วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ก่อนจะเป็น "กาลครั้งหนึ่งฯ" โดย "นรา"


ผมเคยเขียนถึงซือแป๋หรืออาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลไปบ้างแล้ว ในบทความชื่อ “ไหว้ครูที่อยู่ในใจ”

ขณะนั่งอ่านทบทวนบทความชื่อ “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” เพื่อนำลงในบล็อก เจตนาดั้งเดิม ผมก็ตั้งใจจะบอกเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้

นึกไปนึกมา ก็พบว่า มีรายละเอียดเยอะพอสมควร จนน่าจะแยกออกมาเขียนเป็นบทความอีกชิ้น ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องโยงใยถึงซือแป๋ของผมด้วยเช่นกัน
ผมเขียนเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” ขึ้นเมื่อประมาณปี 2538 แรกเริ่มเดิมทีเป็นการบ้านที่ผมเขียนส่งอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวิชา “การเขียนบทความ”

เล่าย้อนหลังเท้าความอีกเล็กน้อยก็คือ ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากหนังสือฟิล์มวิว และไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โดยไม่ได้สังกัดประจำกองบ.ก. ฉบับใด แต่อยู่ในหน่วยงานที่เรียกว่า “สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว”

งานหลัก ๆ ของที่นี่ได้แก่ การคิดค้นหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้บรรดานักข่าวมาเรียนรู้เพิ่มเติม

หน้าที่ของผมก็คือ คอยถ่ายวิดีโอหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ, ซื้อหนังคลาสสิคและหนังดี ๆ มารวบรวมในห้องสมุด เพื่อให้นักข่าวมาหยิบยืมไปดู, รวมทั้งชงกาแฟดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่มาใช้บริการ ฯลฯ ส่วนเรื่องเขียนหนังสือก็หยุดพักไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีสนามให้เขียน

ช่วงนั้นอาจารย์เสกสรรค์ใช้เวลานอกเหนือจากงานสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับทางสถาบันฯ (ซึ่งมีอาจารย์ชัยสิริ สมุทวณิชเป็นผู้อำนวยการ)

จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดมีหลักสูตร “การเขียนบทความหนังสือพิมพ์” โดยอาจารย์เสกสรรค์ ลงมือเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้ด้วยตนเอง

นี่เป็นหลักสูตรที่มีคนสนใจมาสมัครเยอะแยะมากมาย (เรียนฟรีด้วยครับ) แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า ต้องมีการสอบข้อเขียน เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงประมาณสิบกว่าคน

เหตุผลก็เพราะผู้เข้าเรียนต้องเขียนการบ้านส่งทุกครั้ง ต้องมีการตรวจงาน วิจารณ์ข้อดีข้อเสียกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงต้องรับในจำนวนจำกัดเท่าที่อาจารย์เสกสรรค์จะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

ที่พิเศษอีกอย่างก็คือ วิชาของอาจารย์เสกสรรค์ ไม่มีการบันทึกวิดีโอเก็บไว้ เนื่องจากวิธีเรียนและสอนนั้น ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น แต่เหมือนนั่งล้อมวงพูดคุยกัน

หลังจากสอบคัดเลือกจนได้คนเรียนครบถ้วนแล้ว ชั่วโมงแรกของหลักสูตรก็มาถึง ก่อนเริ่มเพียงไม่กี่นาที ผมเดินไปสารภาพตามตรงกับอาจารย์เสกสรรค์ว่า “ผมขออนุญาตเข้านั่งฟังนั่งเรียนด้วยได้มั้ยครับ ผมอยากเรียน”

“ได้ แต่นายต้องทำการบ้าน เขียนงานส่ง เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ”

ผมเริ่มหัดเขียนหนังสือด้วยวิธี “ครูพักลักจำ” ศึกษาจากงานของนักเขียนผู้มาก่อนจำนวนมาก (และผมถือว่าทุกท่านล้วนเป็นครู)

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงเป็นครูทางด้านการเขียนหนังสือโดยตรงและเป็นทางการ เพียงหนึ่งเดียวของผม

การบ้านครั้งแรกคือ เขียนบทความสองชิ้น

ชิ้นแรกเป็นบทความในเชิงแสดงความเห็นโต้แย้ง อีกชิ้นหนึ่งเป็นบทความทั่วไป เพื่อเสนอทัศนะมุมมองบางอย่างต่อผู้อ่าน

ผมเลือกเขียนบทความโต้แย้งคำสัมภาษณ์ของศิลปินท่านหนึ่ง ส่วนอีกชิ้นก็คือเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้”

ชั่วโมงเรียนครั้งถัดมา อาจารย์เสกสรรค์อ่านการบ้านของแต่ละคน พร้อมกับชี้แนะข้อด้อยรอยโหว่ต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่พื้นฐานการใช้ภาษา, การลำดับความคิด, ความเป็นเหตุเป็นผล, การสร้างความคมคาย, และประเด็นที่นำเสนอ ฯลฯ(ในกระดาษต้นฉบับของแต่ละคน ยังปรากฎการตรวจแก้ด้วยปากกาสีแดงลายพร้อยไปหมด และการประเมินให้เกรด กล่าวได้ว่า อาจารย์เสกสรรค์ตรวจงานละเอียดพิถีพิถันมาก แม้กระทั่งการใช้คำเกินรกรุงรังเพียงคำเดียวก็ยังโดนแก้)

การบ้านของผม ไม่ได้ถูกอ่านในชั้นเรียน เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ประเภทไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องเป็นทางการ แต่อาจารย์เสกสรรค์ก็เรียกผมมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว เพื่อชี้แนะข้อดีข้อเสีย

บทความชิ้นที่ผมเขียนโต้แย้งได้คะแนนปานกลาง ส่วนชิ้น “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” โดยรวมค่อนข้างดี แต่มีปัญหาตรงที่ยังมีบางจุดคลุมเครือไม่ชัดเจน และขาดรายละเอียดเชื่อมโยง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมโล่งอกก็คือ อาจารย์บอกว่า ผมนั้นผ่านด่านหลุดพ้นไม่ติดขัดเรื่องปัญหาการใช้ภาษา (และการบ้านของผมก็มีร่องรอยตรวจแก้ด้วยปากกาแดงค่อนข้างน้อย) ที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงก็มีเพียงเรื่องการเรียงลำดับความคิดให้เป็นระบบรัดกุมยิ่งขึ้น

ผมเรียนกับอาจารย์อีกหลายครั้ง ทว่าท้ายที่สุดหลักสูตรดังกล่าวก็ต้องเลิกก่อนกำหนดไปโดยปริยาย ด้วยสาเหตุว่า ไม่มีคนส่งการบ้าน (ซึ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ) เพราะบรรดานักข่าวส่วนใหญ่ ต่างติดภารกิจงานประจำ ไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับการบ้าน รวมทั้งเกิดอาการเกร็งและเกรงความเห็นตรงไปตรงมาของอาจารย์เสกสรรค์

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียนไม่จบครบหลักสูตร แต่ก็ถือว่าผมนั้นได้วิชาความรู้ติดตัวมาเยอะ และส่งผลให้งานเขียนของผมถัดจากนั้น ผิดแผกแตกต่างจากเดิมอยู่มากพอสมควร

มีอีกหนึ่งกระบวนท่า ที่ผมได้รับการชี้แนะสั่งสอนเพิ่มเติมนอกเหนือลูกศิษย์คนอื่น ๆ

กล่าวคือ ระยะนั้น งานเขียนของผมมีร่องรอยอิทธิพลของอาจารย์เสกสรรค์ปรากฏอยู่เต็มไปหมด จนวันหนึ่งผมนำความเรื่องนี้ไปปรับทุกข์กับซือแป๋ ว่าจะทำอย่างไรดี จึงจะสามารถคลี่คลายสู่ความเป็นตัวของตัวเอง

อาจารย์ตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนเปี่ยมเมตตาว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรามันศิษย์มีครู ระยะเริ่มแรกทำอะไรอาจเหมือนครูอยู่บ้าง ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ทำงานบ่อย ๆ ทำงานหนัก ๆ ประเดี๋ยวเวลาก็จะค่อย ๆ ช่วยขัดเกลาให้เกิดลีลาเฉพาะขึ้นมาเอง อย่าไปกลัวที่จะรับและศึกษาอิทธิพลดี ๆ จากเขียนของผู้อื่น การศึกษาแบบอย่างที่ดี มันอาจติดอาจเหมือนต้นทางอยู่บ้าง แต่ประสบการณ์ความชำนาญจะช่วยให้มันคลี่คลายกลายเป็นการสร้างขึ้นใหม่ หลุดพ้นจากการลอกเลียนแบบไปในที่สุด”

เคล็ดลับกระบวนท่านี้ ส่งผลทำให้การอ่านหนังสือของผม เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมก็อ่านหนังสือช้าลง อ่านละเอียดทุกตัวอักษร กระทั่งสามารถจับสังเกตวิธีการใช้ถ้อยคำ เทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งวิธีนำมาปรับใช้ ดูดกลืน ย่อยสลาย ให้กลายเป็นภาษาถ้อยคำในแบบฉบับลีลาของผมเอง

ผมก็จนด้วยเกล้าที่จะอธิบายรายละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรบ้างนะครับ มันค่อย ๆ เกิดขึ้นเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ มารู้ตัวอีกทีก็พบว่า ผมมีวิธีการอ่านหนังสือที่ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

ทั้งหมดนี้ ผมเขียนไปด้วยอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัวอยู่พอสมควร เกรงจะโดนมองว่า กำลังคุยโม้โอ้อวด

เจตนาแท้จริงมีแค่ว่า ผมรู้สึกว่าผมโชคดี เจอครูดี จึงอยากจะนำมาบอกเล่าเพื่อแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มา

ซือแป๋ของผม เคยมอบอีกคาถาหนึ่งให้ ว่าทำอย่างไรจึงจะเขียนหนังสือดี

ง่าย ๆ สั้น ๆ คือ “พูด คิด และเขียน ออกมาให้เป็นสำนวนภาษาหนึ่งเดียวกัน”

พ้นจากนี้ก็เป็นเรื่องของการตีความถอดรหัสของแต่ละท่าน ว่าจะขยายความคาถาดังกล่าวจนเกิดทัศนะความเข้าใจกันไปอย่างไร

สำหรับผมแล้ว พินิจพิจารณาไปเรื่อย ๆ ก็คลี่คลายสู่อีกคาถาหนึ่ง นั่นคือ “การใช้เวลาเพื่อฝึกคิด ลงมือเขียน และอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง” ให้เกิดเป็นสัดส่วนเหมาะเจาะสอดคล้องกลมกลืนกัน

เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนแผนสำหรับฝึกซ้อมของนักกีฬานะครับ เท่าที่ได้ทดลองปฏิบัติมาหลายปี ผมคิดว่า นี่เป็นสูตรที่ได้ผลเด็ดขาดนัก เวลาทำจนเคยชินเป็นปกติ เหมือนไม่มีผลบวกอันใดเลย แต่จะส่งผลกระทบเดือดร้อนขึ้นมาทันที เมื่อองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดย่อหย่อนหละหลวม

ความรู้เท่าที่ผมได้รับจากซือแป๋ เห็นจะมีเพียงเท่านี้ (จริง ๆ แล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีกพอสมควร ถ้าผมนึกออกเมื่อไหร่ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง)

หลังจากที่อาจารย์เสกสรรค์วิจารณ์การบ้านชิ้น “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้”ไปแล้ว ผมก็หยิบทั้งตัวงานและความเห็น มาทบทวนพิจารณาซ้ำ จนกระทั่งเห็นบาดแผลชัดขึ้น ตลอดจนช่องทางในการแก้ไข ผมจึงลงมือขัดเกลาอีกครั้ง (โดยเฉพาะตรงท่อนที่สามมีการเขียนเพิ่มเติมใจความขึ้นอีกเยอะมาก เพื่ออุดรอยรั่วรูโหว่ต่าง ๆ)

ถ้าจำไม่ผิด ผมน่าจะทดลองส่งงานชิ้นที่แก้ใหม่ ไปลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Cinemag จากนั้นจึงแก้อีกครั้ง เพื่อนำไปรวมเล่ม “จอมยุทธจับฉ่าย” (ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมเองก็ไม่มีเหลือเก็บไว้ติดตัว และเพิ่งไปได้มาสด ๆ ร้อน ๆ จากงานมหกรรมหนังสือ” ครั้งล่าสุด)

ระหว่างอ่านซ้ำ เพื่อจะเผยแพร่ในบล็อก ผมพยายามหักห้ามใจที่จะไม่แตะต้องแก้ไขงานชิ้นนี้อีก แต่แล้วก็อดรนทนไม่ไหว ต้องมีแอบตัด แอบเติมบ้างนิด ๆ

มันเล็งเห็นแผลนะครับ เห็นแล้วก็เลยต้องเอาซะหน่อย นี่เป็นนิสัยถาวรของผมที่แก้ยังไงก็ไม่หาย

ข้อเขียนทุกชิ้นของผม หยิบมาอ่านซ้ำทีไร ก็มักจะพบรอยตำหนิที่ต้องปรับแก้อยู่เป็นประจำ เนื่องจากมุมมองความเชื่อความเข้าใจต่อการเขียนหนังสือที่ดีของผมนั้น เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา และสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีวันจะพึงพอใจหรือมีบทสรุปข้อยุติที่สมบูรณ์เด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ผมมีกติกาส่วนตัวอยู่ข้อหนึ่ง ในการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ นั่นคือ จะระมัดระวังไม่ให้กระทบถึงความคิดที่ปรากฏอยู่ในตัวงาน ไม่เปลี่ยนจนกลายเป็น “คิดคนละเรื่อง” กลับขั้วจากเดิม และกระทำเพียงแค่ตัดทอนส่วนที่เยิ่นเย้อรกรุงรังไม่จำเป็นออกไป แก้ไขถ้อยคำให้กระชับรัดกุมขึ้น เพิ่มเติมเนื้อความเพื่อให้ทัศนะที่มีอยู่แล้วกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้น บางครั้งก็อาจสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อให้เนื้อหาเรียงลำดับราบรื่นกว่าเก่า ฯลฯ

ลืมบอกไปอีกอย่างว่า ผมถือเอาการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ เป็นหนทางหนึ่งในการฝึกเขียนหนังสือด้วยเหมือนกัน



(เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 และเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอตู่ (ที่ไม่มีตีนตบ) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์ได้ไหมครับ
งานเขียน สามชิ้นแรกในชีวิตของผม ก็มี อ.เสกสรรค์ ตรวจแนะนำให้เหมือนกัน

เรื่อง "ผู้อื่นในงานเรา" ผมก็ประสบปัญหานี้มากๆ
หลายครั้งเอางานเก่าๆ มาอ่าน ก็จะแอบยิ้มว่า ฮ่าๆ อันนี้ผี ปราบดา ว่ะ อ่อ อันนี้ผีวินทร์ (งานแรกๆ นี่ ผี ป.อินทรปาลิต)

narabondzai กล่าวว่า...

สวัสดีบุญชิต
ดีใจที่เจอศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน
ทุกวันนี้ผมก็ยังมี "ผู้อื่นในงานเรา" อยู่เรื่อย ๆ นอกจากจะสลัดไม่หลุดแล้ว ดูเหมือนว่า จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แฮะ