วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หญิงสาวกับคำสาป โดย "นรา"


ไม่มีใครล่วงรู้ชื่อจริงรวมถึงประวัติความเป็นมาเบื้องต้นของหญิงสาวคนนั้น เธอผู้ได้รับการเรียกขานว่า The Lady of Shalott


และนี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอ...


เท่าที่ทุกคนทราบ หญิงสาวพำนักอาศัยอยู่ในห้องเล็ก ๆ บนหอคอยที่ตั้งอยู่บนเกาะชื่อชาร์ล็อตต ์ ห้อมล้อมรายรอบด้วยสายน้ำ ใช้ชีวิตจำเจตามลำพังในบริเวณคับแคบ ไม่เคยและปราศจากโอกาสพบปะผู้คนใครอื่น ซ้ำร้ายยังต้องคำสาป ห้ามเหลือบแลโลกกว้างภายนอกผ่านบานหน้าต่างด้วยสายตาของเธอเอง


เมื่อใดก็ตามที่ฝ่าฝืน เธอจะต้องพบกับจุดจบบทลงเอยที่กำหนดไว้แล้วมั่นคงแน่ชัด นั่นคือ "ความตาย"


หนทางเดียวที่หญิงสาวจะมีโอกาสสดับรับรู้ถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของโลกภายนอก เธอต้องเฝ้ามองจับจ้องทุกสิ่งผ่านเงาฉายสะท้อนลงสู่กระจกบานใหญ่บนผนัง อีกทั้งคำสาปยังระบุบังคับให้เธอต้องถักทอถ่ายทอดทุกรายละเอียดที่พบเห็นลงบนผืนผ้า


คืนวันล่วงผ่านพ้นไปเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเวลาเนิ่นนาน


จวบจนวันหนึ่ง เงาสะท้อนบนกระจกก็ฉายภาพที่ชวนให้อกใจไหวหวั่น อัศวินหน่มรูปงามบนหลังม้าเหยาะย่างผ่านมา ด้วยท่วงท่าบุคลิกสูงสง่าและน่าหลงใหล


ชั่วขณะนั้นหญิงสาวทอผ้าเป็นรูปอัศวิน ยิ่งจับจ้องเงาในกระจกก็ยิ่งลุ่มหลงเหม่อลอย กระทั่งเผลอไผลลืมตัวมุ่งไปที่หน้าต่าง หมายจะสัมผัสกับภาพประทับใจดังกล่าวด้วยสายตาแท้ ๆ ของตนเอง แต่แล้วภาพที่เห็นเบื้องหน้าก็พลับวูบลับดับมลายหายไปหมดสิ้น พร้อม ๆ กับกระจกเงาแตกกระจาย


แล้วคำสาปก็กลายเป็นจริง...


หญิงสาวตระหนักและยินยอมน้อมรับต่อชะตากรรมของตนเอง เธอร่ำไห้ขณะป่ายปีนลงมาจากหอคอย มุ่งหน้าตรงไปยังริมแม่น้ำ พบเรือลำหนึ่ง จารึกชื่อ The Lady of Shalott ไว้ที่หัวเรือ ก้าวขึ้นไปนั่ง จากนั้นก็ปล่อยให้กระแสน้ำพัดพาล่องลอย


หลังจากร้องเพลงสั่งลาจบลงเธอก็สิ้นใจ ในเรือน้อยกลางสายน้ำ โอบล้อมด้วยแมกไม้หนาทึบ ขุนเขาไกลลิบ และแสงสุดท้ายอันอ่อนล้าโรยแรงขณะตะวันกำลังจะลับฟ้า...


โศกนาฎกรรมเกี่ยวกับ The Lady of Shalott เป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งจากบทกวีของเทนนีสัน ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 1832


ไม่เพียงแต่จะเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักอ่านเท่านั้น ทว่าความไพเราะในเชิงภาษา การเปรียบเปรยอันคมคาย บทพรรณโดดเด่นจนเห็นภาพพจน์เด่นชัด และเนื้อหาสวยเศร้าสะเทือนอารมณ์ ยังหนุนส่งให้บทกวีของเทนนีสัน (โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยเรื่องราวของ The Lady of Shalott) กลายเป็นต้นธารแรงบันดาลใจแก่ศิลปินอังกฤษหลายท่านในยุควิคตอเรียน ให้ถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ต้องคำสาปออกมาเป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบ


รูปเขียนเกี่ยวกับ The Lady of Shalott มีหลายภาพหลายคนวาด โดยต่างก็จับความถ่ายทอดช่วงตอนเหตุการณ์ต่างกันไป แต่ที่โด่งดังและได้รับการยกย่องสูงสุดคือ ผลงานของจอห์น วิลเลียม วอเตอร์เฮาส์ (1849-1917)


