วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

เรื่องของอีเย็น โดย "นรา"


เมื่อราว ๆ สามเดือนก่อน จู่ ๆ “คุณเย็นฤดี” หรือ “อีเย็น” ตู้เย็นคู่ทุกข์คู่ยากที่บ้านผม ก็แอบตัดช่องน้อยแต่พอตัว โอนสัญชาติเป็นเตาอบไมโครเวฟอย่างฉับพลันกระทันหัน โดยไม่ยอมบอกกล่าวร่ำลา


เข้าใจว่า มันคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ผมไม่ค่อยมีอะไรนำมาแช่ นอกจากน้ำเปล่า...และน้ำเปล่า ประมาณ 3-4 ขวด นาน ๆ จึงจะมีอาหารและขนม (เอาไว้ให้ผมย่องลงมาเปิดและแอบกินตอนดึก ๆ) สักครั้ง

ผมแกล้ง ๆ ปลอมตัวเป็นช่าง วินิจฉัยดูอาการอย่างปลง ๆ แล้วก็ลงความเห็นว่า “อีเย็น” สิ้นชีพ เนื่องจากโรคชราภาพและได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

ความรู้สึกเบื้องต้นที่เกิดขึ้นก็คือ เสียดาย อาลัยอาวรณ์ และเกิดความวิตกกังวลว่า นับจากนี้ ผมจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร โดยปราศจากน้ำเย็นให้ดื่ม

ยิ่งพอนึกล่วงหน้าไปยังไฮซีซั่น หรือฤดูร้อนอย่างเป็นทางการที่กำลังใกล้จะมาถึง ผมก็รู้สึกหนาวแบบมีเหงื่อแตกเจือปนขึ้นมาทันที

ทางแก้ปัญหานั้นมีอยู่ว่า ตามช่างมาซ่อม หรือไม่ก็ซื้อเครื่องใหม่ ท้ายที่สุดผมก็เลือกวิธี “ปล่อยวาง” คือ ปล่อยและวางทิ้งไว้เฉย ๆ

ตอนนี้ “อีเย็น” ของผมกลายเป็นชั้นวางหนังสือชั่วคราวไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการในอนาคต ตั้งใจไว้ว่าจะดัดแปลงให้เป็นที่พำนักอาศัยของบรรดาตุ๊กตาหมีสิบกว่าชีวิต ลองนึกภาพดูสิครับ เวลาแขกไปใครมา เปิดตู้เย็นแล้วไม่มีน้ำให้ดื่ม เจอแต่หน้าบ้องแบ๊วของเดอะ แก๊งเรียงราวกันสลอนอยู่ใน “ตู้ซ่อนหมี”

รู้ตัวนะครับว่า ไร้สาระ แต่มันอดคิดไม่ได้

เหตุผลที่ผมตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องใหม่ ก็เพราะเกิดนึกพิเรนทร์อยากทดลองดำรงชีวิตแบบปราศจากตู้เย็นดูสักพัก ถ้าไปไม่รอด เดือดร้อนสาหัสจริง ๆ ค่อยคิดอ่านแก้ไขกันอีกที

ผลก็คือ ขลุกขลักเดือดร้อนอยู่พอสมควรในช่วงแรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนดึก ๆ เมื่อผมแอบย่องลงมาหาอะไรกิน พอเปิดตู้เย็นกลับพบแต่หนังสือประเภทแนะนำร้านอาหารอร่อยเรียงรายเต็มไปหมด นับเป็นความปวดร้าวทรมานจิตใจสุดขีดในยามหิวโหยเลยนะครับ

คำกล่าวที่ว่า “เวลาช่วยเยียวยารักษาแผลใจ” ยังคงเป็นความจริง ผ่านพ้นเดือนแรกไปแล้ว “อีเย็น” ของผมก็กลับกลายเป็นปกติ ไม่ได้ใช้งานดีดังเดิมหรอกนะครับ แต่เสียเป็นปกติ จนผมค่อย ๆ คุ้นเคยและเริ่มปรับตัวให้ชินต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มีน้ำเย็นให้ดื่ม จนกระทั่งล่าสุดเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางฝ่ายผมและฝ่าย “อีเย็น” ก็เรียบร้อยเป็นปกติ

รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลยครับ คือเป็นเด็กในครอบครัวยากจน ซึ่งที่บ้านไม่มีปัญญาจะซื้อตู้เย็นมาใช้สอย

พอผมปรับตัวเข้ากับชีวิตเมืองใหญ่ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรได้สำเร็จ สักพักฤดูร้อนเดือดก็มาเยี่ยมเยือน คราวนี้ผมเกิดอาการกระหายและคิดถึงน้ำเย็นขึ้นมาอย่างรุนแรง กระทั่งทุรนทุรายนอนไม่หลับ แม้จะพยายามนอนหลับตานับตู้เย็นวิ่งกระโดดข้ามรั้ว ก็ยังไม่สำเร็จ มิหนำซ้ำกลับทุกข์ทรมานกว่าเดิมอีกต่างหาก

จนกระทั่งถึงวันที่ตลอดทั้งบ่ายแดดจัด ดึกสงัดร้อนอบอ้าว (คืนนั้นผมหลับแล้วฝันเห็นตัวเองรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปเป็นอูฐกลางทะเลทราย) ภาวะสุดจะทนก็ทำให้ผมเล็งเห็นแสงสว่างแห่งปัญญาอ่อน ๆ (หมายถึงแสงอ่อน ๆ นะครับ ไม่ใช่ปัญญาอ่อน ๆ)

ตื่นนอนแล้ว ผมก็จัดแจงซื้อกระติกมาหนึ่งใบ จากนั้นก็ซื้อน้ำแข็งหนึ่งถุง เพียงเท่านี้เองวิกฤติขาดแคลนสิ่งเย็นเจี๊ยบล่วงล้ำลำคอก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง

จนถึงบัดนี้ “อีเย็น” เจ๊งมาแล้วสามเดือน ส่งผลให้บิลค่าไฟถัดจากนั้น แสดงจำนวนหน่วยการใช้พลังงานลดลง จากเดิมประมาณ 120-150 หน่วยต่อเดือน เหลือเพียง 50 กว่าหน่วยเท่านั้นเอง

“อีเย็น” อาจจะไม่ได้ตั้งใจ และไม่เคยรู้เรื่องจิตสำนึกห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่มันก็ช่วยชาติประหยัดและลดทอนปัญหาโลกร้อนทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว
เรื่องที่เกิดขึ้นกับ “อีเย็น” อาจเป็นเหตุการณ์หยุมหยิมส่วนตัวสักหน่อย แต่ผมก็ได้แง่คิดเพิ่มเติมบางประการ มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

“อีเย็น” ทำให้ผมต้องกลับไปย้อนทบทวนอะไรต่อมิอะไรรอบ ๆ ตัว จนพบความจริงที่น่าตกใจว่า ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ เรา ๆ ท่าน ๆ พึ่งพาอาศัยสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกสบายด้านต่าง ๆ มากมายเหลือเกิน

เยอะจนเมื่อนำเทียบกับสมัยเด็ก ๆ ก็เกือบจะเรียกได้ว่า มีชีวิตอยู่บนโลกคนละใบ คนละยุคสมัยกันเลยทีเดียว

ตอนเด็ก ๆ นั้น ที่บ้านผมไม่มีโทรศัพท์, ไม่มีโทรทัศน์, ไม่มีตู้เย็น, ไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า, ไม่มีที่ต้มน้ำชนิดเสียบปลั๊ก, ไม่มีเตาแก๊ส, ไม่มีคอมพิวเตอร์ และเจ๋งมาก-แบบที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าคูล (cool)-ถึงขนาดเข้านอนโดยไม่มีพัดลม (ครอบครัวผมใช้พัดโบกด้วยมือเป็นอุปกรณ์คลายร้อน ซึ่งช่วยให้นอนหลับเพราะความอ่อนเพลียที่เริ่มต้นจากการเมื่อยมือ)

ผมเติบโตมาในสภาพดังกล่าว โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือคิดว่าตนเองขัดสน และสามารถกล่าวยืนยันได้ว่า นั่นเป็นวัยเด็กที่มีความสุข

ต่างจากปัจจุบันเยอะเลย คืนไหนไฟดับสักสิบยี่สิบนาที ถือเป็นความปั่นป่วนโกลาหล, คอมพิวเตอร์เจ๊งขึ้นมาทีไร ภารกิจงานการทั้งหลายก็รวนเสียขบวนไปหมด, เวลาจะเดินทาง ไม่ได้ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศ กลับกลายเป็นทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด (พอถึงทุกวันนี้ก็พัฒนากลายเป็นติดรถไฟฟ้า/รถไฟใต้ดิน จนผมเริ่มนิสัยเสียขึ้นรถเมล์ไม่ค่อยจะเป็นซะแล้ว)

ง่าย ๆ กระทั่งรีโมทคอนโทรลโทรทัศน์วางหลงหูหลงตา ก็แทบจะง่อยทำอะไรไม่ถูกขึ้นมาทันที

นี่ยังไม่นับแง่มุมจุกจิกอย่างเช่น ชอบขึ้นลิฟต์และบันไดเลื่อน แทนการขึ้นกระไดด้วยเท้า, ชอบเดินห้างหรู ๆ และซูเปอร์มาเก็ต แทนการท่องตระเวณตลาดนัดตลาดสด หรือการใช้ชีวิตแบบที่บางวันแทบไม่ได้สัมผัสกับแสงแดด

พูดง่าย ๆ คือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลายประดามี ทำให้ผมกลายเป็นคน “หน่อมแน้ม” ผิดจากเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ จนถ้าหากสามารถทะลุมิติเวลากลับไปสู่ยุคสมัยเมื่อครั้งยังเด็ก ผมก็คงไม่เหลือภูมิต้านทานความแข็งแรงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเก่าได้อีก

ไปไม่รอดและอยู่ไม่ได้ชัวร์ ๆ

ด้วยเหตุนี้ พอเกิดกรณี “อีเย็น” มีอันเป็นไปขึ้น ผมก็เลยต้องปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตขนานใหญ่ เลือกพึ่งพาเทคโนโลยีเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ไม่ได้ตั้งใจจะชวนให้หวนคืนสู่ยุคไฮถึกดึกดำบรรพ์หรอกนะครับ โลกมีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จะฝืนต้านคงเป็นเรื่องลำบาก และปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ มากพอสมควร

ประเด็นของผมก็คือ เลือกใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น (ซึ่งแต่ละคนมีมุมมองต่อ “ความจำเป็น” ไม่เท่ากัน อันนี้ก็แล้วแต่จิตศรัทธาของญาติโยมแต่ละท่าน)
ผมนั้นไม่ขับรถยนต์ ไม่ซื้อรถยนต์ และมีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ในระดับสมองหดลีบเล็กลงเหลือเพียงแค่เท่าเม็ดถั่วเขียว เช่นเดียวกับไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ (ซึ่งผมโง่มากถึงขนาดที่ยังไม่รู้แม้วิธีโทรออกหรือกดรับสาย) ไม่ใช้เครื่องซักผ้า ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สำหรับผมแล้วเห็นว่า “ไม่จำเป็น” ขณะเดียวกันก็มีหลายสิ่งซึ่งเป็นกิเลสที่ผมยังตัดไม่ขาด เช่น เครื่องเล่นดีวีดี (อันนี้เป็นเครื่องมือทำมาหากินด้วยนะครับ), ซาวเบาท์แก่ ๆ ที่เอาไว้สำหรับฟังเพลง ฯลฯ

ผมคิดอย่างนี้นะครับว่า เราแต่ละคนอาจมองเทคโนโลยีต่าง ๆ ว่า “จำเป็น” หรือ “ฟุ่มเฟือย” ไม่ตรงกันนัก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ทว่าไม่ควรจะมีใครคิดเห็นสุดขั้วว่า เทคโนโลยีทุกชนิดจำเป็นต่อชีวิตไปเสียทั้งหมด (และผูกขาดใช้มันครบถ้วนอย่างไม่บันยะบันยัง) เช่นเดียวกับไม่ควรจะมีใครต่อต้านปฏิเสธเทคโนโลยีโดยมองว่าเป็นสิ่งเลวร้ายล้วน ๆ

ประการถัดมา ในบรรดาสิ่ง “จำเป็น” ขาดไม่ได้หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยี ผมคิดว่า เราต้องระมัดระวังว่าจะ “ใช้” มันอย่างไรให้เป็นและคุ้ม อย่าปล่อยให้เทคโนโลยีอุปกรณ์ไม่มีชีวิตเป็นฝ่ายบงการ “ใช้” เรา (พูดก็พูดเถิดนะครับ เห็นแบบอย่างการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตจริงหลาย ๆ ครั้งแล้ว ผมอยากจะบอกว่า มีคนถูกมือถือ “ใช้สอยควบคุม” เยอะเลย)

ที่สำคัญคือ ควรมีมาตรการ “กันเหนียว” หาวิธีรับมือกรณีฉุกเฉินที่เทคโนโลยีเดี้ยงกระทันหัน สำหรับผมแล้วเรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นโจทย์ข้อใหญ่ บางทีคุณพี่เขาก็งอแงทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้า เข้าอีเมล์ส่งงานไม่ได้ บางทีสายโมเด็มก็ทำให้ต่ออินเตอร์เน็ตแล้วเกิดอาการหลุดบ่อย ๆ บางทีเว็บต่าง ๆ ก็ error ด้วยสาเหตุพิลึกจนชวนให้เชื่อว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์สาขาไอที บางทีก็เจอเว็บล่ม (เด็กชายพี่หมี ตุ๊กตาหมีกุมารทองคู่ใจผม เรียกอาการเหล่านี้รวม ๆ ว่า “เน็ตเหนื่อย”)


อะไรพวกนี้นี่ต้อง เตรียมแผนสอง แผนสามไว้คอยรับมืออยู่ตลอดนะครับ แม้กระทั่งเรื่องเบสิคพื้นฐานอย่างเช่น การเตือนตัวเองให้พิมพ์งานไป กดเซฟทุก ๆ ย่อหน้า (ผมเคยมีบทเรียนซาบซึ้งในรสพระธรรมมาแล้ว จากการเขียนบทความยาวเหยียดหลายหน้า เหลืออีกแค่บรรทัดเดียวก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์หมดจด แต่ทันใดก็เกิดไฟดับ โดยที่ผมไม่ได้เซฟไว้เลย จนต้องมานั่งปาดน้ำตาเขียนใหม่ทั้งหมดจากความจำ ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ดีเท่าเดิมด้วย)

นี่ยังไม่นับรวมกรณีคอมพิวเตอร์โดนไวรัส จนไฟล์ต้นฉบับงานต่าง ๆ มีอันต้องตกหล่นสูญหาย

ผมมีแผนรับมือคอมพิวเตอร์ทำพิษฉุกเฉินเยอะแยะมากมาย รวมทั้งท่าไม้ตายคือ กลับมาซ้อมเขียนต้นฉบับด้วยลายมืออีกครั้ง เผื่อเหลือเผื่อขาด

ผมไม่ได้คิดอะไรแบบมุ่งคาดคะเนในแง่ร้ายนะครับ แต่เห็นว่าเป็นการดีถ้าหากจะตระเตรียมความพร้อม และตั้งสติดำรงตนอยู่โดยความไม่ประมาท

ประโยชน์หรือผลพลอยได้ท้ายสุดจากกรณี “อีเย็น” ก็คือ การฝากผีฝากไข้เทคโนโลยีแต่พอเหมาะพองาม (โดยไม่ต้องกล่าวอ้างถึงแง่มุมใหญ่โตว่า ทำร้ายโลกและส่วนรวมน้อยลง) พูดเฉพาะในมุมเห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุด มันช่วยให้เรา “อึด” และ “แกร่ง” ขึ้น จากการยอมลดทอนความสะดวกสบายบ้างตามอัตภาพ

วันนี้ผมเขียนอะไรฟุ้ง ๆ กระจัดกระจายอยู่สักหน่อย โปรดอย่าถือสาเลยนะครับ อากาศมันร้อน แถมยังสะเทือนใจไม่หาย ทั้งที่ “อีเย็น” มันขาดใจตายไปหลายเดือนแล้ว




(เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ)

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

หมีน่ารักมากๆครับ
ฝากเว็บดีๆไว้ซักเว็บนะครับวิทยุออนไลน์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สำนวนการเขียนชักพาให้ ตื่นตัวตลอดเวลา

แถมเล่นคำได้สนุก

แต่แอบเสียนิด ๆ ที่ไม่แบบเล่มเดียวจบ เฮ่อ ..

ที่ยังขำอยู่ก็คือ เจ้า "ตู้ซ่อนหมี" เนี่ย