วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

สองครูสองคม โดย "นรา"


ผมกำลังหลงใหลคลั่งไคล้จิตรกรรมฝาผนังของไทย ถึงขั้นประพฤติตน “แก่วัด” เริ่มแวะเวียนไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ และเข้าหาพระหาเจ้า ผิดจากเดิมที่เจอหน้าหลวงพ่อหลวงพี่ทีไร ผมก็มักจะเกิดอาการกลัวผ้าเหลือง (ตามประสาคนบาปหนากิเลสแน่น) จนต้องรีบ “โกยเถอะโยม” ไว้ก่อน

เหมือนผมเดินสะเปะสะปะอยู่ดี ๆ พลันก็ได้พบและหลุดเข้าสู่อีกโลกหนึ่งอันน่าอัศจรรย์

ข้อเขียนของผมถัดจากนี้ไป จึงน่าจะแวะจอดป้ายอยู่ที่เรื่องจิตรกรรมฝาผนังไปอีกยืดยาวหลายตอน

ต้นสายปลายเหตุทั้งหมด เกิดขึ้นจากการที่ผมไปอ่านเจอบทความของท่านครู น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึงเรื่องราวผลงานของสุดยอดจิตรกรไทยสองท่าน คือ ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ซึ่งได้วาดภาพแข่งกันจนเป็นที่เลื่องลือ

ศิลปินไทยแต่โบราณนั้น มุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อเป็นพุทธบูชา มากกว่าจะแสวงหาชื่อเสียงความสำเร็จเพื่อตนเอง จึงไม่มีธรรมเนียมเซ็นชื่อกำกับไว้ในผลงาน เพื่อป่าวประกาศแสดงตัวตนของศิลปิน

ในเบื้องต้นก็คงพอจะมีคนทราบอยู่บ้าง ว่าผลงานชิ้นไหนเป็นฝีมือของใคร เพราะบางท่านเป็นครูช่างที่มีชื่อเสียง จึงน่าจะได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงกันแบบปากต่อปาก จนกาลเวลาผ่านพ้นข้ามรุ่นชั่วอายุคน เรื่องราวต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ เลือนหาย เนื่องจากไม่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ท่านเหล่านี้จึงกลายเป็นศิลปินนิรนาม

อย่างไรก็ตาม ครูช่างฝีมือเยี่ยมหลายท่าน ยังคงเป็นที่โจษจันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น พระอาจารย์นาคในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านขรัวอินโข่งในสมัยรัชกาลที่ 4 รวมทั้งครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ซึ่งตำนานการวาดภาพประชันกันหลายครั้งหลายคราว บวกรวมกับฝีมืออันล้ำเลิศ มีส่วนทำให้ชื่อเสียงเรียงนามของท่านทั้งสอง ยังเป็นที่รู้จักตราบกระทั่งทุกวันนี้

ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่เป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่ากันว่าต่างเข้าขั้นสุดยอดช่างเขียนฝีมือดีระดับเจ้าสำนัก จนสามารถแตกแขนงแยกออกมาเป็นอีกต้นตำรับ “สกุลช่าง” ซึ่งมีลีลาแบบฉบับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัด มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย กระทั่งเกิดการเกทับ ขัดแย้ง เขม่นกันระหว่างทั้งสองฝ่าย จนศิษย์สำนักหนึ่ง ต่างไม่ยอมแสดงอาการไหว้เคารพครูอีกสำนัก และทำให้ครูทั้งสองต้องกลายมาเป็น “คู่แข่ง” กัน

ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ได้วาดภาพขับเคี่ยวดวลกันหลายต่อหลายวัดในละแวกฝั่งธน ฯ จนลือลั่นสะท้านไปทั่วทั้งวงการศิลปะยุคนั้น

คล้าย ๆ กับในหนัง “โหมโรง” นั่นแหละครับ เพียงแต่เปลี่ยนจากดนตรีไทยมาเป็นจิตรกรรมฝาผนัง โดยครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ต่างเป็นพระเอกด้วยกันทั้งคู่