The Lady of Shalott ของวอเตอร์เฮาส์ เลือกหยิบจับเอาวาระสุดท้ายในชีวิตของหญิงสาว ขณะกำลังลอยเรือม่งหน้าไปพบเผชิญกับความตาย ภาพดังกล่าวโดดเด่นมากในการโน้มน้าวอารมณ์สะเทือนใจ ไม่ว่าจะโดยบรรยากาศสลัวเลือนยามเย็น สีหน้าแววตารวดร้าวเหม่อลอยตกอยู่ในภวังค์ของหญิงสาว ผมยาวสยายและชุดขาวที่เธอสวมใส่ตัดกับสีเขียวขรึมทึมของแมกไม้หนาทึบที่รายล้อม และประดับแต้มแซมแทรกด้วยแสงแดดอ่อนล้าขณะตะวันใกล้จะลับเหลี่ยมเขา ระบายสีหม่นจนชวนให้ผู้พบเห็นแทบหัวใจสลาย


ความประณีตพิถันพิถันในการถ่ายทอดรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาอย่างสมจริงของวอเตอร์เฮาส์ ทำให้มีบางคนเปรียบเปรยภาพวาดนี้ไว้ว่า ดูแล้วแทบจะได้กลิ่นใบไม้โชยเข้าจมูก ได้ยินเสียงนกร้องระลอกน้ำกระเพื่อมและลมพัด รวมทั้งสัมผัสได้ถึงความหนาวเย็นยะเยือก


ยิ่งไปกว่านั้น รูป The Lady of Shalott ยังได้รับการยกย่องในแง่ของกลวิธีสื่อความหมายผ่านสัญลักษณ์อย่างแพรวพราว ทุกรายละเอียดในภาพ ไม่มีส่วนใดเกินเลยโดยปราศจากหน้าที่ความจำเป็น ทุกส่วนล้วนแล้วแต่สำคัญและบอกเล่าเรื่องราวเปี่ยมความหมาย


มีคนตีความไว้ว่า ภาพหญิงสาวนั่งอยู่กลางลำเรือ มือข้างหนึ่งถือโซ่ที่กำลังคลี่คลาย สะท้อนถึงการปลีกหนีจากสภาพถูกจองจำกักขังในปราสาท และปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นเป็นอิสระจากคำสาป เทียนสามเล่มบริเวณหัวเรือซึ่งโดนลมพัดดับจนเหลือแค่หนึ่ง ได้ทั้งบรรยากาศหนาวเยือกสะท้านของยามเย็น และยังบ่งชี้ให้เห็นถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่กำลังใกล้จะล่วงลับดับสูญ เหมือนกับเปลวเทียนทอแสงริบหรี่กลางลมแรง รวมนกสองตัวทางมุมซ้าย เป็นภาพเปรียบอุปมาอุปไมยเหมือนการหลุดพ้นสู่โลกกว้างเป็นอิสระจากคำสาป ชุดสีขาวของหญิงสาวแฝงนัยยะเกี่ยวกับความเป็นสาวพรหมจรรย์ที่ครองความบริสุทธิ์มาตลอดชีวิต กอหญ้ารกเรื้อบริเวณมุมซ้ายด้านล่าง ตอกย้ำขับเน้นอารมณ์สับสนว้าวุ่นในใจของหญิงสาว ชื่อ The Lady of Shalott ที่บริเวณหัวเรือ จงใจสะกดเป็น Ladie ซึ่งชวนให้นึกโยงไปถึงความตาย


ความแยบยลชาญฉลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วอเตอร์เฮาส์ถ่ายทอดเหตุการณ์ความเป็นมาในช่วงก่อนหน้านั้นทั้งหมด เอาไว้ในผืนผ้าที่หญิงสาวรองนั่ง ซึ่งเป็นงานถักทอดตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เธอได้พบเห็น


ปัจจุบันรูป The Lady of Shalott ของจอห์น วิลเลียม วอเตอร์เฮาส์ จัดแสดงอยู่ที่ Tate Gallery ลอนดอน


บั้นปลายท้ายสุดของหญิงสาวผู้ต้องคำสาปคือความตาย แต่สำหรับภาพเขียน The Lady of Shalott ของวอเตอร์เฮาส์แล้ว บทสรุปของมันคือ "ความเป็นอมตะ"
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2545 ในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เป็นบทความที่จำใจต้องตัดออกในการรวมเล่ม "ข้าวมันเป็ด" ด้วยความเสียดายมาก เนื่องจากเหตุผลเรื่องภาพประกอบ กล่าวคือ ผมกับคุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล ผู้เป็นบ.ก. ตัดสินใจว่า จะไม่มีภาพประกอบ เพื่อให้หนังสือตั้งราคาขายให้ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บทความชิ้นนี้ก็เลยถูกยกออก เพราะหากปราศจากภาพประกอบ-ซึ่งควรจะเป็นหน้าสี-เสียแล้ว บทความชิ้นนี้จะจืดและไม่เป็นรสอย่างยิ่ง
ป.ล. เพิ่มเติม ภาพประกอบบทความชิ้นนี้ สามารถคลิกที่รูป เพื่อดูรายละเอียดจากขนาดภาพใหญ่ ได้นะครับ)

2 ความคิดเห็น:

Pop กล่าวว่า...

สาวเซ็กซี่ สาวsexy ภาพsexy รูปsexy ผู้หญิงsexy

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆนะคะ สำหรับเรื่องราวที่แสนสวยงาม มีคุณค่าเหลือเกิน The lady of Shalott