วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

เรื่องอิ่มใจและเรื่องเจ็บใจ โดย "นรา"


ผมทิ้งท้ายเอาไว้เกี่ยวกับปัญหาหลัก ๆ ในการทำให้เกิดอาการ “หนูไม่รู้” เวลาดูจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีตั้งแต่ไม่ทราบว่าเป็นภาพวาดเกี่ยวกับเรื่องอะไร, ความสับสนในการจำแนกแยกแยะว่าหนึ่งภาพประกอบไปด้วยกี่เหตุการณ์ รวมทั้งการเรียงลำดับว่า ควรเริ่มต้นดูจากจุดไหนก่อนหรือหลัง

ตรงนี้ชวนให้มึนงงอยู่พอสมควร เพราะปราศจากหลักเกณฑ์ตายตัว เท่าที่ได้สัมผัสมา ผมพบว่าบางภาพเริ่มดูโดยไล่จากล่างขึ้นบน บางภาพเริ่มจากบนลงล่าง บางภาพเริ่มที่ขวาไปซ้าย บางภาพเริ่มซ้ายมาขวา บางภาพต้องดูเป็นวงกลมตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา บางภาพเริ่มจากล่างขวาขึ้นบนแล้วค่อยวกลงซ้าย เหมือนรูปเกือกม้าคว่ำ ฯลฯ

คำถามก็คือ ปัญหาทั้งหมดนี้ จะแก้ไขอย่างไร?

ง่ายนิดเดียวครับ คือ ต้องรู้เรื่องรู้พล็อตของภาพนั้น ๆ ล่วงหน้าก่อนดู

หมายความว่า ในฐานะผู้ชม เรา ๆ ท่าน ๆ ควรจะอ่านหรือผ่านตา “เรื่องเดิม” จากวรรณกรรม ที่ครูช่างทั้งหลายได้นำมาตีความถ่ายทอดใหม่ในรูปแบบของจิตรกรรมฝาผนัง

ข่าวร้ายก็คือ เรื่องที่นิยมนำมาวาดจิตรกรรมฝาผนัง มีอยู่เยอะแยะมากมายหลากหัวข้อหลายประเด็น มิหนำซ้ำชื่อเรื่องยังหนักไปทางศัพท์บาลีแปลกตาไม่เป็นที่ไม่คุ้นเคย และชวนให้นึกหวั่นหวาดขยาดเกรงตั้งแต่แรกพบเห็น เช่น เรื่องอัฎฐมหาสถานและสัตตมหาสถาน, ประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า, ไตรภูมิโลกสัณฐาน ฯลฯ

ส่วนข่าวดีก็คือ แม้จะมีเนื้อหากระจัดกระจาย กินขอบเขตกว้างขวาง ทว่าเรื่องราวที่พบเห็นบ่อย ๆ ในจิตรกรรมฝาผนังส่วนใหญ่ เอาเข้าจริงก็มักจะหนีไม่พ้น พุทธประวัติ, ทศชาติชาดก, ไตรภูมิโลกสัณฐาน และภาพเทพชุมนุม

พูดง่าย ๆ ก็คือ จิตรกรรมฝาผนังที่วาดกันตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มักจะยึดถือเนื้อหาเหล่านี้ค่อนข้างเคร่งครัด

พูดให้ใจชื้นขึ้นอีกนิด จิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการยกย่องในวัดสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มักวาดขึ้นในช่วงเวลาข้างต้นนี่แหละครับ

ภาพวาดตามวิหารหรือพระอุโบสถ มีเจตนาเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ 2 ประการ อันดับแรกเพื่อตกแต่งตัวอาคารสถานที่ให้สวยงาม ถัดมาเป็นการขับเน้นพระพุทธรูป (โดยเฉพาะองค์พระประธาน) ให้โดดเด่น

นี่เป็นเหตุผลหลัก ๆ ทำให้ โทนสีในจิตรกรรมไทย มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการใช้สีแดงเป็นหลัก และมีสีพื้นอื่น ๆ ที่ค่อนข้างมืดทึบ

