วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หลงแต่เหลียวเดียวดาย เพราะเธอนั้นกลายรักสลายโรยรา โดย "นรา"


รสนิยมการฟังเพลงของผมนั้น กระเดียดไปทาง “โก๋แก่” คือ หยุดนิ่งแช่แข็งอยู่แถว ๆ เพลงของวิลลี เนลสัน, บ็อบ ดีแลน, แวน มอร์ริสัน, รอย ออร์ไบสัน, นิค เดรค, เลียวนาร์ด โคเฮน, พอล ไซมอน, โพโค, ซี.ซี.อาร์., บ็อบ ซีเกอร์ ฯลฯ และใครต่อใครอีกหลายคน ซึ่งล้วนแต่เป็นวัยรุ่น (เมื่อชาติที่แล้ว) ทั้งสิ้น


แย่กว่านั้นคือ ช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้ฟังเพลงไทยใหม่ ๆ (อย่างตั้งอกตั้งใจ) เลยนะครับ หลุดขาดจากกันตกกระแสแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และไม่มีทางกลับมาต่อติดได้อีกเลย

อย่างไรก็ตาม ผมมีศิลปินไทยที่เข้าขั้นเป็นคนโปรดในดวงใจ อยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ มัณฑนา โมรากุล

แม้จะเป็นนักร้องไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ผมชื่นชอบ แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวที่ยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์เหลือเกิน จนผมยกย่องเชิดชูไว้เหนือศิลปินเมืองนอกทั้งหมด

ผมพบและเห็นชื่อของป้ามัณฑนาเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปี จากประวัติผู้แต่งที่ปรากฎในหนังสือรวมเรื่องสั้นของ “นน รัตนคุปต์” (คุณนนระบุไว้ว่าชอบมัณฑนา โมรากุล) ตอนนั้นผมก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่า ท่านเป็นใคร? และทำอะไร? แต่จำได้ขึ้นใจ เนื่องจากเป็นชื่อ-นามสกุลที่ไพเราะ

จนกระทั่งอีก 6-7 ปีต่อมา ผมเรียนจบ ทำงาน ตกงาน สลับกันไป ผ่านการใช้ชีวิตร่อนเร่พเนจรทั้งอยู่ต่างจังหวัด และอยู่กรุงเทพฯ (ที่บ้านเพื่อน) มาพอสมควร

ช่วงนั้นผมไปพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อนแถว ๆ พัฒนาการ ซึ่งยังถือได้ว่ากันดารห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร ระบบคมนาคม ขนส่งมวลชนต่าง ๆ รถเมล์ที่วิ่งผ่านยังมีกะปริบกะปรอย เวลาเดินทางเข้าเมือง ผมจึงพึ่งพาบริการรถไฟเป็นหลัก

ตรงบริเวณสถานีรถไฟหัวหมาก ซึ่งผมใช้เป็นต้นทางในการเข้าเมือง มีร้านขายข้าวแกงเจ้าหนึ่ง

ผมชอบไปนั่งดื่มกาแฟรอรถไฟที่นั่นเป็นประจำ นอกจากบรรยากาศจะรื่นรมย์และเก่าคลาสสิคแล้ว เสน่ห์สำคัญอีกอย่างได้แก่ คุณน้าผู้หญิงเจ้าของร้านแกชอบเปิดวิทยุฟังเพลงไทยเก่า ๆ ทุกเช้า

เช้าวันหนึ่ง เพลงในวิทยุก็สะกดตรึงให้ผมต้องตั้งใจฟังอย่างจรดจ่อ ทั้งเสียงร้องและท่วงทำนองนั้นไพเราะจับใจเหลือเกิน ผมจึงเดินไปถามคุณน้าว่านี่เป็นเพลงของใคร และได้รับคำตอบว่า มัณฑนา โมรากุล

นับตั้งแต่นั้นมา เวลาเดินร้านขายเทปและซีดี ผมก็ด้อม ๆ มอง ๆ หาผลงานของมัณฑนา โมรากุล และต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะพบเจอแผ่นซีดี

ถ้าจำไม่ผิด ผมมีโอกาสได้ฟังเพลงของมัณฑนา โมรากุลอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกประมาณปี 2537 และชื่นชอบประทับใจเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นการฟังและทำความรู้จัก โดยไม่ทราบประวัติความเป็นมาเบื้องหน้าเบื้องหลังใด ๆ ทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ ผมมีซีดีเพลงของมัณฑนา โมรากุลอยู่ 4 แผ่น (เท่าที่จะหาซื้อได้) จำนวนราว ๆ 60 เพลง ซึ่งนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยนิด เมื่อเทียบกับผลงานทั้งหมดที่นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้ฝากไว้ให้แก่วงการเพลงบ้านเรา

เพลงของมัณฑนานั้น ผมชอบหมดทุกเพลง และสรุปได้ว่าเป็นเพลงดีเยี่ยมทุกเพลง แต่ที่หลงรักมากเป็นพิเศษมีอยู่ร่วม ๆ 20 เพลง เช่น วังน้ำวน, วังบัวบาน, ภูกระดึง, สายลมว่าว, ความรักเหมือนเมฆฝน, เย็น เย็น, ราตรี, อารมณ์รัก, ยามห่างกัน, ผีเสื้อยามเช้า, วิญญาณรัก, เมื่อไหร่จะให้พบ, สิ้นรักสิ้นสุข, หากภาพเธอมีวิญญาณ, ธรรมชาติยามเย็น, หนามยอกอก ฯ (ความฝันไกลตัวที่ยากจะเป็นจริงอย่างหนึ่งของผมก็คือ อยากจะเขียนนิยายที่ใช้เพลงเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่อง)

ความโดดเด่นในเพลงของมัณฑนา โมรากุลนั้นมีอยู่หลายประการ ตั้งแต่กลิ่นอายบรรยากาศของเพลงเก่าที่ย้อนยุคไปไกลมาก (เทียบง่าย ๆ ก็คือ ปีนี้ป้ามัณฑนาอายุ 85 ปีแล้วครับ เพลงส่วนใหญ่ร้องไว้ตั้งแต่สมัยยังสาว),ท่วงทำนองอันไพเราะหลากหลายลีลา, การเรียบเรียงดนตรีที่กลมกล่อมลงตัว, เนื้อร้องสละสลวยแพรวพราวเป็นภาษากวี ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เป็นผลงานอมตะของครูเพลงระดับศิลปินเอกหลาย ๆ ท่าน ยิ่งเมื่อผ่านการถ่ายทอดตีความด้วยน้ำเสียงอันเป็นหนึ่งไม่มีสองของป้ามัณฑนาด้วยแล้ว ผมสรุปได้ว่าเป็นเพลงสวรรค์ดี ๆ นี่เองครับ

ผมนั้นไม่มีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในเรื่องเพลงและดนตรีแต่อย่างไร ที่จะพูดต่อไปนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวล้วน ๆ ผมคิดว่าเสียงร้องของป้ามัณฑนานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เด่นมาก ระดับเสียงกว้าง และสามารถร้องเสียงสูงถึงสูงมากได้อย่างมั่นคงมีพลัง ฟังแล้วก็จดจำได้ไม่ยาก ได้ยินที่ไหนคราวใดเป็นต้องระลึกนึกออกทันที

แต่ที่น่าประทับใจยิ่งกว่าก็คือ วิธีขับร้องที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง มีทั้งการผสมผสานระหว่างลีลาการร้องแบบเพลงไทยเดิมกับสากลได้อย่างเหมาะเจาะ, มีการตีความอารมณ์เนื้อหาของบทเพลงได้อย่างลึกซึ้ง, มีลูกเอื้อนลูกคออันเปี่ยมเสน่ห์, วิธีร้องแบบชัดถ้อยชัดคำ หรือการร้องหลบด้วยเสียงและลีลาฝืนไม่เป็นธรรมชาติได้อย่างระรื่นหู, รวมทั้งมีพลังโน้มน้าวให้ผู้ฟังสุขโศกคล้อยตามได้ตลอด ฯลฯ

ยิ่งฟังบ่อย ๆ ผมก็พบรายละเอียดว่า แต่ละเพลงนั้นป้ามัณฑนา ไม่เคยร้องด้วยวิธีลีลาที่ซ้ำกันเลย และร้องดีทุกรูปแบบ

เป็นการร้องที่หากใครจะนำมาถ่ายทอดตามให้เหมือนเทียบเท่าทุกรายละเอียด จะพบว่าล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่ร้องให้ดี ให้ไพเราะได้ยากมาก

ความมหัศจรรย์ลำดับต่อมาคือ เพลงของมัณฑนา โมรากุล ยิ่งฟัง ก็ยิ่งดื่มด่ำซาบซึ้ง และไพเราะเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ (โดยเฉพาะเพลงเศร้าผิดหวังนั้น ยอดเยี่ยมไร้เทียมทานจริง ๆ ฟังแล้วร่ำ ๆ ว่าใจจะขาดตาม)

นับตั้งแต่ผมเริ่มได้ฟังเพลงของมัณฑนา โมรากุล ตั้งแต่ช่วงเป็นวัยรุ่นตอนท้าย ๆ มาจนถึงบัดนี้ ผมไม่เคยรู้สึกถึงคำว่า เก่า เชย ล้าสมัยเลยนะครับ ตรงข้ามกลับพบว่า เป็นเพลงเท่ ๆ ที่อยู่เหนือกาลเวลา

เมื่อสองปีที่แล้ว คุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เคยนำเพลง “สิ้นรักสิ้นสุข” มาใส่ประกอบในหนัง “เปนชู้กับผี” รวมทั้งนำทำนองมาดัดแปลงเป็น Love Theme ของเรื่องได้อย่างน่าประทับใจมาก (ผมเสียดายนิด ๆ ตรงที่ในหนังนั้น เราได้ยินเสียงเพลงต้นฉบับดั้งเดิม เพียงแค่ช่วงบรรเลงอินโทร และได้ฟังเสียงร้องอันวิเศษของป้ามัณฑนา เฉพาะประโยคร้องขึ้นต้นเท่านั้น ส่วนเพลงเต็ม ๆ ตอนท้ายเรื่อง เป็นการเรียบเรียงและร้องใหม่ ซึ่งได้อรรถรสแตกต่างเป็นอีกแบบหนึ่ง)

มีภาพชื่อ Landscape with Stars ผลงานของ Henri-Edmond Cross ศิลปินในกลุ่มนีโอ-อิมเพรสชั่นนิสม์ ซึ่งผมนำมาเป็นรูปประกอบบทความชิ้นนี้

มันเป็นภาพวาดเกี่ยวกับดวงดาวยามค่ำคืนที่ผมชอบมาก ทั้งสวยแปลกตา เปี่ยมด้วยจินตนาการหลุดพ้นเกินจริงไปไกล ดูแล้วก็ให้ความรู้สึกเคลิบเคลิ้มชวนฝันล้ำลึก

เห็นภาพนี้ทีไร ผมมักจะนึกถึงเพลง “เด่นดวงดาว” ของมัณฑนา โมรากุล ซึ่งเป็นอีกบทเพลงที่ผมรักจับจิตจับใจควบคู่กันไปเสมอ ลองอ่านเนื้อร้องดูเล่น ๆ นะครับ

ผ่องเพริศแพรวแวววาว เด่นดวงดาวพราวตา
เหมือนจะเย้ยจันทรา วิไลนภาบนฟากฟ้าราตรี
จ้องมองดาวเรียงราย โศกก็คลายทันที
แสงอันไร้ราคี สวยดังดวงมณีเด่นด้วยสีเงินยวง
ดูดาราผ่องพรรณ แจ่มเจิดเฉิดฉันร้อยพันหมื่นแสนดวง
บางดวงลอยจากฟ้าเลยล่วง เกิดประกายเย็นทรวงเห็นดวงนั้นร่วงไป
หมู่ดวงดาวเตือนตา ส่องลงมารำไร
สวยงามล้ำอำไพ แสงดาวเร้าใจเพลินสดใสอารมณ์
เหมือนดังแสงโคมเกลื่อนนภาชวนชมรื่นรมย์เร้าตา
โอ้ว่าดาราเอย ไม่เคยเลยลับฟ้า
แม้คืนไหนจันทรา มิอายฉายมาดาวก็พากันเลือน
อยากจะฝากวาจา ให้ดาราคอยเตือน
ชู้ที่รักแรมเลือน ร้างไกลแรมเดือนไม่เคยเยือนนานวัน
ใจเรายังซื่อตรง ถ้อยคำจำนงรักคงเช่นดาวนั่น
ดาวจงรักต่อฟ้าคงมั่น เช่นเดียวกันเรานั้นรักมั่นไม่เคยหน่าย
เฝ้าแต่มองรำพึง จ้องตะลึงลืมกาย
หลงแต่เหลียวเดียวดาย เพราะเธอนั้นกลายรักสลายโรยรา
ฉันตรมน้ำตา ได้แต่มองดาราไม่พาทุกข์คลาย

“เด่นดวงดาว” เป็นเพลงเร็ว จังหวะร่าเริงสดใสคึกคัก ท่วงทำนองตลอดจนภาคดนตรีนั้นสวยและล้ำยุค จนเพลงในปัจจุบันจำนวนมากต้องอายกันเลยทีเดียว

แรกเริ่มนั้นผมชอบเพราะทำนองไพเราะติดหู ถัดมาก็ค่อย ๆ ประทับใจเนื้อร้องที่ร้อยเรียงถ้อยคำได้อย่างสละสลวยวิจิตรบรรจง ท้ายสุดก็มาฝังจิตฝังใจกับน้ำเสียงและวิธีการร้องของป้ามัณฑนา

ความพิศดารนั้นอยู่ที่ว่า ตลอดทั้งเพลงป้ามัณฑนา ร้องด้วยอารมณ์เบิกบานรื่นรมย์ ตั้งแต่ช่วงที่เนื้อเพลงกล่าวพรรณนาถึงความงามของหมู่ดาวบนฟากฟ้า ซึ่งดูแล้วช่วยให้คลายโศกหายเศร้าจากการห่างไกลคนรัก ถัดมาเป็นความคมคายในการเทียบเคียงเปรียบเปรยรักที่ซื่อสัตย์มั่นคงต่อกันไม่แปรเปลี่ยน เหมือนดาวคู่ฟ้าทุกค่ำคืน แม้กระทั่งยามจันทร์ส่องเจิดจ้า ดวงดาวก็ไม่เคยห่างหาย เพียงแค่โดนแสงที่ส่องสว่างกว่าข่มให้เลือนสลัวเห็นไม่ชัดเท่านั้น

พูดง่ายๆ คือ อารมณ์ของบทเพลงนั้นมาทางสุขสมเกือบจะตลอด จนกระทั่งถึงช่วงท้าย “เฝ้าแต่มองรำพึง จ้องตะลึงลืมกาย หลงแต่เหลียวเดียวดาย เพราะเธอนั้นกลายรักสลายโรยรา ฉันตรมน้ำตา ได้แต่มองดาราไม่พาทุกข์คลาย”

ด้วยลูกเอื้อนลูกคอรวมทั้งการขึ้นเสียงสูงกว่าเดิมอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ป้ามัณฑนาก็เปลี่ยนอารมณ์และการตีความเพลง จากสุขสดใสมาเป็นเจ็บเศร้าบาดใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ (ผมฟังถึงตรงนี้ทีไรก็ขนลุกซู่ด้วยความอิ่มเอิบตื้นตันใจทุกที)

เพลงของมัณฑนา โมรากุลนั้น ยอดเยี่ยมเหมือนวรรณกรรมชั้นดี ที่ยิ่งละเลียดอ่าน จับสังเกตรายละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งพบเห็นความงามล้ำเลิศเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

ผมเป็นคนมีรสนิยมจับฉ่าย กึ่งดิบกึ่งสุก การชอบเพลงของมัณฑนา โมรากุล เป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ทำให้ผมกล้าพูดว่า มีรสนิยมดีอยู่บ้างเหมือนกัน

ขอแนะนำเพลงของมัณฑนา โมรากุลต่อท่านผู้อ่าน ด้วยความภาคภูมิใจและเป็นสิริมงคลแก่ข้อเขียนของผมเองนะครับ




(เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน)

ไม่มีความคิดเห็น: