างฝ่ายต่างเลิกนับว่าเป็นความบังเอิญไปแล้ว และถือเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ร่วมกัน

เย็นวันนั้น ผมเพิ่งเดินออกมาจากร้านขายหนังสือ มุ่งตรงมายังสะพานลอยดังกล่าว ด้วยอาการลังเลใจอย่างรุนแรง

กล่าวคือ ผมไปเจอหนังสือขนาดมหึมา ปกแข็ง 2 เล่มจบ หนาเกือบ ๆ 5 นิ้ว สูงประมาณฟุตกว่า ๆ บรรจุกล่องอลังการ น้ำหนักประมาณเกือบ ๆ สิบกิโลกรัม เป็นผลงานการ์ตูนของท่านอาจารย์ดอน มาร์ติน (ชื่อเต็ม ๆ ของหนังสือชุดนี้ก็คือ The Completely Mad Don Martin)

อาจารย์ดอนนั้นเป็นหนึ่งในการ์ตูนนิสต์ระดับเสาหลักของนิตยสาร MAD และได้ชื่อว่าเป็นคนที่บ้าเพี้ยนสุดเหวี่ยง รวมทั้งตลกอย่างร้ายกาจ

อารมณ์ขันของอาจารย์ดอน จัดอยู่ในประเภทตลกโฉ่งฉ่าง เหมือนใช้ถาดตีหัวเรียกเสียงฮา แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ มันหลุดพ้นจากเหตุผลความสมจริงโดยสิ้นเชิง จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครคิดอะไรบ๊อง ๆ ได้ขนาดนี้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการ์ตูนของอาจารย์ดอน ก็คือ ลายเส้นอันเฉียบขาด สวยงาม และเต็มไปด้วยซาวด์เอ็ฟเฟ็คแปลก ๆ ไม่เป็นภาษามนุษย์ แต่อ่านแล้วได้อารมณ์บ้าบอคอแตกดีแท้ และสอดคล้องกับลูกบ้าในภาพที่วาดเป็นอย่างยิ่ง (เช่น sazzikk, skruncha, kloonk, shtoink, thwop!, bzzownt!, yaauch, ga-shklurtz ฯลฯ)

ตามประสาลูกศิษย์ที่มีความติงต๊องอยู่ในสายเลือด เมื่อพบเห็นผลงานของอาจารย์ที่เคารพ วางปรากฎอยู่ต่อหน้าเป็นอภิมหาคัมภีร์ ผมจึงเกิดอาการอยากได้ คว้าหมับเข้าให้ทันที

จนกระทั่ง เหลือบดูป้ายบอกราคา ผมก็ต้องเกิดอาการอึ้งและใบ้รับประทาน

หนังสือชุดนี้ราคาหกพันกว่าบาทเท่านั้นเอง

ผมยืนเลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่นาน หยิบขึ้นแล้ววางลงอยู่หลายครั้ง คิดคำนวณผลดีผลเสียประมาณ 700 กว่าข้อ ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาประมาณครึ่งชั่วโมง จนรปภ. เริ่มด้อม ๆ มอง ๆ ผมด้วยอาการไม่ไว้วางใจ

ผมไม่ได้มีทีท่าเหมือนขโมยหรอกนะครับ แต่ดูคล้าย ๆ พวกโรคจิตที่ยกหนังสือขึ้น ๆ ลง ๆ แทนการบริหารร่างกายในสถานฟิตเนสมากกว่า

ท้ายสุดผมก็เดินเอามือจิกหัวตัวเองกระชากลากถูออกจากร้าน เพื่อจะได้มีเวลาไตร่ตรองให้รอบคอบกว่านี้ว่า จะซื้อหรือไม่ซื้อ

เดินมาจนพบกับคุณเป็นเอกตรงสะพานลอย หลังจากคุยทักทายไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอสมควร ผมจึงเล่าให้คุณเป็นเอกฟัง ว่าเพิ่งเจอะเจออะไรมา

ฟังรายงานแล้ว คุณเป็นเอกก็สรุปให้ผมฟังด้วยเหตุผลประมาณว่า “ถ้าไม่ซื้อ ก็อดได้นะ อาจมีคนมาคว้าตัดหน้าไปก่อน หรือถ้าจะไปเมืองนอก ก็คงซื้อได้ราคาถูกกว่านี้ แต่ลำบากอีตอนที่ต้องแบกขึ้นเครื่องบิน แถมค่าตั๋วเครื่องบินก็แพงด้วย จะฝากเพื่อนที่อยู่ต่างแดนซื้อ ก็บาปกรรมเปล่า ๆ เอางี้สิ ลองกลับไปนอนเล่นที่บ้านซักสามวัน ถ้าผ่านไปแล้ว ไม่รู้สึกอะไร ก็แปลว่าไม่ได้อยากได้จริง แต่ถ้าสามวันไปแล้ว ยังกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หากชีวิตนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของมัน ถึงตรงนั้นก็ซื้อเถอะ ยอมกินอยู่ยากจนทนลำบากซักเดือน ก็น่าจะพอไหว”

แสดงความเห็นเสร็จสรรพ คุณเป็นเอกก็ร่ำลาเดินจากไป พอคล้อยหลังห่างกันในระยะประมาณ 5 เมตร คุณเป็นเอกก็หันกลับมาเรียกผม พร้อมทั้งตะโกนบอกความเห็นส่งท้าย ที่เปี่ยมด้วยความเป็นกลางอย่างยิ่งว่า “ซื้อเถอะ!!!”

ผมก็กลับมานั่งคิด นอนคิดที่บ้าน หลับฝันเห็นหนังสือดังกล่าว ลอยตุ๊บป่องเรียกร้องความสนใจอยู่เบื้องหน้าถึงสามคืนเต็ม ๆ

ครบกำหนดวัดใจ ผมก็รีบไปเบิกเงิน ซื้อหนังสือของอาจารย์ดอนทันที

และแล้วผมก็เริ่มรู้จักกับฤดู “ถือศีลอด” เป็นครั้งแรก

ว่ากันตามตรง ผมก็ยังกินอยู่ไม่ต่างจากเดิมสักเท่าไร แค่ลดระดับความหรูหราจากมื้อละร้อยสองร้อยบาท มาใช้บริการข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวแถว ๆ ปากซอยใกล้บ้าน ซึ่งราคาย่อมเยาว์กว่า เปลี่ยนจากสัญจรเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามาเป็นรถเมล์ และปักหลักอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกไปไหนโดยปราศจากกิจธุระอันจำเป็น

ผมรัดเข็มขัด ใช้ชีวิตมัธยัสถ์เช่นนี้อยู่หนึ่งเดือน รายจ่ายเกินงบไปหกพันกว่าบาท จากการซื้อหนังสือของอาจารย์ดอน จึงค่อยกลับมาเข้าที่เข้าทางตามเดิม

ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องตอบว่าคุ้มนะครับ เพราะหนังสือของอาจารย์ดอนนั้นสุดยอดจริง ๆ แม้ว่าลักษณะของอารมณ์ขัน จะเป็นอีกแนวทาง ที่นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางรูปธรรมอันใดได้ยาก แต่ก็ก่อให้เกิดความสุขทางใจแก่ผมอย่างใหญ่หลวง

พ้นจากนั้นแล้ว ผมก็ผ่านเผชิญฤดู “ถือศีลอด” อีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ใช่เพราะว่า ฮึกเหิมรู้วิธีรับมือหรอกนะครับ โดยมากมักจะมีรายจ่ายพิเศษอันจำเป็น อยู่นอกเหนือชีวิตประจำวัน ย่างกรายมาเยี่ยมเยือนเป็นระยะ ๆ เช่น เครื่องเล่นดีวีดีหรือโทรทัศน์เจ๊ง ต้องซื้อใหม่, มีเหตุให้เดินทางไปต่างจังหวัด และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ฯ

ทุกครั้งผมก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ ผ่านพ้นเอาตัวรอดด้วยดีเสมอมา

นี่เป็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผม ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ย้อนหลังกลับไปหลายปีก่อนหน้านั้น ผมไม่ได้เคร่งครัดทางด้านการใช้เงินเลยนะครับ ประมาณว่า เจอหนังสือของอาจารย์ดอน ผมก็ซื้อเลยทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรอง

หลักการของผม มีอยู่แค่อย่างเดียวคือ ใช้เงินยังไงก็ได้ ขอเพียงให้ไม่เกินรายรับ มีเหลือเก็บออมบ้างเล็กน้อย และไม่เป็นหนี้

ผมใช้ชีวิตของผมแบบนี้มาหลายปี มีเงินฝากธนาคารก้อนหนึ่ง ปราศจากทรัพย์สินอื่นใดเพิ่มเติม นอกจากหนังสือ, ซีดี และดีวีดีกองพะเนินเทินทึก

จนกระทั่งปลายปี 2549 ผมก็เจอวิกฤติแบบนึกไม่ถึงมาก่อน มีรายจ่ายหนัก ๆ หลายครั้งติดกันในช่วงไม่กี่เดือน เงินเก็บเงินออมที่เคยมีหมดไปอย่างรวดเร็ว ได้หนี้ก้อนใหญ่จำนวนเท่าเงินฝากมาแทน (ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วในบทความชื่อ “บทเรียนจากไร่อ้อย”)

ตอนนั้นเองที่ผมเกิดอาการใจทรุดขวัญเสีย พยายามนึกทบทวนสาเหตุว่า ผิดพลาดตรงไหน

เหตุการณ์หนักหน่วงสาหัสที่เกิดขึ้นกับผม มาจากปัจจัยง่าย ๆ สองอย่างเท่านั้นเอง คือ จู่ ๆ ก็เกิดรายจ่ายฉุกเฉินจำนวนมาก พร้อม ๆ กันก็เกิดจังหวะบวกสวนทางแบบส้มหล่น งานที่มีรายได้อันแน่นอนบางเจ้า เลิกกิจการปิดตัวไป รายรับที่เคยได้ตรงเวลา สะดุดหยุดชะงักล่าช้าขึ้นมาดื้อ ๆ (กล่าวคือ ค่าเรื่องหลายต่อหลายแห่งที่ผมควรจะได้รับ เกิดอาการล่าช้ามาก ๆ ขึ้นมาโดยพร้อมเพรียง)

ช่วงนั้น เงินค่าเรื่องที่ผมได้รับต่อเดือน (จากที่ควรจะได้ราว ๆ สองหมื่นถึงสามหมื่น) เหลือเพียง 1,500 บาท ขณะที่รายจ่ายฉุกเฉินนั้นซัดกระหน่ำเข้าไปหลายแสนบาท

ผมก็เลยได้ข้อสรุปใหม่ ที่เคยคิดว่าไม่ประมาทนั้น แท้จริงแล้วประมาทนะครับ คือ เชื่อมั่นในความแน่นอนของรายรับอันพึงได้มากไปหน่อย ทั้งที่สัจธรรมอย่างหนึ่งของการเป็นคนเขียนหนังสืออิสระนั้นมีอยู่ว่า รายได้มักมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นเสมอ

ที่ผ่านๆ มา ผมไม่ค่อยมีแผนสอง แผนสาม เตรียมเผื่อเอาไว้ พอเข้ายามคับขัน จึงแกว่งไกวเสียศูนย์ไปพักใหญ่ ๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากท้อแท้ เซ็งห่าน (หนักกว่าเซ็งเป็ดเยอะเลย) หมดอาลัยตายอยาก (และมีอารมณ์ “อยากตาย” แก้เซ็งเล็กน้อย) ไปพักใหญ่ ๆ ผมก็ต้องรีบจิกหัวตัวเองลุกขึ้นมาแก้ไขเยียวยา

การคิดหาแผนสอง แผนสาม รองรับกันเหนียว ช่วยผมได้ตอนนี้นี่เอง นั่นคือ การหาที่เขียนเพิ่มเติม โดยอาศัยความผูกพันคุ้นเคยกันในอดีต และไม่เป็นการเข้าข่ายอ้อนวอนร้องขอให้ดูน่าเวทนา แต่เป็นแหล่งที่ซึ่งเขาต้องการและยินดีอยากจะให้ผมเขียน บวกกับการหาทางมีหนังสือรวมเล่มเพื่อให้ได้เงินก้อน (ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นหนังสือ “ซามูไรตกดิน”)

ถ้าจะกล่าวในเชิงโชคลางไสยศาสตร์ คำนึงถึงว่า จู่ ๆ ผมก็เกิดดวงซวยถึงคราวเคราะห์ เรื่องนี้ก็อาจบอกกล่าวเพื่อความอุ่นใจได้เหมือนกันว่า มันอาจจะจริงนะครับ แต่โชคร้าย (รวมถึงโชคดี) ไม่เคยเกิดขึ้นอยู่กับเราตลอดเวลา มันอาจมาแบบจู่โจมเป็นระลอก แต่แล้วก็จะผ่านพ้นไป และสลับเปลี่ยนข้ามฟากเป็นตรงข้ามสลับเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เนือง ๆ

ปลายปี 2549 คาบเกี่ยวถึงครึ่งแรกของปี 2550 อะไรต่อมิอะไรรุมเร้าสุมประดังในทางติดลบไปหมด แต่พ้นผ่านล่วงเลยช่วงนั้นไปแล้ว ก็มีโชคดีเข้ามาเยือนบ้างเหมือนกัน นั่นคือ มีคนติดต่อให้ผมทำงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่งานเขียนในลักษณะปกติที่ผมคุ้นเคย (แต่จังหวะหน้ามืดมีอะไรผ่านหน้า ผมก็ต้องคว้าไว้หมดนะครับ)

ผมรับงานดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีความมั่นใจเลยสักนิดว่าจะทำได้ ทว่าความยากลำบากที่ผ่าน ๆ มา ก็ช่วยให้กัดฟันกลั้นใจทำจนสำเร็จเสร็จสิ้น

ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นชิ้นงานที่ผมได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้เยอะทีเดียว และเยอะเพียงพอที่จะนำไปสมทบรวมกับรายได้จากงานอื่น ๆ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายคลี่คลายกระเตื้องขึ้น จนสามารถคืนกลับสู่ด้านบวก

หลังผ่านพ้นวิกฤติมา ผมก็ได้รับบทเรียนเรื่องห้ามประมาท และใช้ชีวิตระมัดระวังรัดกุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เชื่อเถอะครับว่า ความไม่แน่นอนและจังหวะดวงชำรุดติดลบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยสงวนสิทธิไม่ต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า

ช่วงปีที่ผ่านมา การเงินทั่วไปของผม ค่อนข้างปกติ จะซื้อหาอะไรแพง ๆ บ้าง ก็อยู่ในวิสัยทำได้พอสมควร แต่คนเราลองผ่านเหตุการณ์ย่ำแย่หนักหน่วงมาแล้ว พิษสงสาหัสของมันทำให้วางใจไม่ลงนะครับ ผมจึงต้อง “ถือศีลอด” ทุกครั้งเป็นการกันเหนียว

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศร้า ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ผมเพียงอยากจะบอกว่า ใครที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากเหตุอันใดก็ตาม อย่าเพิ่งจิตตกเสียขวัญ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง

ในตอนที่เดือดร้อนรากเลือดแทบอาเจียนเป็นน้ำตานั้น ทุกอย่างมันไม่ได้แย่ไปหมด มีเรื่องดี ๆ หลายอย่างแทรกปนอยู่ด้วยเหมือนกัน

ที่สำคัญในความทุกข์ยาก มันมีแรงขับอันยิ่งใหญ่เร้นลับบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งถ้าหากเป็นภาวะปกติสุข จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

ข้อเขียน (ของผมเอง) หลายชิ้น ที่ผมชื่นชอบพึงพอใจเป็นการส่วนตัว รวมถึงงานจำนวนมากในช่วงเวลานั้น สามารถปรากฎเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ (มีอยู่เดือนหนึ่ง ซึ่งผมขยันเป็นพิเศษ ทำงานวันละเกือบ ๆ ยี่สิบชั่วโมง) เป็นเพราะภาวะขมขื่นลำเค็ญล้วน ๆ เลยครับ

แค่หายใจลึก ๆ ตั้งสติดี ๆ และค่อย ๆ คิด (อาจจะตะโกนว่า “สู้โว้ย!!!” ประกอบเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจด้วยก็ได้) ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ เหตุร้ายเรื่องท้อแท้ก็จะผ่านพ้นไป




(เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)












3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีครับพี่นรา

(ตามมาอ่านครับ เพราะทุกทีต้องอ่านในหน้านิตยสารเท่านั้น-ซึ่งมันก็มีข้อจำกัดของมันล่ะนะ)

ดีใจด้วยครับเรื่องหนังสือที่สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อ(จนได้)

ส่วนเรื่องรายจ่ายผมก็พยายามเรียนรู้กับมันอยู่เหมือนกันฮะ

ยิ่งตอนนี้มีวิกฤตการเงินสหรัฐอีก ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นยังไงครับ

เรื่องหนังสือ ':ซามูไรตกดิน' ผมซื้อมาแล้วนะครับ ชอบครับ ชอบ :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พี่จ้อย

ไม่ชอบปชป.แต่ขอถืออภิสิทธิ์ว่าพี่เขียนเรื่องนี้ให้ผมนะพี่

กำลังจิตตก + ถือศีลอดอยู่พอดีเหมือนกัน เรื่องนี้มาถูกเวลาจริงๆ

ผมฝากไอ้เจ๊ไปบอก ไม่รู้มันลืมรึเปล่าว่าชิ้น "นักเลงโวแข็บ" กับ "เพื่อนสนิท" ท็อปฟอร์มมากพี่

ชิ้นหลังมาถูกเวลาเหมือนกัน เพราะถ้ามาก่อนหน้านี้ประมาณสี่ปี ผมตกงานเห็นๆ

หมุเองเพ่

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตอบอีหมุ
ลืมบอกจริงๆ ว่ะ แต่พอพี่จ้อยเล่าให้ฟังเรื่องมอึงมาคอมเนต์ ก็ได้จัดการบอกให้แล้ว ถือว่าทำภารกิจสำเร็จครึ่งนึงแล้วกัน