สาเหตุก็เพราะ สีแดงในท่ามกลางบรรยากาศมืดครึ้มนั้น ช่วยหนุนเสริมให้สีทองขององค์พระพุทธรูปแลดูสุกปลั่งมลังเมลืองงามจับตามากยิ่งขึ้น

ภาพที่ผมเห็นเป็นอย่างนี้ครับ เมื่อมองตรงเข้าไป องค์พระประธานดูราวกับจะลอยเด่นอยู่กลางอากาศ หลุดพ้นออกมาจากฉากหลังทั้งหมด

ด้วยแนวคิดที่ยึดถือองค์พระประธานเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญสุด การกำหนดตำแหน่งว่าพื้นที่ตรงไหนจะวาดภาพอะไร จึงผ่านการออกแบบให้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ กระทั่งคลี่คลายกลายเป็นขนบที่ยึดถือสืบต่อกันมา

พื้นที่ในโบสถ์นั้น ผมแบ่งของผมเองให้เข้าใจง่าย ๆ ออกเป็นตอนล่างกับตอนบน

ตอนล่างก็คือ รอบ ๆ ผนังทั้งสี่ด้าน นับจากพื้นถึงขอบบนของประตูและหน้าต่าง ที่เหลือถัดจากนั้นจนถึงเพดาน คือ ตอนบน

บริเวณ “ตอนล่าง” ซึ่งมีประตูและหน้าต่างคั่นไว้ เรียกกันว่า “หนึ่งห้อง” เหมือนภาพหนึ่งเฟรม ขนาดไม่ใหญ่นัก จึงนิยมวาดภาพจากชาดกหรือพุทธประวัติ เป็นการเกริ่นนำให้ผู้ชมทราบความเป็นมาในชาติภพต่าง ๆ ซึ่งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีสั่งสมเอาไว้ จนประสูติเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย และสืบเนื่องมาถึงเรื่องราวในพุทธประวัติ

องค์พระประธานนั้น โดยมากมักจะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (แปลง่าย ๆ ก็คือ “พิชิตมาร”) กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญ คือ การตรัสรู้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัด จึงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อมุ่งขับเน้นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าให้โดดเด่นมีความหมายมากเป็นพิเศษ ฝาผนังตอนบนทั้งสี่ด้าน ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต นิยมวาดเหตุการณ์ตอนสำคัญ และมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสอดคล้องรับส่งกันหมด

กล่าวคือ ด้านหลังองค์พระประธาน เป็นภาพไตรภูมิหรือจักรวาล ผมยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้อย่างจริงจังนะครับ เอาไว้ผมอ่านตำรับตำราเรื่องนี้จบลงเมื่อไหร่ คงได้นำมาเล่าใหม่สังคายนาให้แจ่มแจ้งครบถ้วนในโอกาสต่อ ๆ ไป

ผนังด้านข้างซ้ายขวาขององค์พระประธาน เป็นภาพเทพชุมนุม ซึ่งก็หมายถึงเทวดาทุกระดับชั้นตั้งแต่พระพรหม, พระอินทร์ ตลอดจนยักษ์ ครุฑ นาค ฯลฯ จากหมื่นจักรวาลมาชุมนุมรวมกัน เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเป็นประจักษ์พยานต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

นอกจากจะสร้างความหมายไปยังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (องค์พระประธาน) แล้ว ภาพเทพชุมนุมยังทำหน้าที่ในการหนุนเสริมบรรยากาศสงบศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้คนที่เข้าไปในโบสถ์ (รวมทั้งเป็นเสมือนสื่อนำสายตาของเราไปยังองค์พระประธาน)

ผนังตอนบนฝั่งตรงข้ามพระประธาน (หรือตอนบนเหนือประตูทางเข้าด้านหน้า) ถือเป็นตำแหน่งสำคัญและโดดเด่นสุด เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ๆ ในโบสถ์ เนื่องจากไม่มีองค์พระมาบดบังรายละเอียด จึงสามารถมองเห็นภาพทั้งหมดได้อย่างจะแจ้งเด่นชัด พื้นที่ตรงนี้นิยมวาดภาพ “มารผจญ” หรือ “ผจญมาร” หรือ “มารพ่าย” หรือ “มารวิชัย” (วิธีสังเกตว่า รูปไหนคือ พุทธประวัติตอนมารผจญ มีหลักง่าย ๆ ครับ ตรงด้านล่างของพระพุทธเจ้า จะมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ด้วยเสมอ)

ผมเข้าใจว่า เป็นการสร้างความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ “ก่อนและหลังการตรัสรู้” ซึ่งอยู่คนละฟากของพระอุโบสถ และดูสอดคล้องกันดีกับการที่ชาวบ้าน (ที่ยังใช้ชีวิตทางโลก เปี่ยมด้วยกิเลสตัณหาบาปบุญคุณโทษต่าง ๆ) เข้าโบสถ์ หลุดพ้นจากการข้องแวะของมาร (ในรูปแบบต่าง ๆ ชั่วขณะ) และได้สัมผัสกับพระธรรม การตรัสรู้ ได้ไหว้พระทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ครั้นเมื่อเดินออก (ทางด้านหน้า) ก็จะต้องผ่านภาพ “ผจญมาร” เป็นการเตือนสติส่งท้าย ก่อนกลับสู่โลกภายนอกอันยุ่งเหยิงวุ่นวาย (พอ ๆ กับรายละเอียดในภาพเขียน)

จริงเท็จอย่างไรไม่ยืนยันนะครับ แต่เข้าวัดดูภาพจิตรกรรมบ่อย ๆ ผมก็เริ่มรู้สึก เริ่มคิด และเริ่มเชื่อตามนี้

การทราบตำแหน่งที่ตั้งและธรรมเนียมการวาดภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน, เทพชุมนุม, และมารผจญ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การดูจิตรกรรมฝาผนัง รู้ว่า “อะไรเป็นอะไร” มากขึ้นกว่าเดิมได้เยอะทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การบ้านสำคัญสุดยังคงอยู่ที่การย้อนกลับไปอ่านพุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ

เรื่องพุทธประวัตินั้น ระยะแรกเริ่มผมพออาศัยความรู้เก่า ๆ สมัยเรียนวิชาศีลธรรมมาเป็นตัวช่วยได้บ้าง ทว่าก็พอรู้เลา ๆ แค่ช่วงตอนสำคัญ ๆ เท่านั้น ในงานจิตรกรรมไทยนิยมวาดแตกรายละเอียดประมาณ 28 ตอน และคู่มืออันล้ำเลิศสุดที่เหมาะจะอ่านให้เกิดความเข้าใจแตกฉานลึกซึ้งก็คือ พระปฐมสมโพธิกถา ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (ผมกำลังตระเวนหาหนังสือเล่มนี้อยู่นะครับ)

ส่วนเรื่องชาดก มีตัวช่วยที่ง่ายหน่อย คือ หนังสือชุด “ท่องทศชาติผ่านจิตรกรรม” ของอู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย มี 2 เล่มจบ เขียนในท่วงทีลีลาเหมือนจดหมายถึงเพื่อน ย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สอดแทรกความคิดเห็น (และการตีความอธิบายของผู้คน) อ่านสนุกเพลิดเพลิน ฉบับปกแข็งราคาค่อนข้างสูงอยู่สักหน่อย (ตอนซื้อผมใช้วิธีทุบกระปุก และยอมแลกเปลี่ยนกับการทำตัวประหยัดราว ๆ สองอาทิตย์) มีฉบับปกอ่อนด้วยเหมือนกัน แต่ขอแนะนำให้ซื้อปกแข็งมากกว่า เพราะการจัดรูปเล่มและภาพประกอบสวยเหลือเกิน (แค่ดูรูปอย่างเดียวก็คุ้มแล้วครับ)

หนังสืออีกชุดได้แก่ “ทศชาติชาดกกับจิตรกรรมฝาผนัง” มี 2 เล่มจบเหมือนกัน เขียนโดยนิดดา หงษ์วิวัฒน์ รูปแบบและเนื้อหาคล้าย ๆ กัน แต่เล่าเป็นนิยาย เน้นรายละเอียดถี่ถ้วน มีภาพประกอบเทียบเคียงให้ดูจุใจ

ทั้งสองชุดนี้ นอกจากจะช่วยให้ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังได้สะดวกง่ายดายขึ้นมากแล้ว ยังช่วยเตรียมตัวฝึกสายตาก่อนที่ผมจะเดินทางไปดูของจริงอีกต่างหาก

กล่าวคือ ในเหตุการณ์ตอนเดียวกัน มีภาพจากจิตรกรรมฝาผนังหลาย ๆ แหล่ง ทำให้มีโอกาสสังเกตเปรียบเทียบลีลาของครูช่างในวัดแต่ละแห่ง ผ่านตาบ่อย ๆ รสนิยมส่วนตัวของผม ก็จะค่อย ๆ แยกแยะมองเห็นความเหมือนความต่าง และเริ่มพอจะดูออกว่า ฝีมือวัดไหนเด่นด้อยเหลื่อมล้ำกว่ากัน

หัวใจสำคัญในการดูจิตรกรรมฝาผนังให้ดื่มด่ำได้อรรถรสนั้น มีหลักอยู่ 2-3 ข้อ

แรกสุดคือ ดูบ่อย ๆ ดูเยอะ ๆ และหาโอกาสดูให้หลากหลายมากสุดเท่าที่จะทำได้ ชั่วโมงบินและประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสกับของจริง จะช่วยฝึกสายตาพัฒนาฝีมือและแรงงานไปเองโดยปริยาย

เมื่อตอนที่ผม “เข้าสู่วงการ” ดูจิตรกรรมฝาผนัง ผมเริ่มต้น ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ดูเสร็จก็ตกอยู่ในอาการเหมือนคนลิ้นชาไม่รู้รสชาติอาหาร ไม่เกิดความดื่มด่ำซาบซึ้งใด ๆ ทั้งสิ้น

จนกระทั่งมาอ่านบทความชื่อ “คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง” โดยท่านอาจารย์ศิลป พีระศรี ผมจึงเหมือนได้รับการครอบครู เปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง

เคล็ดลับของอาจารย์ก็คือ ดูช้า ๆ ใจเย็น ๆ แต่ละครั้งใช้เวลาดูทีละภาพสองภาพก็พอ ไม่ต้องกวาดให้หมดเก็บให้เกลี้ยง แต่ดูแบบพินิจพิเคราะห์สังเกตซึมซับรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน หากไม่หนำใจก็ค่อยย้อนกลับไปดูใหม่ ตามเก็บภาพอื่น ๆ ที่เหลือ

อันนี้ผมยืนยันได้ว่า ภาพเดิมรูปเดียวกันนี่แหละ กลับไปดูซ้ำอีกทีไร จะต้องพบอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนซุกซ่อนอยุ่เสมอ

ยิ่งดู ยิ่งเจอ ว่างั้นเถอะครับ

ผมมีเทคนิคส่วนตัวอีกอย่าง ซึ่งทดลองเดาสุ่มเอาเอง ปรากฎว่าได้ผลดีเกินคาด นั่นคือ การดูจิตรกรรมฝาผนัง ควรจะมีกล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์ประกอบด้วย เพื่อส่องดูตรงบริเวณสูง ๆ ไกล ๆ

เจ็บใจอยู่นิดเดียวคือ ตอนไปซื้อกล้องที่คลองถม คนขายผู้หวังดีบอกกับผมว่า “อันที่เฮียจะซื้อ ใช้ดูม้าแข่งไม่เวิร์คหรอก”

ทันใดนั้นภาพของนักดูจิตรกรรมฝาผนังผู้มีอารมณ์อันละเอียดอ่อนสุนทรีย์ ที่สู้อุตส่าห์จินตนาการไว้เสียดิบดี ก็หายวับไปกับตา เหลือแต่อาแปะแก่ ๆ เดินง่อกแง่กซื้อหญ้าให้ม้ากินอยู่แถว ๆ สนามม้านางเลิ้ง



(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก 3 มกราคม 2551 คอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ)

ไม่มีความคิดเห็น: