วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

ขยันแบบขี้เกียจ โดย "นรา"


ภาพที่ผู้อื่นมีต่อตัวผม (เท่าที่ได้ยินและรับรู้มา) มีอยู่ 2 ด้านที่ขัดแย้งตรงข้ามกันอย่างรุนแรง


กล่าวคือ มีทั้งคนที่เห็นว่าผมก้มหน้าก้มตาปั่นต้นฉบับแบบ “เปิดโรงงาน” แถมพกด้วยคำถามทีเล่นทีจริงว่า “จะเร่งรีบร่ำรวยไปถึงไหน?”

ในทางตรงข้ามก็มีคนจำนวนไม่น้อย อิจฉาชีวิตความเป็นอยู่สบาย ๆ เหมือนไม่ต้องทำงานทำการอะไรของผม

พูดอีกแบบ ผมน่าจะเป็นคนขี้เกียจที่ทำงานเยอะอยู่พอสมควร มีภาระต้องเขียนต้นฉบับเกือบทุกวัน พร้อม ๆ กันนั้นก็มีคนเห็นผมเดินโต๋เต๋ลอยชายไปมา โดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ เป็นชิ้นเป็นอันตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดการขนานนามผมว่าเป็น “มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง”

ไม่ว่าจะมองในด้านไหน ล้วน “ถูกต้องนะคร้าบ” ผมเป็นทั้งคนที่เขียนหนังสือเยอะราวกับออกไข่ และผู้สันทัดกรณีด้านการเกียจคร้านในร่างเดียวกัน

จะมีที่ไม่จริงอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือ โอกาสคืบหน้าเข้าใกล้ความร่ำรวย ในแง่นี้ พูดได้เต็มปากว่า ผมเป็นผู้ล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะด้านการเงิน

งานส่วนหนึ่งของผม เป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ทำเพราะความผูกพันต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งเคยช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันมา งานอีกส่วนเป็นผลผลิตค่าตอบแทนต่ำ (ผมเป็นนักเขียนที่ได้รับค่าเรื่องถูกมาก และอ่อนด้อยในด้านการตกลงต่อรองราคา) งานอีกส่วนเป็นข้อเขียนล่วงหน้า ค่าเรื่องตามมาทีหลังอย่างล่าช้า (แถมยังมีหนี้สูญโดนเบี้ยวแบบซึ่ง ๆ หน้า)

เพื่อที่จะยังชีพอยู่ได้ด้วยการทำงานสุจริต ไม่ถอดใจหลบหนีไปค้ายาบ้า, เล่นการพนัน หรือหาทางดิ้นรนเข้าร่วมรัฐบาลในประเทศสมมติ-เพราะกลัวโดนฟ้อง-ที่นิยมคอร์รัปชันเสียก่อน ผมจึงจำเป็นต้องทำงานเยอะเกินอัตราพอเหมาะตามปกติอยู่บ้าง จึงจะสามารถหล่อเลี้ยงประคับประคองรายรับให้หมุนเวียนเพียงพอกับรายจ่าย ตลอดจนรับมืออัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่บอบช้ำบุบสลาย

ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนโอดครวญ แต่แท้จริงแล้ว ผมก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับสภาพที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามกลับได้รับความสุขสบายพอสมควรแก่อัตภาพ

แม้ว่าจะไม่ได้นิยมในทัศนคติ “สู้แล้วรวย” แต่ผมก็เชื่อมั่นอย่างยิ่งเรื่องการทำงานหนัก ด้วยความรักชอบและทุ่มเท

จุดใหญ่ใจความคล้ายกันอยู่พอสมควร แตกต่างเล็กน้อยในรายละเอียด ตรงที่เป้าหมายปลายทางนั้น เปลี่ยนจากการบรรลุสู่ความ “ร่ำรวย” มาเป็นคุณภาพของตัวงานในขีดขั้นที่ผมพึงพอใจ