จริง ๆ แล้วในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกก็มีการประชันขันแข่งเช่นนี้เหมือนกัน และมีหลายครั้งหลายยุคสมัย แต่ที่เล่าสืบต่อกันมา กระทั่งฟังดูราวกับเทพนิยายก็คือ ในยุคกรีกโบราณ จิตรกรสองคนเขียนภาพแข่งกัน คนแรกวาดรูปเด็กถือพวงองุ่นชูเหนือหัว ขณะที่กรรมการและฝูงชนกำลังพินิจพิจารณาดูผลงาน นกตัวหนึ่งก็บินเข้ามาจิกพวงองุ่น เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของจริง ผู้ชมจึงต่างฮือฮาชื่นชมกันยกใหญ่ว่า วาดได้เหมือนจริง

กรรมการ ฝูงชนและกองเชียร์ จึงหันมาขอร้องให้ศิลปินอีกรายเปิดม่านที่คลุมภาพเขียนของตน แต่แล้วก็ได้รับคำตอบว่า ผ้าม่านที่คลุมภาพเขียนอยู่นั่นแหละ คือภาพวาดของเขา (ซึ่งวาดได้เหมือนจริงมากจนสามารถลวงตาผู้ชมให้เข้าใจผิด)

จิตรกรที่วาดภาพเด็กถือพวงองุ่นชื่อ ซีอูซีส ส่วนคนที่เขียนรูปม่านคลุมภาพวาดชื่อ พาร์ราซีอุส

ในแวดวงศิลปะไทย คงมีการประชันขันแข่งเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ แต่การขับเคี่ยวระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ น่าจะเป็นกรณีที่โด่งดังเกรียวกราวมากสุด

อันที่จริงนั้น การปะทะฝีมือกันระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ มีรายละเอียดค่อนข้างพร่าเลือน และทิ้งคำถามต่าง ๆ เอาไว้มากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นประวัติชีวิตของท่านทั้งสอง, ช่วงเวลาอันแน่ชัดที่วาดภาพประชันกัน, รวมถึงบุคลิกนิสัยใจคอ ฯลฯ

เพราะความที่ร่องรอยหลักฐานเหลือปรากฎอยู่เพียงน้อยนิด ผมก็เลยรู้สึกว่า เรื่องของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ยิ่งมีเสน่ห์เย้ายวนใจอย่างน่าประหลาด เปิดโอกาสให้ใช้จินตนาการคาดเดาความน่าจะเป็นไปได้ต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการตีความบุคลิกนิสัยใจคอของสองท่านครู ผ่านทางภาพเขียนที่ยังพอมีให้เห็น

แรกเริ่มที่รู้เพียงเรื่องราวคร่าว ๆ ผมก็ถือวิสาสะต่อเติมแต่งนิยายเอาเองในหัว ว่าเหตุการณ์น่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ยิ่งคิด ก็ยิ่งกระหายใคร่อยากจะเห็นภาพวาดฝีมือครูทั้งสอง

ทำไปทำมา ผมก็เกิดอาการหลงใหลผลงานของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เห็นทั้งภาพถ่ายหรือของจริง (และถึงขั้นเก็บเอาไปฝันเป็นตุเป็นตะ)

ถัดจากนั้น ผมก็เริ่มเสาะหาหนังสือเกี่ยวกับจิตรกรรมไทยมาอ่าน และได้มีโอกาสผ่านตาภาพถ่ายผลงานของครูคงแป๊ะกับครูทองอยู่ กระทั่งจดจำได้ขึ้นใจ (ถึงตรงนี้ ผมก็นั่งดูรูปในหนังสือ จนเก็บไปฝันอีกระลอก)

เรื่องราวการวาดภาพประชันกันระหว่างยอดครูทั้งสองท่านนั้น เท่าที่ผมอ่านพบต่อ ๆ มา ครูทองอยู่เป็นฝ่ายมีอายุมากกว่า แต่ประวัติชีวิตทั้งหมดของท่านนั้น ปราศจากรายละเอียดใด ๆ ให้ล่วงรู้