เวลาเขียนต้นฉบับชิ้นใดได้ต่ำกว่ามาตรฐานปกติ ผมจะเป็นทุกข์และได้รับผลกรรมฉับพลันทันที โดยไม่ต้องรอให้ใครมาตำหนิติเตียน เช่นเดียวกับงานบางชิ้นที่เขียนเสร็จแล้ว ก็นำมาซึ่งความสุขอิ่มอกอิ่มใจ ชนิดไม่ต้องพึ่งพาคำสรรเสริญเยินยอใด ๆ

คนทำงานทุกคน ถ้าไม่ประเมินอย่างลำเอียงเข้าข้างตัวเองจนเกินไป ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจนะครับว่า งานแต่ละชิ้นนั้นมีคุณภาพสูงส่งต่ำต้อยประมาณไหน?
ประการถัดมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่า ผมดูเหมือนไม่ค่อยทำงาน สามารถอธิบายได้ดังนี้ครับ งานของผมมีกระบวนการผลิตค่อนข้างเป็นส่วนตัว (คือ นั่งเขียนหนังสือตามลำพังอยู่ที่บ้าน) นั่นหมายความว่า ช่วงที่ผมทำงาน ย่อมไม่มีใครพบเห็นล่วงรู้ และช่วงที่ใครต่อใครเจอะเจอผม ถือเป็นวาระนอกเวลาราชการ

นี่ยังไม่นับรวมขั้นตอนการทำงานที่มีสภาพเหมือนคนเตะฝุ่นว่างงาน อย่างเช่น นั่งคิดหาประเด็นบนรถเมล์หรือตามร้านกาแฟ (ผมเรียกขั้นตอนนี้ว่า การเขียนหนังสือในหัว ก่อนลงมือจริงหน้าจอคอมพิวเตอร์), การขโมยเวลาตัวเองเพื่ออ่านหนังสือโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 5 ชั่วโมง, การดูหนังสัปดาห์ละ 3-5 เรื่อง ฯลฯ

อีกปัจจัยเงื่อนไขหนึ่งก็คือ ผมทำงานด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ไม่ได้คิดว่ามันเป็นภารกิจหนักหน่วงเหนื่อยล้าสาหัส หรือจำเป็น ต้องกัดฟัน “ฝืนทน” ทำให้สำเร็จลุล่วง

ความรู้สึกจึงเหมือนผมโดนสะกดจิตอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ได้ทำงาน จนบ่อยครั้งก็เผลอนึกสงสารตัวเองที่ตกงาน ก่อนจะนึกได้ว่าทำงานหนักอ้วกแตก และเปลี่ยนมาสงสารตัวเองในทางตรงข้าม ที่ต้องทำงานตลอดทั้งปี โดยไม่เคยมีวันหยุดเลย

ไม่มีเคล็ดลับล้ำลึกอะไรหรอกนะครับ มีแค่หลักการพื้นฐานคร่าว ๆ ง่าย ๆ ว่า “ทำงานที่ชอบ และชอบงานที่ทำ” เท่านั้นเอง ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของแต่ละท่านที่จะต้องค้นหาวิธีอันเหมาะสมตรงจริตให้เจอ

ตัวอย่างเท่าที่พอจะนึกออกก็คือ ในช่วงเพิ่งลาออกจากการเป็นพนักงานประจำที่ “ผู้จัดการ” เพื่อพักร้อนระยะยาวไม่มีกำหนด ผมตัดสินใจทุบกระปุกออมสินถอยคอมพิวเตอร์มาหนึ่งเครื่อง สำหรับใช้เล่นเกมล้วน ๆ ไม่มีการทำงานหรือประโยชน์ใช้สอยอื่นใดเข้ามาเจือปน

เล่นจนเก่งเป็นเซียนในหลาย ๆ เกม ก็ประจวบเหมาะกับที่เริ่มมีงานใหม่ ๆ เข้ามา ด้วยอารมณ์สนุกสนานติดพัน แรงจูงใจในการทำงานย่อมมีน้อยเป็นธรรมดา ผมจึงเขียนข้อความแปะไว้ที่หน้าจอว่า “คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ใช้สำหรับเล่นเกมเท่านั้น ห้ามแอบทำงาน”

ผมทำไปทำไมหรือครับ? ก็เพื่อล่อหลอกตัวเอง ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่าย “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” (และขี้ประชด)

ทันทีที่ติดข้อความดังกล่าว ผมก็ค่อย ๆ แอบย่องลักลอบใช้คอมพิวเตอร์ (สำหรับเล่นเกม) เพื่อทำงานเขียน แต่ละครั้งก่อให้เกิดความสุขปิติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้ฝ่าฝืนละเมิดข้อห้ามบ้า ๆ ของผมเอง

ผมทำต่อเนื่องจนรู้สึกว่า การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อการทำงานสนุกกว่าเล่นเกมเป็นไหน ๆ ถัดจากนั้นก็ค่อย ๆ ฉวยโอกาสขจัดเกมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเครื่องทิ้งไปทีละนิด จนกระทั่งหมดจดเกลี้ยงเกลาไม่หลงเหลืออยู่เลย

เทคนิคล่อหลอกถัดมาในการทำงานให้สนุกก็คือ การสร้างและมีวินัยอย่างเคร่งครัด ฟังดูแล้วแปลกแปร่งอยู่สักหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่า เกี่ยวข้องกันจริง
การเป็นคอลัมนิสต์อิสระไร้สังกัด ถ้าปราศจากการมีวินัยเข้มงวดกับตัวเองเสียเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็ ผมฟันธงได้เลยว่า เจ๊งกระจายไปไม่รอดแน่ ๆ

วินัยของนักเขียนแต่ละคน ก็มีรายละเอียดผิดแผกไม่เหมือนกัน สำหรับผมมันเป็นไปดังนี้ครับ คือ ทันทีที่ตื่นนอน (ไม่ว่าจะเช้าหรือสาย) ผมจะจิกหัวตัวเอง เดินงัวเงีย ลงมาต้มน้ำชงกาแฟ เปิดคอมพิวเตอร์ เข้าอินเตอร์เน็ตค้นข้อมูล จนกระทั่งตื่นสนิท จึงล้างหน้าแปรงฟัน ดื่มกาแฟ อ่านอะไรต่อมิอะไรในเว็บต่าง ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง จนเกิดแรงฮึดอยากเขียน จากนั้นก็เริ่มต้นลงมือทำงานที่ถึงกำหนดต้องส่ง (ส่วนวันที่ไม่มีต้นฉบับต้องส่ง ผมจะเขียนอะไรก็ได้อย่างน้อยหนึ่งชิ้น เป็นการฝึกซ้อมเรียกความฟิต)

โดยเฉลี่ยแล้ว ผมใช้เวลาเขียนงานแต่ละชิ้นไม่แน่นอน ราว ๆ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสมาธิหรือความชัดเจนในประเด็นที่ต้องเขียน (สถิติสูงสุด เกิดขึ้นตอนเขียนคอลัมน์ “เงาของหนัง” เรื่อง “หยวนหลิงอวี้” ผมใช้เวลาเขียนต่อเนื่องรวดเดียว 15 ชั่วโมง อันนี้เป็นเพราะว่าข้อมูลเยอะและมีประเด็นปลีกย่อยกระจัดกระจาย ต้องค่อย ๆ เรียบเรียง ค่อย ๆ แก้ไขตัดทอนอย่างช้า ๆ) หากทำงานเสร็จเร็ว ผมก็จะนั่งแก้ไขขัดเกลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบ 4 ชั่วโมง อันเป็นระยะเวลาทำงานขั้นต่ำที่ผมกำหนดเอาไว้ ส่วนกรณีเขียนช้าใช้เวลานานนั้นไม่มีปัญหา ผมก็ทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จ

ถ้าไม่มีนัดหมายหรืองานเฉพาะกิจอื่นใด ผมทำเช่นนี้ต่อเนื่องทุกวันนะครับ ขั้นตอนที่ยากสุดมีอยู่ 2 ช่วง คือ การลุกจากที่นอนในภาวะที่ยังฝันไม่อิ่ม และช่วงแรก ๆ ที่นั่งบื้ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงมือเขียนอย่างไร?

อย่างแรกนั้นแก้ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยไม้แข็ง ใช้กำลังบีบบังคับให้ตื่นและลงมาทำงาน ส่วนปัญหาต่อมา สามารถคลี่คลายด้วยการค่อย ๆ นั่งคิดรวบรวมสมาธิอย่างใจเย็น อย่าเพิ่งรีบด่วนตื่นตระหนก สักพักก็จะเห็นช่องทาง (นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมลบเกมทั้งหมดออกจากคอมพิวเตอร์ เพราะโดยสถิติส่วนใหญ่ทั้งที่เจอเองและเกิดกับคนหมู่มาก เวลาตื้อ ๆ นึกอะไรไม่ออก มักจะแก้ปัญหาด้วยการเปิดเกมเล่น เพื่อฆ่าเวลาคลายเครียด สุดท้ายก็กลายเป็นจดจ่อกับเกม ไม่ได้ใช้ความคิดอย่างจริงจัง จนเสียเวลาและไม่ได้งาน แถมยังเพิ่มพูนความเครียดอีกหลายถอนหายใจ)

ความลับอีกอย่างก็คือ คอมพิวเตอร์ของผมไม่มีเกมใด ๆ หลงเหลืออยู่เลย แต่ยามว่างปลอดโปร่ง ผมจะแวะเข้าไปที่โรงหนัง house ช่วงตอนเย็น ๆ เพื่อแอบเล่นเกมด้วยคอมพิวเตอร์ที่นั่น (ซึ่งติดป้ายไว้ว่า “ใช้สำหรับทำงานเท่านั้น ห้ามแอบเล่นเกม”) แปลว่า ถึงแม้จะมีการคุมเข้มไม่เล่นเกมระหว่างทำงานโดยเคร่งครัด แต่

ผมก็ไม่ได้ตัดขาดเลิกเล่นเกม ยังรักสนุกและนิยมความบันเทิงอยู่ครบถ้วน เพียงแต่เลือกกาละเทศะที่เหมาะสม

ผมเชื่อของผมว่า การมีวินัยส่งผลทางอ้อมช่วยให้ทำงานสนุก เนื่องจากพอผ่านการติวเข้มอย่างต่อเนื่องไประยะหนึ่งแล้ว มันก่อให้เกิดความเคยชิน เป็นกิจวัตรที่ต้องทำ เป็นอีกหนึ่งความรื่นรมย์ หากละเว้นงดไป วันนั้นก็เหมือนชีวิตเกิดภาวะ “ขาดหาย” ผิดปกติ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวไม่สบายใจ (คล้าย ๆ ออกจากบ้านโดยไม่ได้อาบน้ำ)

เคล็ดลับสุดท้าย ผมเชื่อในคติ “เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น” เวลาทำงานเขียน ผมจึงตัดขาดจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ ไม่เปิดเพลง, ไม่เปิดโทรทัศน์, ยกหูโทรศัพท์ออก,ไม่ออนไลน์แช็ตกับใคร ทั้งหมดกระทำอย่างเงียบ ๆ และเอาจริงเอาจัง จนกล่าวได้ว่าเคร่งเครียด ขณะเดียวกัน ถึงคราวต้องเล่น ผมก็สามารถจะเหลวไหลไร้สาระได้ถึงขีดสุด

อาจมีคนสงสัยว่า เช่นนั้นแล้ว ระหว่างทำงานผมสนุกกับมันได้อย่างไร?

ความรื่นรมย์ของผมสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 ขั้นตอน ครั้งแรกปรากฎอยู่ระหว่างการเขียน (ซึ่งมีทั้งพบเจอคำที่ถูกใจ, การขบคิดแก้โจทย์บางประการสำเร็จ และอีกสารพัดมากมายที่เป็นเสน่ห์ของการเขียนหนังสือ) ถัดมาคือ เมื่อทำงานเสร็จและรู้สึกว่ามีคุณภาพอยู่ในขั้นน่าพึงพอใจ

ประการหลังนี่ตื่นเต้นเร้าใจมาก เพราะผมไม่ได้เขียนหนังสือดีทุกชิ้น (บางวันที่เขียนแย่ การล้างแค้นด้วยงานชิ้นถัดไป ก็เป็นความบันเทิงระคนกดดันอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน)




(เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K7566455/K7566455.html

วัดนี้น่าไปจังพี่