ครูทองอยู่ (หรือ “หลวงวิจิตรเจษฏา”) เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น (สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงต้นรัชกาลที่ 3)

จากราชทินนาม รวมทั้งลีลาที่สะท้อนไว้ในภาพวาด อาจตีความได้คร่าว ๆ ว่า ครูทองอยู่นั้นเป็นคนสุขุมลุ่มลึก อารมณ์เยือกเย็น รสนิยมประณีต และเป็นช่างเขียนที่เคร่งครัดต่อจารีตแบบแผนสืบทอดตามรุ่นครูแต่ครั้งสมัยอยุธยา

ส่วนเรื่องราวของครูคงแป๊ะหรือหลวงเสนีย์บริรักษ์ มีเกร็ดตำนานหลงเหลือให้รับทราบมากกว่า ครูคงแป๊ะมีเชื้อสายจีน เป็นคนมีนิสัยมุทะลุ โมโหร้าย อ่อนไหว (พูดง่าย ๆ คือ เต็มไปด้วยอารมณ์ศิลปิน) และเป็นช่างเขียนที่เห็นได้เด่นชัดว่า ไฟแรง ร่ำรวยความคิดสร้างสรรค์

งานของครูทองอยู่จึงเป็นหนึ่งไม่มีสองในทางสวยประณีตวิจิตร ส่วนครูคงแป๊ะเป็นเลิศในลีลาโลดโผน แตกต่างตรงข้ามกันเหมือนหนังชีวิตกับหนังแอ็คชัน

ตามประวัตินั้น ครูคงแป๊ะเคยก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง คราวหนึ่งถึงขั้นพลั้งมือทำร้ายคู่อริจนเสียชีวิต และได้รับการไตร่สวนโดยทางการ ตัดสินลงโทษสถานหนัก (เท่าที่ผมอ่านเจอ ข้อมูลยังไม่ลงรอยกัน บางแห่งกล่าวว่าติดคุกคลอดชีวิต บางแห่งระบุว่ามีคำสั่งให้ประหาร)

ครูคงแป๊ะรอดพ้นจากวิบากกรรมดังกล่าว ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ยกโทษพระราชทานให้ ตรัสว่าช่างฝีมือยอดเยี่ยมอย่างคงแป๊ะนี้หายาก และกรณีที่กระทำผิดไปนั้นก็คงไม่เจตนา หรือเป็นด้วยสันดานอำมหิตโดยตรง คงจะลืมตัวไปชั่วขณะหนึ่งเสียมากกว่า

ครูคงแป๊ะมีอายุยืนยาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 และทราบว่าต่อมา (ซึ่งไม่ระบุแน่ชัดว่าเมื่อไร) ท่านได้บวชเป็นพระ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานคร่าว ๆ ว่า อาจบวชหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว

ตรงนี้ผมก็จินตนาการฟุ้งซ่านเล่น ๆ ว่า ถ้าจะให้เกิดผลในเชิงสะเทือนอารมณ์ซาบซึ้งจับใจยิ่งขึ้น ช่วงเวลาที่ครูคงแป๊ะควรจะบวช น่าจะเป็นตอนที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หรือเมื่อครูทองอยู่ซึ่งเป็นคู่แข่งฝีมือทัดเทียมกันถึงแก่กรรม (ผมคิดเล่น ๆ แบบหนังหรือนิยาย ไม่ได้คำนึงถึงหลักฐานความถูกต้องใด ๆ ทั้งสิ้น)

ประการหลังนี่มีความเป็นไปได้นะครับ เนื่องจากเชื่อกันว่า ในความเป็นคู่แข่งเชือดเฉือนขับเคี่ยวมายาวนาน และภายนอกดูเสมือนว่าทั้งคู่จะ “ไม่กินเส้น” ลึก ๆ แล้วท่านครูทั้งสอง น่าจะเคารพนับถือชื่นชมในผลงานของอีกฝ่าย และรู้สึกผูกพันต่อกันในด้านบวก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบางยี่ขัน มีผลงานที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ลงความเห็นว่า น่าจะใช่ฝีมือของครูทองอยู่ เป็นภาพวาดชาดกเรื่องเนมีราช ท่ามกลางหมู่เทวดาเหาะเหิน มีเทวดาจีนไว้ผมเปียแปลกปลอมไม่เข้าพวกปะปนอยู่ด้วย

ท่านครู น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่า ภาพเทวดาจีนดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่า ครูทองอยู่ตั้งใจวาดขึ้นเพื่อล้อเลียนครูคงแป๊ะ

ถ้าหากเป็นจริงตามที่ท่านครู น. ณ ปากน้ำ ลงความเห็นเอาไว้ ภาพดังกล่าวก็เป็นการล้อเลียนที่ไม่ได้ “อำ” กันให้อีกฝ่ายเสียหาย แต่เหมือนกึ่งหยอกกึ่งยกย่อง ผมคิดว่าฝ่ายครูคงแป๊ะเองมาเห็นเข้าก็น่าจะยิ้มและรู้สึกพึงพอใจ

ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังประชันกันไว้หลายแห่ง และมักจะเขียนภาพในตำแหน่งผนังอยู่ติดเคียงข้างกัน เช่น ที่พระอุโบสถวัดอรุณ ซึ่งทั้งคู่เขียนเรื่องพระมโหสถเรื่องเดียวกัน (แต่เป็นเหตุการณ์คนละตอน) ครูทองอยู่เขียนตอนชักรอกเตี้ยค่อม ส่วนครูคงแป๊ะเขียนตอนห้องอันวิจิตรสวยงามในอุโมงค์ที่พระมโหสถสร้างไว้ลวงข้าศึก น่าเสียดายว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดไฟไหม้พระอุโบสถ จนทำให้ภาพทั้งสองเสียหายหมด

พ้นจากนี้แล้ว ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ยังได้ประชันฝีมือกันอีกที่วัดบางยี่ขัน และวัดสุวรรณาราม ซึ่งผลงานภาพวาดยังคงมีปรากฎให้เห็นถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดสุวรรณาราม นอกจากครูทั้งสองจะ “ปล่อยของ” อวดความสามารถกันแบบทุ่มกายถวายชีวิตวาดขึ้นแล้ว ภาพอื่น ๆ ที่เหลือในพระอุโบสถ ก็ล้วนเป็นงานฝีมือชั้นเทพระดับ “ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์” ทั้งสิ้น

จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น รุ่งเรืองบรรลุสู่ขั้นสุดยอดในรัชกาลที่ 3 และในบรรดาผลงานทั้งหมดที่สร้างขึ้นยุคนี้ ภาพวาดในพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย ได้รับการยกย่องให้เป็นที่สุด หลงเหลือเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่ามาถึงปัจจุบัน ในสภาพที่ถือกันว่า ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าที่อื่นใด

พูดภาษาฝรั่งสักหน่อยก็คือ เป็นทั้งมาสเตอร์พีซและไฮไลท์ทางด้านจิตรกรรมฝาผนังของไทย

ยิ่งมาทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมวิธีการวาด ซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยากพิสดาร และได้เห็นตัวผลงานของจริงกับตาตัวเอง ผมก็ยิ่งรู้สึกเหมือนได้อ่านนิยายจีนกำลังภายใน ว่าด้วยสองสุดยอดเซียนกระบี่ท้าประลองฝีมือพิสูจน์วิทยายุทธ์

วินาทีแรกสุดที่ได้เห็นภาพวาดของจริงจากปลายพู่กันของครูทั้งสอง ผมถึงขั้นขนแขนสแตนด์อัพลุกซู่ด้วยความปลาบปลื้มดีใจ และรู้สึกเป็นบุญตามหาศาล

เราจะชื่นชมดื่มด่ำกับภาพเหล่านี้กันอย่างละเอียด ในครั้งต่อ ๆ ไปนะครับ





(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก 20 ธันวาคม 2551 ในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")






1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณคับ